บทบาทหน้าที่ครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ความเป็นมาของโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
กรมการศาสนา
กระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มาตั้งแต่ปีงบประมาณ
๒๕๔๘-๒๕๕๐ โดยแรกเริ่มรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐บาท
เพื่ออุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายถวายพระสอนธรรมในโรงเรียนที่เข้าไปสอนในสถานศึกษา
ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และระดับอาชีวะศึกษาทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
ประมาณ ๖๐๐ รูป
ภายหลังต่อมาจากการที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ
และมีการประชุมร่วมกัน พบว่ากระทรวงศึกษาธิการมีความต้องการพระสอน ฯ
ไปสอนในโรงเรียนเฉพาะที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
(สพฐ.)ไม่น้อยกว่า ๕๘,๐๗๓ รูป โดยเฉพาะโรงเรียนวิถีพุทธ
ซึ่งมีอยู่จำนวนมากกว่า ๑๐,๐๐๐ แห่ง
ดังนั้น
กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม
จึงได้วิเคราะห์เหตุผลความจำเป็นและบริบทที่เกี่ยวข้องทุกด้าน
แล้วจึงได้มีแนวคิดว่าจะขยายพระสอนฯให้เข้าไปสอนโรงเรียน
เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของกระทรวงศึกษาธิการ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
คือ ๑ ตำบล ต่อ ๑พระสอนฯ โดยจะขยายเพิ่มขึ้นอีก ๔,๐๐๐ รูปเป็นการนำร่อง
จากนั้นได้เสนอของบประมาณกลางจากรัฐบาลเพื่ออุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายของพระสอน ฯ
จำนวน ๔,๐๐๐ รูป รูปละ ๒,๐๐๐
บาทต่อเดือน และเป็นค่าดำเนินการจัดทำหนังสือ อุปกรณ์เกี่ยวกับการเรียนการสอน
การติดตามประเมินผลโครงการเพื่อให้สาธารณชนทั่วประเทศเห็นความสำคัญของพระสงฆ์
โดยมุ่งเน้นประโยชน์ที่จะได้รับ คือ ผู้เรียนได้แก่ เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา
และมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนพระสอนฯให้มากขึ้นเป็น ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ รูป เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ตามเป้าหมาย
ในปีงบประมาณ
๒๕๕๑ กรมการศาสนาได้เปลี่ยนบทบาทการบริหารโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนที่ดำเนินการมาแต่เดิมไปสนับสนุนกิจกรรมคุณธรรมอื่นๆ
โดยได้โอนภาระงานพร้อมงบประมาณให้กระทรวงศึกษาธิการรับดำเนินการ
และได้มอบให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยรับโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
มาดำเนินการจัดเข้าในพันธกิจประเภทงานให้บริการวิชาการแก่ชุมชน
โดยได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๕ หน่วยงาน ดังนี้
๑.
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย
มีพระสงฆ์ที่มีความพร้อมและมีพระที่สอนอยู่ในสถานศึกษาต่าง ๆ อยู่แล้ว
๒.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
กระทรวงศึกษาธิการ
มีศึกษานิเทศก์และสถานศึกษา/โรงเรียนที่มีความต้องการพระสอนฯ
๓. กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม
มีวัฒนธรรมจังหวัดซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการ ฯ มาแต่เริ่มแรก๔.
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
มีผู้อำนวยการพระพุทธศาสนาจังหวัดเป็นผู้ส่งเสริมพระสอนฯ
ที่เข้าไปทำการสอนในโรงเรียน๕. ภาคคณะสงฆ์ทั้ง ๑๘ ภาค มีเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัดซึ่งปกครองดูแลพระสอน ฯ ทั่วประเทศ(โครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มจร. ,๒๕๕๖.(ออนไลน์))
กระบวนการบริหารจัดการโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
เมื่อได้รับมอบโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนพร้อมทั้งงบประมาณมาแล้ว
เพื่อให้การดำเนินงานโครงการพระสอนฯ
มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์อันพึงประสงค์คือนักเรียนได้รับการปลูกฝังในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมจากพระสอน
ฯ โดยตรง และคุ้มค่ากับงบประมาณที่ได้รับ จึงได้เตรียมแผนปฏิบัติการรองรับการดำเนินการโครงการ
ฯ อย่างเป็นระบบ และได้ดำเนินการประสานงานกับคณะสงฆ์ สถานศึกษา
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้มีการประชาสัมพันธ์โครงการ ฯ
และจัดอบรมถวายความรู้เพิ่มประสิทธิภาพพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนทั่วประเทศ
เพื่อสร้างศักยภาพในการทำงานให้เป็นที่ยอมรับของสถานศึกษา
และเพื่อปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมให้กับนักเรียนได้มีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องพร้อมกับมีความประพฤติที่ดีงาม
โดยได้จัดแผนการดำเนินการโครงการซึ่งมีกระบวนการบริหารโครงการดังนี้
๑. จัดประชุมคณะกรรมการโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
๒. จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ/อำนวยการโครงกาพระสอน
ฯ ทั่วประเทศ
๓. การปฐมนิเทศพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนทั่วประเทศ
๔.
การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเข้มข้นวิทยากรแกนนำโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
๕. การอบรมพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
๖. การจัดทำคู่มือ
หนังสือการจัดสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๔๔ และพัฒนาเว็บไซต์โครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
๗. การวิจัย
๘. การนิเทศ
การติดตามประเมินผล
๙. การจัดถวายค่าตอบแทน
๑๐. การรับสมัคร/การคัดเลือกพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนทั่วประเทศ(สำนักงานโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
มจร. ๒๕๕๖.(ออนไลน์))
บทบาท
ความหมายของบทบาท
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน(๒๕๒๖:๔๕๙)
ได้ให้ความหมายคำว่า “บทบาท” ไว้ว่า หมายถึง การทำตามหน้าที่ที่กำหนดไว้
ซึ่งก็มีผู้ให้ความหมายได้หลายความหมายด้วยกันดังนี้
พัทยา สายหู (๒๕๒๙:๕๖) ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า
“บทบาท” คือ
ขอบเขตอำนาจหน้าที่และสิทธิในการกระทำตามบทของแต่ละงานที่เรามีต่อผู้อื่นโดยสังคมเป็นตัวกำหนดไว้ด้วยวิธีการต่างๆ
ที่ไม่ใช่เฉพาะกฎหมายหรือข้อบังคับเท่านั้น
แต่อาศัยความต้องการและการยอมรับร่วมกันในหมู่ผู้เกี่ยวข้องเป็นสิ่งสำคัญ
ดังนั้นบทบาทอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลเวลาหรือผู้ร่วมปรารถนาของผู้ร่วมใช้บทบาท
งามพิศ สัตย์สงวน (๒๕๒๖:๑๕) ให้ความหมายของบทบาทไว้ว่า “บทบาท” คือ พฤติกรรมที่คาดหวังสำหรับผู้อยู่ในสถานภาพต่างๆ
ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร เป็นบทบาทที่คาดหวังโดยกลุ่มคนหรือสังคม
เพื่อทำให้คู่สัมพันธ์มีการกระทำระหว่างกันทางสังคมได้รวมทั้งสามารถคาดการณ์พฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นได้
สุพัตรา
สุภาพ (๒๕๓๔:๒) ได้ให้ความหมายของคำว่าบทบาทว่า คือ
การปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่ของสถานภาพบุคคล
อุทัย
หิรัญโต (๒๕๑๙:๑๒๐) ได้ให้ความหมายไว้ว่า
บทบาทเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือการแสดงออกของคนซึ่งคนอื่นคาดคิดหรือหวังว่าเขาจะทำ
ซึ่งบทบาทแต่ละคนอาจเป็นผลมาจากปัจจัยทางด้านจิตวิทยาอันได้แก่
ความคิดเห็นหรือทัศนคติส่วนบุคคลและปัจจัยทางสังคมได้แก่ ตำแหน่ง
หน้าที่และสถานภาพของบุคคล ที่ประกอบด้วยความคาดหวังต่างๆ จากสังคม
ดังนั้น สรุปได้ว่า
บทบาทตามความหมายของนักวิชาการ คือ สิทธิและหน้าที่ของบุคคลที่ถูกกำหนดหรือคาดหวังจากคนในสังคม
อาจเป็นไปในรูปแบบของกฎหมายค่านิยม ประเพณี เป็นต้น
ซึ่งตัวบทบาทจะเป็นตัวที่กำหนดหน้าที่ของบุคคลตามบทบาทที่ตนเองได้กำหนดไว้ เช่น
พระสงฆ์ก็มีหน้าที่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย และสั่งสอนพุทธศาสนิกชนให้ปฏิบัติตามธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นคนดีของสังคมไม่สร้างปัญหาให้กับสังคม
เป็นต้น
ประเภทของบทบาท
สงวนศรี วิรัชชัย(อ้างในพระมหาวิเชียร
ขันทองดี, ๒๕๔๗:๑๓) ได้สรุปประเภทของบทบาทไว้ ๕ ประการคือ
๑. บทบาทตามกำหนด
หมายถึง บทบาทที่สังคม กลุ่มหรือองค์กรกำหนดไว้ว่า เป็นรูปแบบพฤติกรรมประจำตำแหน่งต่างๆ
ที่มีอยู่ในสังคม กลุ่มหรือองค์กร
๒. บทบาทที่ผู้อื่นคาดหวัง
หมายถึง บทบาทหรือรูปแบบพฤติกรรมที่คนอื่นๆ คาดหวังว่าผู้อยู่ตำแหน่งจะถือปฏิบัติ
๓. บทบาทตามความคิดของผู้อยู่ในตำแหน่ง
หมายถึง
รูปแบบพฤติกรรมที่คนอยู่ในตำแหน่งคิดเชื่อว่าเป็นบทบาทในตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่
๔. บทบาทที่ปฏิบัติจริง หมายถึง
พฤติกรรมที่ผู้อยู่ในตำแหน่งได้ปฏิบัติหน้าที่แสดงออกมาให้เห็นซึ่งมักจะเป็นพฤติกรรมที่สอดคล้องกับบทบาทตามความคิดของเจ้าตัวผู้อยู่ในตำแหน่งแต่อาจมีกรณีที่บุคคลแสดงพฤติกรรมคาดหวังผู้อื่นทั้งๆ
ที่บทบาทนั้นไม่ตรงกับบทบาทตามความคิดของตน
๕. บทบาทที่ผู้อื่นรับรู้
หมายถึง
รูปแบบพฤติกรรมที่ผู้อื่นได้รับทราบเกี่ยวกับการปฏิบัติบทบาทของผู้อยู่ในตำแหน่งซึ่งโดยธรรมชาติการรับรู้ของคนเรามักจะมีการเลือกรับรู้
และมีการรับรู้ที่ผิดพลาดไปจากความเป็นจริงได้ด้วยอิทธิพลจากประสบการณ์หลายอย่าง
ดังนั้นเมื่อผู้อยู่ในตำแหน่งปฏิบัติบทบาทโดยแสดงพฤติกรรมอย่างหนึ่ง
ผู้ที่ได้พบเห็นอาจรับรู้พฤติกรรมหรือบทบาทนั้นในทางที่แตกต่างกันและอาจแตกต่างไปจากบทบาทตามความคิดของผู้อยู่ในตำแหน่งด้วย
โดยสรุปแล้ว บทบาทตามความเป็นจริงคือบทบาทที่ผู้ปฏิบัติได้กระทำจริงอาจตรงกับความคาดหวังหรือไม่ก็ได้และบทบาทตามความคาดหวัง
ซึ่งอาจเป็นบทบาทที่คนอื่นรับรู้หรือตามความคิดแต่อาจไม่สามารถปฏิบัติได้หรือไม่สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์
ทฤษฎีที่เกี่ยวกับบทบาท
ทฤษฎีบทบาท (Role Theory)
ทฤษฎีบทบาท (Role Theory) เป็นปรัชญาที่ได้กำหนดให้คนในสังคมล้วนมีตำแหน่งทั้งสิ้นดังนี้
ประพันธ์ อำพันประสิทธิ์ (๒๕๒๙) ได้กล่าวถึงทฤษฎีบทบาทไว้ว่า ทฤษฎีบทบาท
ได้กำหนดปรัชญาที่น่าสนใจไว้ว่า ชีวิตสังคมถูกสร้างขึ้นมา
และคนแต่ละคนในสังคมล้วนมีตำแหน่งทางสังคมทั้งสิ้น เช่น ในฐานะลูกน้อง คู่ครอง
พ่อแม่ หัวหน้าและลูกน้อง เป็นต้น
ในฐานะที่สังคมได้กำหนดบทบาทเพื่อปัจเจกชนแต่ละคนจะได้ปฏิบัติให้สอดคล้องกับโครงสร้างทางสังคมที่วางไว้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบที่เป็นบทบาทผู้กระทำ ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้โดยบทบาทที่เป็นตัวแบบ
ได้ชี้ถึงวิถีทางเพื่อกระทำบางสิ่งบางอย่างที่ถูกต้อง ซึ่งบิดเดิล (Biddle)
ได้กล่าวถึงทฤษฎีบทบาทว่ามีลักษณะสำคัญ ๕ ประเด็นดังนี้
๑. ทฤษฎีว่าด้วยบทบาทในการทำงาน (Functional Role Theory)
ทฤษฎีนี้มุ่งต่อบทบาทหรือพฤติกรรม อันเป็นลักษณะของบุคคลผู้ที่มีตำแหน่งทางสังคมภายในระบบสังคมที่มั่นคง
๒. ทฤษฎีบทบาทที่เป็นปฏิสัมพันธ์สัญลักษณ์ (Symbolic
Interaction Role Theory) ทฤษฎีนี้มุ่งไปที่บทบาทของผู้กระทำแต่ละคนวิวัฒนาการของบทบาทต่าง
ๆ โดยอาศัยปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและวิธีการที่ผู้กระทำทางสังคมเข้าใจ
โดยตีความหมายของพฤติกรรมเหล่านั้น
๓. ทฤษฎีบทบาทโครงสร้าง (Structural Role Theory) ทฤษฎีนี้มุ่งต่อโครงสร้างทางสังคมหรือตำแหน่งโครงสร้างทางสังคมที่ได้แบ่งพฤติกรรมที่กำหนดไว้เป็นแบบเดียวกัน
ซึ่งมุ่งต่อตำแหน่งทางสังคมอื่น ๆ ในโครงสร้าง
๔. ทฤษฎีบทบทบาทขององค์กร
(Organization Role Theory) ทฤษฎีนี้มุ่งต่อบทบาทต่าง
ๆที่มาด้วยกันกับตำแหน่งหน้าที่ทางสังคม
ที่ยึดถือเป็นอันเดียวในระบบสังคมที่วางไว้ก่อนเป็นระบบที่มุ่งงาน
และมีการจัดลำดับชั้นไว้เป็นอย่างดี
๕. ทฤษฎีว่าด้วยบทบาทของความรู้ความเข้าใจ
(Cognitive Role Theory) ทฤษฎีนี้มุ่งถึงความสัมพันธ์ระหว่างบทบาทที่คาดหวังกับพฤติกรรม
บทบาทพระสงฆ์
พระสงฆ์ถือว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน
ชีวิตของพุทธศาสนิกชนผูกพันกับพระสงฆ์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนิกชนในสังคมกับพระสงฆ์จึงไม่สามารถแยกจากกันได้
ทั้งนี้เพราะต่างต้องอาศัยซึ่งกันและกันตลอดเวลา ดังนั้นพระสงฆ์จึงมีบทบาทด้านต่าง
ๆ เพื่อเกื้อกูลต่อชุมชนดังนี้
บทบาทพระสงฆ์ด้านการศึกษา
ตั้งแต่อดีต วัดกับวังได้ร่วมมือกันให้การศึกษาแก่ประชาชนมาโดยตลอด
จนถึงการศึกษาแผน
ใหม่ในสมัยรัชการที่
๕ วัดและคณะสงฆ์ยังคงให้ความร่วมมือในการจัดการศึกษาของชาติอยู่ โดยเฉพาะในระดับมูลศึกษาและประถมศึกษา
ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ การศึกษาระบบวัด กับการศึกษาระบบใหม่ถึงแยกจากกันอย่างเด็ดขาด
หน้าที่ทางการศึกษาโดยตรงของพระสงฆ์ จึงจำกัดอยู่แต่ในวัดและประชาชนในวงแคบเท่านั้น
จากความสำคัญของวัดและพุทธศาสนาในอดีต
ทำให้เกิดประเพณีที่สำคัญที่พระพุทธศาสนาไปเกี่ยวข้องกับการศึกษามาจนถึงปัจจุบัน
(พระราชวรมุนี. ๒๕๒๙: ๒-๓)
๑. ประเพณีวัดเป็นศูนย์กลางการศึกษาเล่าเรียนของชุมชน
และพระสงฆ์เป็นครูผู้ทำหน้าที่อบรมสั่งสอน ชาวกรุงและชาวเมืองในปัจจุบันอาจมองไม่ค่อยเห็น
แต่สำหรับชาวบ้านในชนบทห่างไกลยังพอมองเห็น แม้ไม่เป็นศูนย์กลางเหมือนแต่ก่อน
ก็พอเป็นช่องทางหรือที่พึ่งแหล่งสุดท้าย
๒. ประเพณีบวชเรียน ซึ่งมีความหมายว่าบวชคู่กับเรียน
เมื่อบวชแล้วต้องเรียนหรือบวชก็เพื่อเรียน
ในปัจจุบันบทบาทของพระสงฆ์ในการศึกษา สามารถแบ่งได้ดังนี้(กฤษฎา นันทเพช.๒๕๔๐:
๑๒)
๑. ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์
๒. โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์
๓. ธรรมศึกษา
๔. ครูสอนศีลธรรมในโรงเรียน หรือพระธรรมวิทยากร
๕. การศึกษาพระปริยัติธรรม
๖. การจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์
บทบาทพระสงฆ์ด้านการเผยแผ่ธรรม
ในอดีตการเผยแผ่ธรรมของพระสงฆ์จำกัดอยู่เฉพาะในขอบเขตของวัดและชาวบ้านตามประเพณีและโอกาสอันสมควร
เช่น การเทศนาสั่งสอนชาวบ้านในวันพระหรือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
การเทศน์ในงานบุญพิธีหรืองานบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ เช่น งานทำบุญบ้าน งานศพ เป็นต้น
ในปัจจุบันที่การสื่อสารมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
พระสงฆ์สามารถดำเนินการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างกว้างขวาง
และเข้าถึงประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ได้มากขึ้น
ซึ่งบทบาทของพระสงฆ์ในการเผยแผ่ธรรมสามารถแบ่งได้ ๓ ประการใหญ่ ๆ คือ
๑.
พระธรรมจาริก พระสงฆ์ไทยที่เสียสละเวลาและสมัครใจเดินทางไปปฏิบัติงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชาวเขาในท้องที่จังหวัดต่าง
ๆ ที่มีชาวเขาอาศัยอยู่ ทำให้ชาวเขาแต่ละเผ่าหันมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
แสดงตนเป็นพุทธมามกะ และส่งบุตรหลานเข้าบรรพชาอุปสมบทเป็นจำนวนมาก
และได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ทั้งฝ่ายปริยัติธรรมและสามัญศึกษาและได้เดินทางเข้าไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามภูมิลำเนาเดิมอันเป็นเผ่าเดิมของตนต่อไป
๒.
พระธรรมทูต พระธรรมทูตคือพระภิกษุ
สามเณรที่มีความรู้ในทางพระพุทธศาสนาพอสมควรที่จะดำเนินการเผยแผ่ได้
แล้วเสียสละไปพบกับประชาชนในถิ่นต่าง ๆ เพื่อหาทางโน้มน้าวประชาชนให้เกิดความสนใจเลื่อมใสในคุณค่าแห่งศีลธรรมและพระพุทธศาสนา
๓. การเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยทั่วไป
๓.๑
การเทศน์ หรือการบรรยายธรรมในโอกาสต่าง ๆ เช่น ในวันธรรมสวนะ (วันพระ) งานศพ
วันอาทิตย์ หรือตามที่ได้รับนิมนต์ไปในสถานที่ต่าง ๆ เนื่องในวันสำคัญต่าง ๆ
๓.๒
การเผยแผ่โดยผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ เป็นต้น
๓.๓
อื่น ๆ หมายถึง การเผยแผ่ที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านอื่น ๆ เช่น
พัฒนาหรือสงเคราะห์ด้านวัตถุ แล้วโน้มให้หันเข้าธรรมะ
บทบาทพระสงฆ์ด้านสังคมสงเคราะห์
สุทธิพงษ์
ตันตยาพิศาลสุทธิ์ (อ้างถึง วินัย เก่งสุวรรณ. ๒๕๔๑: ๒๒) ได้กล่าวว่าหน้าที่ทางสังคมสงเคราะห์ของพระสงฆ์เกิดจากองค์ประกอบ ๓ ประการ
คือ
๑. การดำเนินชีวิตของพระสงฆ์ต้องเกี่ยวข้องกับคฤหัสถ์ในเรื่องปัจจัย
๔
๒. สภาวะและเหตุการณ์ในสังคมเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
๓. คุณธรรม
เมตตาธรรม กรุณาธรรมของพระสงฆ์ที่ต้องการช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์
ในขณะเดียวกันได้กล่าวถึงบทบาทของพระสงฆ์ทางสังคมสงเคราะห์ที่ทำได้ดีที่สุด
คือ บทบาททางด้านการศึกษา การสาธารณสุข การพัฒนาจิตใจประชาชน การสงเคราะห์ทางจิต
และการพัฒนาท้องถิ่น
๑. บทบาทด้านการศึกษา
วัดให้สถานที่เป็นโรงเรียนและอาคารเรียน พระเป็นผู้สอนและอบรมเยาวชนให้รู้หนังสือ
ให้เป็นผู้มีศีลธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม
อนุเคราะห์การจัดตั้งโรงเรียนสอนเด็กก่อนวัยเรียน
ชักชวนชาวบ้านให้สนับสนุนด้วยทุนการศึกษาและอุปกรณ์การเรียน
๒. บทบาทด้านการสาธารณสุข
พระสงฆ์ทั้งในอดีตและปัจจุบันให้การรักษาพยาบาลแก่ชาวบ้านในทุกระดับความเจ็บป่วย
โรคบางชนิดหายด้วยแรงศรัทธาที่ผู้ป่วยมีต่อพระสงฆ์
๓. บทบาทด้านการพัฒนาจิตใจของประชาชน
พระสงฆ์ให้ธรรมทานแก่ประชาชน จิตใจที่พัฒนาแล้วจะไม่วุ่นวาย
จะเข้าใจในความหมายของคำว่า “ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม”นอกจากนี้การสอนปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานก็สามารถช่วยให้เกิดความสุขสงบทางจิตใจได้มาก
๔. บทบาทด้านการสงเคราะห์ทางจิต
ด้านนี้พระสงฆ์มีบทบาทในด้านการช่วยบรรเทาปัญหาและมีส่วนช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตของประชาชนได้มาก
งานสังคมสงเคราะห์ที่พระสงฆ์จะทำได้โดยตรง คือ งานสังคมสงเคราะห์ทางจิตใจเป็นหลัก
๕. บทบาทด้านการพัฒนาท้องถิ่น
ในชนบทพระสงฆ์มีบทบาทมากในฐานะผู้นำด้านการเสนอความคิดริเริ่ม
และระดมความร่วมมือของชาวบ้านในการพัฒนาต่าง ๆ
บทบาทพระสงฆ์ด้านการพัฒนาจิตใจ
หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาชี้ชัดว่า
ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จได้เพราะใจ
เพราะฉะนั้นจึงต้องพัฒนาจิตใจที่ฝึกดีแล้วจะทำให้มีการพัฒนาภายนอกด้วย การพัฒนาจิตใจตามทัศนะของพระพุทธศาสนาเรียกว่า
ภาวนา หรือ กรรมฐาน มี ๒ ประการคือ สมถภาวนา คือ ทำจิตใจให้สงบ และวิปัสสนาภาวนา
คือ ทำให้เกิดการรู้แจ้งเห็นจริง
บทบาทพระสงฆ์ด้านสืบสานวัฒนธรรม
วัฒนธรรม คือ
วิถีชีวิตที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิต
และถ่ายทอดกันมาจากบรรพชน สู่อนุชนรุ่นหลัง วัฒนธรรมแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท ดังนี้
(สมคิด โชติกวณิชย์. ๒๕๓๙: ๑๖๘-๑๗๐)
๑.
ศิลปวัฒนธรรมที่เป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ เช่น ปราสาท ราชวัง วัดป้อม
ค่าย กำแพง และลักษณะที่เห็นรูปทรงไม่ชัดเจน เช่น คูน้ำ คันดิน ถนนโบราณ
เนินดินที่ปกคลุมเจดีย์ โบสถ์ วิหาร เป็นต้น
๒.
ศิลปวัฒนธรรมประเภทงานจิตรกรรม ส่วนใหญ่จะมีอยู่ในวัด
๓.
ศิลปวัฒนธรรมประเภทงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน
๔.
ศิลปวัฒนธรรมที่เป็นนามธรรม เช่น ความคิด อุดมการณ์ ประเพณี
ความเชื่อขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ
บทบาทพระสงฆ์ด้านส่งเสริมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ด้วยหลักธรรมในพระพุทธศาสนา
ว่าด้วยเรื่องธรรมชาติ กฎของธรรมชาติการปฏิบัติตามกฎระเบียบของธรรมชาติ และผลที่ได้จากการปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ
มนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
เพราะฉะนั้นจึงปรากฏหลักธรรมมากมายที่แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการอนุรักษ์ธรรมชาติ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมชาติแวดล้อมที่มนุษย์ต้องอาศัยในการดำรงชีวิต
บทบาทที่พึงประสงค์ของพระสงฆ์
จากการเสวนาเรื่องบทบาทที่พึงประสงค์ของวัดและพระสงฆ์กับการพัฒนาสังคมไทย
ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๓ พบว่า บทบาทที่พึงประสงค์ของพระสงฆ์บางประการดังนี้
(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ กลุ่มงานศาสนา.๒๕๔๓: Online)
๑. พระสงฆ์ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านศีลธรรม จรรยา เพื่อปลูกศรัทธาให้เกิดขึ้นกับประชาชนในท้องถิ่น
๒. พระสงฆ์ควรพัฒนาตนให้รอบรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมเพื่อรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม
อันจะส่งผลต่อศักยภาพในการอบรมพัฒนาจิต การเผยแผ่ศาสนธรรมแก่พุทธศาสนิกชน
๓. พระสงฆ์ควรเป็นผู้ให้คำสอนและหลักศาสนธรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม
โดยตรงคือ เป็นผู้ให้การฝึกอบรมแก่พุทธศาสนิกชน และโดยทางอ้อม คือ การครองตนตามหลักธรรมวินัย
ซึ่งจะก่อศรัทธาแก่คนทั่วไป และการให้การอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการอบรมพัฒนาจิตและหลักปริยัติทางศาสนาแก่คณาจารย์และวิทยากรผู้ให้การอบรมแก่เยาวชนอีกส่วนหนึ่ง
๔. พระสงฆ์ควรมีบทบาทเชิงรุกในการสั่งสอนเยาวชน
ด้านศีลธรรม เช่น เป็นวิทยากรอบรมในสถานศึกษา หรือจัดโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ นำพุทธศาสนิกชนและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอบรมศาสนธรรม
ซึ่งอาจทำโดยวัด กลุ่มบุคคลโดยมีวัดเป็นแกนนำ กลุ่มพระสงฆ์และสื่อมวลชน เป็นต้น
บทบาทของครูสอนศีลธรรม
คณะกรรมการจัดการทำสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนาได้ระบุถึงบทบาทของครูสอนศีลธรรมไว้โดยสรุปว่า
คณะกรรมการจัดการทำสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนาได้ระบุถึงบทบาทของครูสอนศีลธรรมไว้โดยสรุปว่า
ครูควรมีการสำรวจประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียนว่าผู้เรียนแต่ละคน
จะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้มากน้อยแค่ไหน อย่างไรต้องให้โอกาสกับผู้เรียนได้ใช้กระบวนการ
สืบเสาะแสวงหาความรู้ที่ตนค้นพบด้วยตนเอง
๑. ครูควรใช้การบูรณาการ ซึ่งเป็นการนำกระบวนการที่ต่อเนื่องจาก
ขั้นตอนการสำรวจประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียน อันรวมไปถึงสถานการณ์เงื่อนไขการเรียนรู้
สิ่งแวดล้อมจะทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง เป็นการบูรณาการความรู้ใหม่กับความรู้เก่า
๒. ครูจะต้องมีวิธีการถ่ายโยงความรู้เป็นขั้นที่ผู้เรียนสามารถแสดง
พฤติกรรมทั้งด้านความรู้ ความคิด ทักษะ เจตคติและค่านิยมเพื่อการประยุกติใช้ในการแสวงหา
ความรู้อย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาจากผลการเรียนรู้ที่กำหนดไว้นั้นผู้เรียนมีโอกาสได้ปฏิบัติจริง
๓. ครูควรจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการความสนใจและ
ความถนัดของผู้เรียนแต่ละคน โดยมีความเชื่อว่าผู้เรียนทุกคน สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้
สูงสุดตามศักยภาพ
๔. ครูต้องเป็นผู้เอื้ออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้
เมื่อผู้เรียนผ่าน กระบวนการเรียนรู้แล้วผู้เรียนควรจะต้องปรับพฤติกรรมจากความไม่รู้
เป็นผู้รู้และรู้จริงจากทำ ไม่ได้ทำไม่เป็นเปลี่ยนมาเป็น ทำได้ ทำเป็น จากไม่ชอบเปลี่ยนมาเป็นชอบ
๕. ครูต้องยึดหลักการที่ว่า
การจัดการเรียนรู้ที่ดีจะต้องมีกิจกรรมที่ สามารถพัฒนาศักยภาพทุกด้านคือ ร่างกาย สติปัญญา
อารมณ์และสังคม ครูต้องมองผู้เรียนว่ามีภูมิ ธรรมอยู่ในระดับหนึ่ง
๖. ครูต้องทบทวนบทบาทของตนเองใหม่ว่าตนคือผู้ให้องค์คุณของ
กัลยาณมิตร ๖ ประการ
๑) วางตนในฐานะผู้ที่ศิษย์ไว้วางใจ
๒) วางตนให้น่าเคารพ
๓) วางตนในฐานะผู้ทรงความรู้
๔) วางตนในฐานะที่ปรึกษาที่ดี
๕) วางตนในฐานะผู้ฟังทีดี ฟังทั้งคำพูดและความรู้สึกของศิษย์วาง
ตนในฐานเป็นผู้ทรงปัญญาสามารถอธิบายอย่างลึกซั้งให้ศิษย์กระจ่างได้
๖) วางตนในฐานะเป็นแบบอย่างที่ดีเป็นแบบในการประพฤติ
ปฏิบัติ
๗. ครูต้องรู้จักเด็กเป็นรายกลุ่ม รายบุคคลและมองว่าว่าผู้เรียนทุกคนมี
โอกาสที่จะเป็นอัจฉริยะย่างน้อย ๘ ด้าน คือ ด้านเหตุผล ภาษา ศิลปะ กายสัมผัส ดนตรี
มนุษย์ สัมพันธ์ การเข้าใจตนเองหรือเข้าใจชีวิตเข้าใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกว่าอัจฉริยภาพ
ในเชิงพหุปัญญา
๘. ครูต้องพร้อมให้ความรัก
และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แก่ลูกศิษย์ ครูจึงต้องเปลี่ยนหน้าที่จากผู้สอนเป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้
ให้เอื้อต่อการพัฒนาไปสู่อัจฉริยภาพ ทั้ง ๘ ด้านของเด็กแต่ละคน
๙. การจัดการเรียนการสอนหรือการจัดการเรียนรู้ครูต้องเน้นและให้
ความสำคัญกับผู้เรียนควยคู่ไปกับธรรมชาติของวิชา ครูจะต้องรู้ใจนักเรียน ให้นักเรียนรู้ทั้งหลักการ
วิธีการเรียนรู้ และคุณธรรมที่จะเกิดตามธรรมชาติของวิชา
๑๐. ครูควรจัดประสบการณ์และกิจกรรมที่ใช้คุณธรรมนำความรู้บูรณาการ
คุณธรรมในการจัดประสบการณ์ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้และทุกขั้นตอนในการจัดการเรียนรู้
โดยสรุปแล้ว
ครูมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้ออกแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อเอื้ออำนวย ความสะดวกให้ผู้เรียนเป็นผู้แสวงหาความรู้และพัฒนาตนเองในบรรยากาศและสถานการณ์ที่ครูจัดให้
ผู้เรียนได้คิดเอง ปฏิบัติเอง และนำไปสู่การสร้างความรู้ด้วยตนเองอย่างพึงพอใจ การรู้จักผู้เรียนเป็น
รายบุคคลหรือรายกลุ่มจะช่วยให้ครูมีข้อมูลที่สำคัญในการออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนที่
เหมาะสม สนองตอบความต้องการ ความถนัด ความสนใจและวิธีการหรือลีลาการเรียนรู้ของผู้เรียน แต่ละคนและบทบาทสำคัญยิ่ง
คือ ครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในทุกด้าน(พระมหาปัญญา จอมนาสวน. ๒๕๔๙.)
บทบาทของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
๑.
เป็นผู้สอนวิชาศีลธรรมในโรงเรียน โดยมีคาบสอนอย่างน้อย ๒ คาบต่อสัปดาห์แต่ไม่เกิน ๕/คาบต่อสัปดาห์
๒.
เป็นผู้สอนหลักสูตรธรรมศึกษาชั้นตรี โท เอก เพื่อปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม
ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ในหลักธรรม
๓.
เป็นผู้สอนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับหลักธรรมทางศาสนาเพื่อปลูกฟังคุณธรรมจริยธรรมส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ในหลักธรรม
๔. เป็นผู้จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรเพื่อปลูกฝังคุณธรรมตามหลักธรรมทางศาสนาเพื่อปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
๕.
เป็นผู้จัดกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา และเป็นผู้นำนักเรียน ครู
ผู้ปกครองเข้าร่วมกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา
๖.
เป็นครูผู้สอนประจำโครงการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์
๗.
เป็นผู้อบรมและเป็นกรรมการคุมสอบหลักสูตรธรรมศึกษาในเรือนจำและสถานพินิจฯ
๘. เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือสงเคราะห์และบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์แก่โรงเรียนและชุมชน
ระเบียบปฏิบัติหรือหน้าที่ของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
๑.
พระสอนศีลธรรมที่เข้าสอนในสถานศึกษาตามโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนในส่วนศูนย์อำนวยการวิทยาเขต/วิทยาลัยสงฆ์/หน่วยวิทยบริหาร
ต้องได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนประจำศูนย์อำนวยการในที่นั้นๆ
๒.
พระสอนศีลธรรมต้องสอนให้ตรงตามหลักพระไตรปิฎก
๓.
พระสอนศีลธรรมต้องมีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย
๔.
พระสอนศีลธรรมต้องนุ่งห่มให้เรียบร้อยเป็นปริมณฑล ทั้งในเวลาเดินทางไปสอน
ในขณะสอนและในเวลาเดินทางกลับวัด
๕.
พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ห้ามนำซองผ้าป่า กฐิน หรือบอกบุญเรี่ยไรในโรงเรียน
๖.
พระสอนศีลธรรมไม่ควรคลุกคลีหรือสนิทสนมกับคณะผู้บริหาร ครู
อาจารย์ในโรงเรียนนั้นๆมากเกินไป จนทำให้ทุกฝ่ายสูญเสียความเป็นกลาง
๗.
พระสอนศีลธรรมต้องไม่ก้าวก่ายงานของคณะครูอาจารย์ หรือผู้บริหารของโรงเรียนนั้นๆ
๘.
พระสอนศีลธรรม ต้องไม่นำวิชาโหราศาสตร์ หรือ ไสยศาสตร์ไปชี้นำหรือขยายผลอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการมอมเมาเยาวชน
และประชาชน
๙.
พระสอนศีลธรรมต้องไม่ชี้นำให้นักเรียนไปเที่ยวหรือเยี่ยมเยือนที่วัดตามลำพังหรือเป็นการเฉพาะยกเว้นแต่เป็นการทำกิจกรรมกลุ่ม
เป็นคณะ หรือไปทั้งห้องเรียน
๑๐.
ในการเข้าห้องเรียนให้หัวหน้าบอกทำความเคารพ ดังนี้
๑๐.๑
ถ้าอยู่ในห้องเรียนให้หัวหน้าบอกทำความเคารพ
โดยดูความเหมาะสมและระเบียบที่โรงเรียนนั้นๆปฏิบัติอยู่ก่อนแล้ว
๑๐.๒ ถ้าอยู่ในห้องจริยะให้นักเรียนกราบเบญจางคประดิษฐ์
๓ ครั้ง ทั้งตอนเข้าเรียนและเลิกเรียน(โครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มจร. ,๒๕๕๖.(ออนไลน์))
โครงสร้างการบริหาร
โครงสร้างการบริหารโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี วัดพัฒนาราม
คณะกรรมการอำนวยการ
โครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
(ส่วนกลาง)
|
คณะกรรมการอำนวยการ
โครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
(ส่วนวิทยาเขตนครศรีธรรมราช)
|
คณะกรรมการอำนวยการ
โครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
(ส่วนห้องเรียนสุราษฎร์ธานี)
|
คณะกรรมการศูนย์ประสานงาน
พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
จังหวัดสุราษฎร์ธานี
|
คณะกรรมการศูนย์ประสานงาน
พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
จังหวัดชุมพร
|
บทบาทหน้าที่ของผู้สนับสนุนพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
เพื่อให้การดำเนินงานโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนบรรลุผลตามวัตถุประสงค์จึงกำหนดบทบาทผู้สนับสนุนพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนดังนี้
๑. เจ้าคณะจังหวัด
๑.๑
เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการส่งเสริมการปฏิบัติงานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนประจำจังหวัดฝ่ายสงฆ์
๑.๒ เป็นที่ปรึกษาส่งเสริมสนับสนุนพระให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๑.๓
เป็นประธานกรรมการในการรับสมัครและคัดเลือกพระสอนศีลธรรม
๑.๔
ประกาศผลการคัดเลือกพระสอนศีลธรรม
๑.๕
แต่งตั้งพระปฏิบัติหน้าที่สอนในโรงเรียน
๑.๖
ติดตามการปฏิบัติหน้าที่การสอนพระสอนศีลธรรม
เมื่อพระสอนศีลธรรมไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่การสอนได้ ให้พิจารณารับสมัคร
และคัดเลือกพระปฏิบัติหน้าที่การสอนแทน ให้เป็นไปตามจำนวนที่กำหนด
๑.๗
รับรายงานผลการดำเนินงาน การประเมินโครงการ
และร่วมแก้ไขปัญหาของพระสอนศีลธรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
๒.
ผู้ว่าราชการจังหวัด
๒.๑
เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการส่งเสริมการปฏิบัติงานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนประจำจังหวัดฝ่ายฆราวาส
๒.๒
เป็นที่ปรึกษา
ส่งเสริมสนับสนุนให้โครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
๒.๓ รับรายงานผลการดำเนินงาน การประเมินโครงการ
และให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ การดำเนินงานตามโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
ให้พระปฏิบัติหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ
๓.
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี วัดพัฒนาราม
๓.๑
เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยในการประสานงานโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
และจังหวัดชุมพร
๓.๒
เสนอมหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ส่วนห้องเรียนสุราษฎร์ธานี
วัดพัฒนาราม
๓.๓
จัดอำนวยความสะดวก สนับสนุน แก้ปัญหา
ประเมินผลโครงการเพื่อให้พระปฏิบัติหน้าที่การสอนอย่างมีประสิทธิภาพ
๓.๔ แต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์ประสานงานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนประจำจังหวัดทั้ง
๒ จังหวัด
๓.๕ สำรวจข้อมูลพระสอนศีลธรรม
คัดเลือกและแต่งตั้งพระตามจำนวนที่กำหนดในแต่ละจังหวัด
๓.๖
จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนการสอนของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
๓.๗
จัดทำทะเบียนประวัติพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
๓.๘ จัดทำบัตรประจำตัวพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
๓.๙
จัดทำเกียรติบัตร การผ่านการอบรมของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
๓.๑๐
จัดทำประกาศผลการคัดเลือก
๓.๑๑
จัดทำคำสั่งแต่งตั้งพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนเสนอต่อเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด
เจ้าคณะอำเภอ (แล้วแต่กรณี)
๓.๑๒ จัดประชุมเตรียมความพร้อมของเพื่อการปฏิบัติงานในสถานศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพของพระร่วมกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา
ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารโรงเรียน ครูพี่เลี้ยงในจังหวัด
๓.๑๓
ดำเนินการเบิก-จ่ายเงินอุดหนุนเป็นค่าตอบแทนพระสอนศีลธรรมในแต่ละเดือน
๓.๑๔ ของบประมาณอุดหนุนพระ วางแผนการใช้งบประมาณ
และจัดสรรงบประมาณตามโครงการพระสอนศีลธรรม
๓.๑๕
ประสานงานและสนับสนุนทุกส่วนราชการในระดับท้องถิ่น
เพื่อให้การดำเนินงานตามโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
๓.๑๖ สนับสนุน
อำนวยความสะดวกแก่พระสอนศีลธรรมในการปฏิบัติหน้าที่การสอนในโรงเรียนตามความเหมาะสม
๓.๑๗
ประเมินโครงการพระสอนศีลธรรมก่อน
ระหว่างและสิ้นสุดโครงการและรายงานผลการประเมินโครงการ
๓.๑๘
จัดทำรายงานผลการประเมินโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนในภาพรวมของจังหวัดและเขต
ทั้งก่อนดำเนินโครงการ ระหว่างดำเนินโครงการ และหลังสิ้นสุดโครงการ จำนวน ๑ เล่ม
นำเสนอต่อมหาวิทยาลัยและส่วนงานที่เกี่ยวข้อง
๓.๑๙ อื่นๆ
ตามที่ได้รับมอบหมาย
๔.
สำนักงานพุทธศาสนา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดชุมพร
๔.๑
เป็นที่ปรึกษาแก่พระสอนศีลธรรมในดำเนินการจัดการเรียนการสอน และการนำหลักธรรม
สาระการเรียนรู้สู่การปฏิบัติจริงในวิถีชีวิตของนักเรียน
๔.๒
ส่งเสริมสนับสนุน
อำนวยความสะดวกแก่พระสอนศีลธรรมในการปฏิบัติหน้าที่การสอนในโรงเรียนตามความเหมาะสม
๕.
ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา
๕.๑
ร่วมกับคณะกรรมการในการคัดเลือกพระสอนศีลธรรมและคัดเลือกสถานศึกษา
๕.๒
แจ้งสถานศึกษาให้เตรียมความพร้อมและสนับสนุนในการรับพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนทั้งด้านครูพี่เลี้ยงและอื่นๆ
ตามเห็นสมควร
๕.๓
มอบหมายภารกิจให้ศึกษานิเทศก์เขตพื้นที่การศึกษาร่วมกับผู้รับผิดชอบในสังกัดสำนักงานพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่
ลำพูน แม่ฮ่องสอน นิเทศการจัดการเรียนการสอนของพระสอนศีลธรรม
และร่วมแก้ไขปัญหาตลอดจนพัฒนาศักยภาพพระสอนศีลธรรม
๖.
ศึกษานิเทศก์เขตพื้นที่การศึกษา
๖.๑
ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
สำนักงานพุทธศาสนาจังหวัดและคณะสงฆ์
วางแผนการนิเทศการเรียนการสอนของพระสอนศีลธรรมในสถานศึกษา
๖.๒
นิเทศการเรียนการสอนพระสอนศีลธรรม ภาคการเรียนละ ๒ ครั้ง
๖.๓
ร่วมประชุมพระสอนศีลธรรมเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอนของพระสอนศีลธรรม
ภาคเรียนละ ๒ ครั้ง
๖.๔
ร่วมรายงานผลการนิเทศให้คณะกรรมการอำนวยการส่งเสริมโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
ส่วนห้องเรียนสุราษฎร์ธานี และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ภาคเรียนละ ๑
ครั้ง
๖.๕
ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและสำนักงานพุทธศาสนาจังหวัด
ในการจัดประชุมสัมมนาเพื่อพัฒนาศักยภาพแก่พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
๖.๖ จัดทำรายงานผลการนิเทศเสนอต่อผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา
คณะกรรมการอำนวยการโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ส่วนวิทยาเขต และคณะสงฆ์
เมื่อสิ้นภาคเรียน
๖.๗ ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและสำนักงานพุทธศาสนาจังหวัด
ประเมินผลการจัดการเรียนการสอนของพระสอนศีลธรรม และเสนอแนะการดำเนินงานตามโครงการ
๗.
สถานศึกษาที่รับพระสอนศีลธรรม
๗.๑
อำนวยการความสะดวกแก่พระสอนศีลธรรมตามความเหมาะสม
๗.๒
จัดคาบการสอนให้พระสอนศีลธรรมตามความเหมาะสม
๗.๓
ปฐมนิเทศพระสอนศีลธรรมในเรื่องคาบการสอน การปฏิบัติการสอน
ธุรการการสอนตลอดจนบทบาทพระสอนศีลธรรมในสถานศึกษา
๗.๔
จัดครูพี่เลี้ยงเพื่อช่วยเหลือพระสอนศีลธรรม ทั้งในด้านธุรการการสอน
การปกครองชั้นเรียน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
และประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง
๗.๕
หากมีความเป็นไปได้ให้จัดห้องจริยธรรมให้พระสอนศีลธรรมได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้
๗.๖
อำนวยความสะดวกแก่ศึกษานิเทศก์เขตการศึกษา ในการนิเทศพระในสถานศึกษา
๗.๗
ร่วมกับศึกษานิเทศก์ ประเมินผลการจัดการเรียนการสอนของพระสอนศีลธรรม
และเสนอแนะการดำเนินงานตามโครงการ
๗.๘
เมื่อพบปัญหาให้ดำเนินการแก้ไขปัญหา
และหรือรายงานให้เขตพื้นที่การศึกษาทราบเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา
๘.
ครูพี่เลี้ยงในสถานศึกษา
๘.๑
ร่วมกับพระสอนศีลธรรมในการวางแผนจัดกิจกรรมการเรียนรู้
๘.๒
เป็นพี่เลี้ยงแก่พระสอนศีลธรรม
เพื่อให้การนำหลักธรรมตามหลักพระพุทธศาสนาสู่วิถีชีวิตของนักเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตามนโยบายของรัฐบาล
๘.๓
เป็นที่ปรึกษาและช่วยเหลือพระในด้านธุรการการสอน การปกครองชั้นเรียน
การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และการประเมินผลการเรียนตามสภาพจริง
๘.๔
ร่วมกับศึกษานิเทศก์ ประเมินผลการจัดการเรียนการสอนของพระสอนศีลธรรม
และเสนอแนะการดำเนินงานตามโครงการ
๘.๕ เมื่อพบปัญหาให้ดำเนินการแก้ไขปัญหา และหรือรายงานผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อร่วมแก้ไขปัญหา
การนิเทศและการพัฒนาศักยภาพด้านการสอนของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
๑. การนิเทศการสอนของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
สถานศึกษาร่วมกับศึกษานิเทศก์เขตพื้นที่การศึกษา พระสงฆ์ในพื้นที่
และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี วัดพัฒนาราม ร่วมกันวางแผนการนิเทศ โดย
๑.๑
นิเทศการสอน
-
ศึกษานิเทศก์และพระสงฆ์ในเขตพื้นที่ นิเทศการสอนในสถานศึกษา
ภาคการเรียนละ ๒ ครั้ง
- ครูพี่เลี้ยง/ผู้บริหารสถานศึกษา
นิเทศการสอนในสถานศึกษา ภาคเรียนละ ๒ ครั้ง
- นิเทศการสอนโดยการจัดประชุมพระสอนศีลธรรม
ภาคเรียนละ ๒ ครั้ง
- พระสอนศีลธรรม
จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงาน เดือนละ ๑ ครั้ง
๑.๒
ประชุมระหว่างผู้นิเทศและครูผู้สอนเพื่อปรับปรุง
และพัฒนาการจัดการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียน ภาคเรียนละ ๒
ครั้ง หรือตามความเหมาะสม
๑.๓
ศึกษานิเทศก์รายงานผลการนิเทศให้คณะกรรมการศูนย์ประสานงานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนจังหวัดนั้นๆ
ภาคเรียนละ ๑ ครั้ง
๑.๔ คณะกรรมการศูนย์ประสานงานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนแต่ละจังหวัด
ประชุมเพื่อพิจารณาช่วยเหลือ สนับสนุน และหรือแก้ปัญหา แล้วรายงานผลให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี วัดพัฒนาราม ภาคเรียนละ ๑ ครั้ง
๑.๕ จัดทำรายงานผลการนิเทศเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี วัดพัฒนาราม
เมื่อสิ้นภาคการเรียน
๒.
การพัฒนาศักยภาพด้านการสอนของพระ
คณะกรรมการอำนวยการโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
ส่วนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราช ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี วัดพัฒนาราม
ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่
จัดประชุมสัมมนาเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนแก่พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
การประเมินโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
การประเมินผลโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน แบ่งเป็น ๓ ระยะ
ระยะที่ ๑
การประเมินก่อนการดำเนินโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบความพร้อม การดำเนินงาน
และจัดเตรียมการดำเนินงาน
โดยการศึกษารายงานผลการดำเนินงานเดิมสำรวจข้อมูลจากพระและสถานศึกษา
ระยะที่ ๒ การประเมินระหว่างการดำเนินโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุง
แก้ไขและพัฒนาการดำเนินงาน โดย
(๑) ศึกษานิเทศก์เขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา
ประเมินผลการดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ เมื่อพบปัญหาให้หาทางแก้ไขปัญหา และ/
หรือรายงานต่อคณะกรรมการศูนย์ประสานงานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนจังหวัดนั้นๆ
เพื่อร่วมหาทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยรายงานผลการประเมิน ภาคการเรียนละ ๑ ครั้ง
(๒) คณะกรรมการศูนย์ประสานงานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนจังหวัดนั้นๆ
ประเมินผลการดำเนินงานในภาพรวมของจังหวัด
แล้วรายงานผลการประเมินและวิธีการแก้ไขปัญหา
ตลอดจนการพัฒนาการดำเนินงานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนให้ทางคณะสงฆ์
และคณะกรรมการอำนวยการส่งเสริมการปฏิบัติงานพระสอนศีลธรรมประจำจังหวัด
ภาคการเรียนละ ๑ ครั้ง
ระยะที่ ๓ การประเมินเมื่อสิ้นสุดโครงการ
มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการตามวัตถุประสงค์
ตัวชี้วัดความสำเร็จ ผลผลิตและผลลัพธ์ เปรียบเทียบกับความสมประโยชน์ของทางราชการ
ดำเนินการดังนี้
(๑)
คณะกรรมการอำนวยการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ส่วนห้องเรียนสุราษฎร์ธานี วัดพัฒนาราม
จัดทำแบบประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการตามวัตถุประสงค์ของการประเมินเมื่อสิ้นสุดโครงการ
ส่งให้คณะกรรมการศูนย์ประสานงานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนจังหวัดนั้นๆ
กำหนดกลุ่มเป้าหมายในการประเมิน
(๒) คณะกรรมการศูนย์ประสานงานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนแต่ละจังหวัด
นำแบบประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ประเมินตามกลุ่มเป้าหมายในจังหวัด
วิเคราะห์ข้อมูล ประมวลผล จัดทำรายงานผลการประเมินโครงการ
โดยสรุปเป็นภาพรวมของจังหวัดทั้งการประเมินก่อน ระหว่างและสิ้นสุดโครงการ
จังหวัดละ ๑ เล่ม ส่งให้คณะกรรมการอำนวยการโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ส่วนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี วัดพัฒนาราม และคณะสงฆ์
ตลอดจนเผยแพร่ผลการดำเนินงานแก่สาธารณชน
(๓) คณะกรรมการอำนวยการโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ส่วนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี วัดพัฒนาราม จัดทำรายงานผลการประเมินโครงการ
โดยสรุปในภาพรวมของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี
วัดพัฒนาราม ทั้งการประเมินก่อนระหว่าง และสิ้นสุดโครงการ รายงานต่ออธิการบดี(โครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
มจร. ,๒๕๕๖.(ออนไลน์))
ดังนั้นโดยสรุปแล้ว
สิ่งที่รัฐบาลคาดหวังจากครูพระสอนศีลธรรม ก็คือ อบรมให้เด็กเป็นคนดีมีศีลธรรม และอบรมให้เด็กเป็นคนดีอยู่ในศีลธรรมของพระพุทธศาสนา
มีเบญจศีลเบญจธรรม ซึ่งเป็นบทบาทและหน้าที่ของครูพระสอนศีลธรรมโดยภาพรวม ส่วนในการสอนให้รู้ (ปริยัติ) ทำให้ดู
(ปฏิบัติ) และอยู่ให้เห็น (ปฏิเวธ) นั้น สอนให้รู้ ก็คือ การสอนปริยัติธรรม
ซึ่งหมายถึง การเล่าเรียนศึกษาธรรมะ ให้รู้ถึงสมมุติ บัญญัติ
สำหรับคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ต้องเรียน คือ
เรียนให้รู้จักสมมุติบัญญัติที่เป็นภาษาธรรมะ เช่น คำว่า จิตภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา
ขันธ์ ๕ นามรูป สมถะ วิปัสสนา ฯลฯ ฉะนั้นเสลาเราฟังธรรมะ
เราจึงจะสามารถเข้าใจว่าคำที่ใช้ในธรรมะนั้นหมายถึงอะไร
และสามารถพูดคุยในเรื่องของธรรมะได้รู้เรื่อง และสามารถนำมาปฏิบัติตามได้
ดังนั้นในขั้นตอนของการปริยัติธรรมนี้
ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครมีความสามารถแสวงหาได้มากเท่าได้สามารถจดจำได้มากเท่าใด ส่วนทำให้ดู
ก็คือ เป็นผู้สงบสำรวม เป็นผู้ที่สุขุม รอบคอบ ใจเย็น เข้าใจเด็ก มีรู้เรื่องจิตวิทยาพัฒนาการในแต่ละวัย
เด็กก็จะรักนับถือ พูดอะไรก็เชื่อ เช่น ทำเป็นแบบอย่างเหมือนท่านพระอัสสชิไป
แล้วอุปติสสะเห็นว่าสงบเรียบร้อยสำรวมก็เลื่อมใส และอยู่ให้เห็น หมายถึง
เป็นทัสสนานุตริยะ แปลว่า สิ่งที่เห็นอันประเสริฐ การเห็นอันประเสริฐ เช่น การเห็นธรรมของพระพุทธเจ้า
เป็นต้น(พระธรรมโกศาจารย์,อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.)
เอกสารและสิ่งอ้างอิง
โครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
,http://www.krupra.net/main.php?url=about/12/07/2556.(ออนไลน์)
งามพิศ สัตย์สงวน. 2526. ประสบการณ์วิจัยทางมานุษยวิทยาข้ามวัฒนธรรม,
พิมพ์ครั้งที่ 2.
กรุงเทพฯ :
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ประพันธ์ อำพันประสิทธิ์. 2529. จิตวิทยาสังคม. สงขลา : ภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
พัทยา สายหู. 2529. กลไกของสังคม,
พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ :
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พระมหาวิเชียร
ขันทองดี. 2547. บทบาทของพระพุทธศาสนากับการพัฒนาชุมชน : ศึกษาเฉพาะกรณีพระ
ครูวิศาลเขมคุณ วัดพิชโสภาราม อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี,กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกริก.
พระธรรมโกศาจารย์,อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระสงฆ์กับภาระ
การสอนศีลธรรมในสังคมปัจจุบัน : ชุด...สาระนโยบายโครงการพระสอนศีลธรรมใน
โรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระมหาปัญญา จอมนาสวน.
2549. ความคิดเห็นของผู้บริหาร ครู และนักเรียนเกี่ยวกับ
บทบาทที่เป็นจริงและบทบาทที่คาดหวังของครูพระสอนศีลธรรมในการพัฒนาจริยธรรม
สำหรับนักเรียนโรงเรียนในโครงการจริยศึกษา
ศูนย์เผยแผ่ธรรม จังหวัดเชียงใหม่,
สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.
ราชบัณฑิตยสถาน.
2526. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525, กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.
สำนักงานโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.คู่มือดำเนิน
การคัดเลือกพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน,งานมหกรรมส่งเสริมศีลธรรมและการประกวด
กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้านพระพุทธศาสนา ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๖.(ออนไลน์)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
กลุ่มงานศาสนา. 2543. บทบาทที่พึ่งประสงค์ของวัด
และพระสงฆ์กับการพัฒนาสังคมไทย.
รายงานการเสวนา. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2550,
จาก http://www.onec.go.th/publication/4303003/index_de.pdf.(ออนไลน์)
สุพัตรา สุภาพ. 2534. สังคมและวัฒนธรรมไทย :
ค่านิยม ครอบครัว ศาสนา ประเพณี,
พิมพ์ครั้งที่
5. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช.
สงวนศรี วิรัชชัย. 2527. จิตวิทยาสังคมเพื่อการศึกษา, กรุงเทพ ฯ : ศึกษาพร.
อุทัย หิรัญโต. 2519. สังคมวิทยาประยุกต์,
กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
นักเรียนได้อะไรบ้างจากพระที่เข้าไปสอนในโรงเรียน