วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ออกพรรษา [ประวัติการรับผ้า, และอานิสงส์กฐิน]

ความหมายของคำว่า "กฐิน"
เป็นภาษาพระวินัย เป็นชื่อเรียกผ้าพิเศษที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้วรับมานุ่งห่มได้
กฐิน แปลตามศัพท์ว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้หรือไม้แบบสำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวร ผ้าที่เย็บสำเร็จจากกฐินหรือไม้สะดึงแบบนี้เรียกว่า ผ้ากฐิน

กฐินมีกำหนดระยะเวลาถวาย จะถวายตลอดไปเหมือนผ้าชนิดอื่นมิได้
ระยะเวลานั้นมีเพียง ๑ เดือน คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (วันเพ็ญเดือน ๑๒) ระยะเวลานี้เรียกว่า กฐินกาล คือระยะเวลา ทอดกฐิน หรือ เทศกาลทอดกฐิน มีคำที่เกี่ยวกับ "กฐิน" หลายคำ เช่น องค์กฐิน เครื่องกฐิน บริวารกฐิน

ความเป็นมาของกฐิน
ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐ ๓๐ รูป เดินทางมาเฝ้าพระศาสดา แต่ไม่ทันวันเข้าพรรษา จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกตุในระหว่างทาง พอออกพรรษาฝนยังตกชุกอยู่ ภิกษุเหล่านั้นเดินทางมาเข้าเฝ้าพระศาสดาด้วยความลำบากพระศาสดาตรัสถามถึงความเป็นอยู่และการเดินทาง จากนั้นทรงอนุญาตให้มีการถวายผ้ากฐินแก่ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส และ ภิกษุผู้ได้กรานกฐินได้อานิสงส์ ๕ ประการคือ
๑. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา
๒. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
๓. ฉันคณะโภชน์ได้ (ฉันอาหารรวมกันเป็นหมวดหมู่)
๔. ทรงอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา
๕. จีวรอันเกิดขึ้น ณ ที่นั้นจักได้แก่พวกเธอ

ความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่น
๑. จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้
๒. จำกัดเวลา คือ ต้องถวายภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป
๓. จำกัดงาน คือ พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน
๔. จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่สงฆ์กำหนดไว้
๕. จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้นโดยไม่ขาดพรรษา และจำนวนไม่น้อยกว่า ๕ รูป
๖. จำกัดคราว คือ วัด ๆ หนึ่งรับกฐินได้เพียงปีละ ๑ ครั้งเท่านั้น
๗.เป็นพระบรมพุทธานุญาต ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขออนุญาตผ้าอาบน้ำฝน แต่ผ้ากฐินนี้พระองค์ทรงอนุญาตเอง นับเป็นพระประสงค์โดยตรง
***********************
พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

ความรักในทางพุทธศาสนา

ถาม: จึงใคร่ขอกราบเรียนถามท่านเจ้าคุณว่า มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องของความรัก และในทางพุทธศาสนาให้คติหรือแนวความคิดอย่างไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้
ตอบ: พระพุทธศาสนายอมรับธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชนเป็นอันดับที่หนึ่งก่อน แต่ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น คือ มีการพิจารณาต่อไปว่าในกรณีที่ธรรมชาติของปุถุชนนั้นมีข้อบกพร่องหรือมีโทษ ก็จะสอนถึงการปรับปรุงแก้ไข หรือทำให้ดียิ่งขึ้น เรียกว่า การศึกษา หรือ การพัฒนาชีวิต
อันนี้ก็ไปสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์อีกประการหนึ่งที่ว่ามนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ หรือพัฒนาได้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าต้องพัฒนา และศักยภาพสูงสุดที่จะพัฒนาได้จนเป็นผู้ที่ประเสริฐอย่างยิ่ง
ทีนี้ เราก็เอาหลักการสองอย่างนี้มาใช้ โดยวางวิธีการว่าทำอย่างไรจะให้เกิดผลดี ในกรณีที่มีความรักแบบที่ว่าตามธรรมชาติของปุถุชนที่จะมีครอบครัวอะไรนี่ก็กำหนดว่าทำอย่างไรจะให้เป็นไปในลักษณะที่ไม่เกิดโทษแก่ผู้อื่น แก่สังคม แต่ให้ดำเนินไปในทางที่ดีงาม ที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชีวิตและแก่สังคมนั้น อย่างน้อยก็แก่ทั้งสองคนนั้นแหละให้เขาอยู่กันด้วยดีมีสุข อันนี้เป็นขั้นที่หนึ่ง
สำหรับขั้นนี้เราก็มีคำแนะนำให้ว่าเขาควรจะพัฒนาจิตใจของเขาอย่างไร พร้อมทั้งหลักการในการดำเนินชีวิตและในการปฏิบัติต่อกันเพื่อให้มีผลดีทั้งต่อระหว่างสองคน และในแง่ของแต่ละคน โดยคำนึงถึงจิตใจของแต่ละคน โดยเฉพาะความสุขของแต่ละฝ่าย ตลอดจนประโยชน์ที่จะขยายออกไปสู่สังคมวงกว้างด้วย รวมทั้งถ้าเขามีบุตรก็ให้เป็นประโยชน์แต่บุตรหลานของเขาต่อไปด้วย
ทีนี้ต่อไปก็คือ เหนือกว่านั้น ทำอย่างไรจะพัฒนาเขาขึ้นไปให้เขาสามารถมีความสุขที่สูงขึ้นไปอีก ให้มีความรู้สึกที่ประณีตดีงามชนิดที่เป็นคุณธรรมซึ่งคล้ายๆ ว่าเข้ามาเสริมคุณค่าของความรักแบบแรกนี้ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็น ความรักแบบที่สอง และเมื่อความรักแบบที่สองนี้เจริญงอกงามมากขึ้น ก็จะช่วยให้ความรักประเภทที่หนึ่งประณีตงดงาม จนกระทั่งแม้เมื่อเขาไม่สามารถอาศัยความรักประเภทที่หนึ่งต่อไปได้เขาก็ยังมีความรักประเภทที่สองหล่อเลี้ยงชีวิตร่วมกันอยู่ตลอดไป
เป็นอันว่า สำหรับความรักประเภทที่หนึ่งนี้ ท่านก็ยอมรับแต่จะต้องให้อยู่ในกรอบ หรือในขอบเขตที่ดีงาม แล้วก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่ก็ว่ายังมีส่วนที่เป็นโทษ จึงต้องปรับปรุงพัฒนาต่อไป
ในทางพุทธศาสนา ท่านพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างทั้งในแง่ข้อดีหรือคุณ และข้อเสียหรือโทษ คือข้อบกพร่อง แล้วก็บอกทางออก หรือทางแก้ไขให้ด้วย อันนี้เป็นหลักในการพิจารณาทุกอย่าง เพื่อให้เราปฎิบัติต่อทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยสติและปัญญาอย่างรอบคอบ ที่จะแก้ปัญหาได้และเข้าถึงประโยชน์สุขที่แท้จริง
ถาม: อยากจะขอให้ท่านแยกให้เห็นชัดว่า ความรักแบบที่หนึ่งเป็นอย่างไร และความรักแบบที่สองเป็นอย่างไร
ตอบ: ก็มาดูเรื่องของความรักประเภทที่หนึ่งก่อน ความรักประเภทที่หนึ่งที่คนทั่วไปรู้เข้าใจกันว่าเป็น ความรักระหว่างเพศ หรือ ความรักทางเพศ มีจุดเด่นอยู่ที่ความชื่นชมติดใจ หรือความปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสกายของผู้ที่ตนรัก อันนี้เป็นความรักสามัญของปุถุชนซึ่งมีลักษณะสำคัญคือความต้องการหาความสุขให้แก่ตนเอง หมายความว่า ที่รักเขานั้นก็เพื่อเอาเขามาเป็นเครื่องบำเรอความสุขแก่ตน ต้องการเอาความสุขเพื่อตนเอง
ความรักแบบที่หนึ่งนี้ ที่แท้แล้วก็คือการคิดจะเอาจากผู้อื่น ในเมื่อมันมีลักษณะอย่างนี้ มันจึงมีข้อเสียที่สำคัญติดมาด้วย คือถ้าหากว่าเราผู้นั้นไม่อยู่ในภาวะที่จะสนองความปรารถนาให้เรามีความสุขได้ เราก็จะเบื่อหน่าย แล้วก็อาจจะรังเกียจ จึงเห็นได้ว่าไม่ยั่งยืน อันนี้เป็นข้อบกพร่องที่สำคัญประการแรก
นอกจากนั้น เนื่องจากความรักแบบที่หนึ่งนี้มุ่งจะเอาความสุขให้แก่ตัว หรือจะเอาผู้อื่นมาบำเรอความสุขหรือให้ความสุขแก่ตัว ความรักแบบนี้จึงมีลักษณะจำเพาะเจาะจง โดยมีบุคคลที่ชอบใจถูกใจเป็นเป้าเป็นความยึดติดผูกพันเฉพาะตัว
เมื่อลักษณะสองอย่างนี้มาผนวกกันเข้า ก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาคือความหึงหวง ความรักแบบนี้จึงมาคู่กับความหึง มีอารมณ์ยึดถือเป็นของตัว ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ไม่ต้องการให้ใครอื่นมายุ่งเกี่ยวหรือแม้แต่ได้รับความเอาใจใส่ ความหวงแหนผูกพันเฉพาะตัว และต้องการให้เขาหรือเธอให้ความสุขแก่ตัวผู้เดียวนี้ แสดงออกได้ทั้งทางกายและทางใจ
ทางกายก็ต้องการให้เป็นของตนผู้เดียว ไม่ให้ใครอื่นมายุ่งเกี่ยวอย่างที่เรียกว่า หวงผัสสะส่วนทางด้านจิตใจ ก็ต้องการความเอาใจใส่ความมีใจภักดีให้ฉันคนเดียวเป็นผู้ครองหัวใจเธอ หรือให้ใจเธออยู่กับฉัน อย่าปันใจให้คนอื่น
เนื่องจากความรักแบบที่หนึ่งนี้ มักจะมาด้วยกันกับความหวงแหนเห็นแก่ตัว หรือความหึงหวง จึงอาจจะทำให้เกิดการแย่งชิง ทะเลาะเบาะแว้ง แม้จะไม่ได้แย่งชิงทะเลาะเบาะแว้งกับใครก็มักจะเกิดความมัวเมาหมกมุ่น จนกระทั่งบางทีก็ถึงกับละทิ้งกิจหน้าที่หรือความดีงามที่ควรจะทำ หรือไม่เช่นนั้นก็จะเป็นไปในอีกลักษณะหนึ่ง คือ ทำให้ยิ่งโลภแล้วพยายามแสวงหาอะไรต่าง ๆ มุ่งแต่จะกอบโอยเอามาเพื่อตัวเองและเพื่อคนที่ตนรักเท่านั้น โดยไม่เห็นแก่ผู้อื่นเลย จึงอาจทำให้เกิดการเบียดเบียนกันได้มาก
ที่ว่ามานี้คือโทษประการต่างๆ ของความรักแบบที่หนึ่ง ซึ่งในที่สุดแล้วจุดจบของมันก็คือความไม่ยั่งยืน เพราะว่าแท้จริงแล้วมันเป็นเรื่องของการหาความสุขให้แก่ตัวเอง แม้จะเป็นคู่ครองอยู่ร่วมกันก็เห็นเขาเป็นสิ่งสนองความสุข เป็นที่สนองความต้องการของตนเองเท่านั้น
ถ้าหากว่าเขาหรือเธอไม่สามารถสนองความต้องการของเราลองถามตัวเองซิว่าเราจะยังรักเขาไหม ต้องถามตรง ๆ อย่างนี้ ถ้าเขาไม่สามารถสนองความต้องการของเรา ไม่สามารถให้ความสุขแก่เรา ถ้าเรามีความซื่อสัตย์ต่อตนเองลองตอบดู เราจะรักเขาไหม หรือว่าเราจะกลายเป็นเบื่อหน่ายรังเกียจ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นโทษหรือข้อเสียของความรัก แบบที่หนึ่ง
ถาม:สำหรับความรักแบบที่หนึ่ง คิดว่าชัดเจนแล้ว อยากจะทราบถึงความรักแบบที่สองว่าเป็นอย่างไร
ตอบ:ความรักแบบที่สอง คือ ความรักที่อยากให้เรามีความสุขหรืออยากเห็นเขามีความสุข อย่างที่เรียกว่าเป็นความปรารถนาดี เรารักใคร เราก็อยากให้คนนั้นมีความสุข อยากทำให้เขามีความสุข และอยากทำอะไรๆ เพื่อให้เขามีความสุข ลองถามตัวเองก่อน เวลารักใครลองถามตัวเองว่า เราต้องการความสุขเพื่อตัวเรา หรือเราอยากให้เขามีความสุข ถ้าเป็นความรักที่แท้ก็ต้องอยากให้เขามีความสุข เมื่ออยากให้เขามีความสุข ก็ต้องการทำให้เขามีความสุข หรือทำอะไรๆ เพื่อให้เขามีความสุขการที่จะทำให้คนอื่นมีความสุขนั้น การกระทำที่สำคัญก็คือการให้
การให้เป็นปฎิบัติการที่ชัดเจนและต้องใช้มากที่สุดในการทำให้ผู้อื่นมีความสุข ดังนั้น ผู้ที่มีความรักแบบที่สองจึงมีความสุขในการให้และให้ด้วยความสุข ความรักแบบที่สองจึงทำให้การให้กลายเป็นความสุขแต่ต้องพูดกันไว้ก่อนด้วยว่า การให้ที่ว่านี้ไม่ใช่เป็นการให้แบบล่อเหยื่อหรือเอาอกเอาใจ ถ้าให้แบบนั้น พอไม่ได้เขามาก็จะเสียใจ เสียดายและแค้นใจ เพราะเป็นการให้เพื่อจะเอา ไม่ใช่ปรารถนาดีแก่เราจริง
ในขณะที่ ความรักแบบที่หนึ่ง เป็นความต้องการที่จะเอาความสุขจากผู้อี่น หรือต้องการความสุขจากการเอา ความรักแบบที่สอง เป็นความต้องการที่จะให้ความสุขแก่ผู้อื่น และเป็นการทำให้เกิดความสุขจากการให้
ในแบบที่หนึ่ง การได้จึงจะเป็นความสุข แต่ในแบบหลัง การให้ก็เป็นความสุข พูดสั้นๆ ว่า ความรักที่เป็นการเอา กับความรักที่เป็นการให้
ถ้าเรารักเขาโดยอยากให้เขามีความสุขแล้วมันก็มีความยั่งยืนมั่นคงเมื่อเขามีความทุกข์ความเดือดร้อน แม้ว่าเขาจะไม่สามารถสนองความต้องการของเราได้ เราก็ยังรักเขา และเราจะเกิดความสงสาร ตอนแรกเรามีความรักความปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข พอเขาเกิดความทุกข์ มีความเดือดร้อนขึ้นมาความรักของเราก็จะกลายเป็นความสงสาร อยากจะช่วยเหลือเขาให้พ้นจากความทุกข์ เราจะไม่เบื่อหน่ายรังเกียจ ซึ่งต่างกันชัดเจนกับความรักแบบที่หนึ่ง
ความรักแบบที่หนึ่งเป็นความต้องการที่จะหาความสุขให้แก่ตนเอง ซึ่งก็คือความเห็นแก่ตัวแบบหนึ่งนั่นเอง พอเขามีความทุกข์ลำบากเดือดร้อน หรืออยู่ในภาวะที่ไม่สามารถสนองความต้องการของเราได้เราก็เบื่อหน่ายรังเกียจ แต่ความรักแบบที่สองนี่ต้องการให้เขามีความสุขพอเขามีความทุกข์เดือดร้อน เราก็สงสารอยากจะช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ให้เขาพ้นจากความลำบากเดือดร้อน
ความรักแบบที่หนึ่งนั้นทางพระท่านเรียกว่า “ราคะ” หรือ “เสน่หา” ส่วนความรักแบบที่สองทางพระท่านเรียกว่า “เมตตา” รวมทั้ง “ไมตรี”
ทีนี้ ถ้าหากว่าคนที่เรารักนั้น เขาเกิดเปลี่ยนเป็นมีความทุกข์ลำบากเดือดร้อน เมตตานั้นก็เปลี่ยนไปเป็น “กรุณา” คือ ความสงสาร คิดหาทางช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกข์ จึงมี เมตตา - กรุณา เป็นคู่กัน
นี่คือ ลักษณะของความรักสองแบบ รักแบบอยากให้เขามีความสุขกับรักแบบจะหาความสุขจากเขาหรือเอาเขามาทำให้เรามีความสุขเรียกเป็นคำศัพท์ว่า รักแบบเมตตา กับ รักแบบราคะ/เสน่หา

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
ธรรมกถานันมาฆบูชาปี 2544 ความรักจากวาเลนไทน์สู่ความเป็นไทย

พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

ขั้นตอนในการเขียนบทความ

ขั้นตอนในการเขียนบทความก็ไม่ยุ่งยากหรือซับซ้อนอะไรเลย เพราะได้มีนักวิชาการท่านหนึ่งชื่อวิทยา ดำรงเกียรติศักดิ์ ได้กำหนดขั้นตอนเอาไว้ดังนี้
1. การเลือกเรื่อง เรื่องที่นำมาเขียนต้องอยู่ในความสนใจและความต้องการของผู้อ่าน เป็นเรื่องที่ผู้เขียนรู้จริง หรือมีประสบการณ์อย่างถ่องแท้
2. การวางแผนก่อนการเขียน เป็นขั้นตอนของการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายว่าผู้อ่านเป็นใคร โดยจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้ด้วย
2.1 กลุ่มผู้อ่าน ผู้เขียนต้องคำนึงถึงอายุ เพศ รายได้ การศึกษา อาชีพ ความรู้ ในเรื่องความรู้ต้องคิดด้วยว่าผู้อ่านรู้อะไรบ้าง รู้เรื่องนั้น ๆ ดีพอเพียงใดที่ผู้อ่านต้องการรู้และผู้อ่านจะได้รับข่าวสารที่ผู้เขียนเขียนได้อย่างไร เพราะความสำเร็จของการเขียนขึ้นอยู่กับผู้อ่านยอมรับข้อเขียนของผู้เขียนด้วย
2.2 กำหนดวัตถุประสงค์ ในข้อนี้ผู้เขียนต้องคำนึงว่าจะเขียนบทความนี้ไปทำไม เช่น เพื่อให้ข่าวสาร สร้างความคิดที่ดี หรือเพื่อโน้มน้าวใจ โดยวัตถุประสงค์ในการเขียนเพื่อการโน้มน้าวใจต้องให้ผู้อ่านเกิดความต้องการหรือตระหนักในปัญหาก่อน จากนั้นค่อยเสนอทางออก พร้อมกับยกตัวอย่างและหลักฐานที่ผู้อ่านสามารถมองเห็นภาพพจน์แล้วสรุปอีกครั้งในจุดที่ผู้เขียนต้องการ เป็นต้น
2.3 การรวบรวมเนื้อ การเขียนบทความไม่ว่าจะประเภทใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่ผู้เขียนต้องคำนึงถึงหลักฐาน ข้อเท็จจริง ดังนั้นก่อนที่จะลงมือเขียนจำเป็นจะต้องสืบเสาะหาเรื่องราวให้มีความรู้เพียงพอ โดยวิธีการรวบรวมเนื้อหาสามารถทำได้ดังนี้
2.3.1 การค้นคว้าข้อมูลด้านวิทยาการจากหนังสือ และเอกสารต่าง ๆ เช่น จากห้องสมุด หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ
2.3.2 การสัมภาษณ์บุคคลที่ต้องการจะเขียนถึง หรือจากบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ต้องการจะเขียน
2.3.3 การสนทนาหรือพูดคุยกับบุคคลทั่วไป เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
2.3.4 การเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ แล้วจดบันทึกสิ่งที่ได้พบได้เห็น ซึ่งจะเป็นการสร้างสีสันให้งานเขียนมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น
2.3.5 การสืบเสาะเรื่องราวต่าง ๆ ว่าเกิดขึ้นกับใคร ที่ไหน อย่างไร แล้วจึงติดตามไปยังแหล่งที่เกิดเหตุ ติดตามดูสถานที่ การกระทำ เหตุการณ์
3. การจัดเนื้อหา ได้แก่การวางโครงเรื่องของบทความ ซึ่งเป็นการจัดลำดับเนื้อหา ความคิด ของเรื่องราวนั้น ๆ เป็นต้นว่า จะลำดับความอย่างไร ส่วนไหนต้องใช้เป็นคำนำ เนื้อหา และสรุป
4. การเรียบเรียงเนื้อหา คือ การนำโครงเรื่องที่วางไว้มาขยายความให้ครบถ้วนได้ ความหมายที่ชัดเจน น่าอ่าน โดยต้องสอดคล้องกับรูปแบบและขนาดของบทความ
5. การตรวจแก้ไข เมื่อเขียนบทความเรียบร้อยแล้ว ควรมีการตรวจทานเสียก่อน เพื่อกันความผิดพลาดก่อนบทความตีพิมพ์สู่ผู้อ่าน
6. ส่งบทความไปเผยแพร่ ควรส่งบทความให้ตรงตามเวลา เพื่อบรรณาธิการหรือผู้พิมพ์ คนจัดรูปเล่ม จะได้ทำหน้าที่ของเขาได้ดีที่สุด

พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประวัติวัดใหญ่ชัยมงคล

กำเนิดวนวาสี
อนิจจังของพุทธศาสนาในลังกาทวีป
ใน พ.ศ. ๒๗๕ พระเจ้าอโศกมหาราชได้ราชาภิเษกเป็นพระเจ้าราชาธิราชปกครองมคธราษฎร์ทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่งและทรงทำนุบำรุงพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนายิ่งกว่านักบวชในศาสนาอื่นๆ ทำให้นักบวชนอกพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า “เดียรถีย์”ปลอมตนเข้าบวชเป็นพระภิกษุด้วยหวังลาภสักการะเป็นอันมาก จนเกิดแตกสามัคคีเพราะรังเกียจกันในหมู่สงฆ์ จึงมีการไต่สวนและกำจัดพวกเดียรถีร์ออกเสียจากภิกษุภาวะ พระสงฆ์ที่ทรงธรรมวินัยโดยถ่องแท้ได้พร้อมกันทำตติยสังคายนา ที่เมืองปาตลีบุตร มี พระโมคคลีบุตรติสเถระ เป็นประธาน ในพระราชูปถัมภ์ของ พระเจ้าอโศกมหาราช
หลังจากทำตติยสังคายนาแล้วได้จัดส่งพระเถรานุเถระไปสั่งสอนพระพุทธศาสนาในนานาประเทศ ๙ สายด้วยกัน คือ
๑. พระมัชฌันติก ไปประเทศกัสมิระ และคันธาระ(แคว้นแคชเมียร์ และอาฟฆานิสถาน)
๒. พระมหาเทว ไปมหิสมณฑล (ไมสอ)
๓. พระรักขิต ไปวนวาสีประเทศ (เหนือบอมเบข้างใต้)
๔. พระธรรมรักขิต ไปอปรันตกประเทศ (ชายทะเลเหนือบอมเบ)
๕. พระมหาธรรมรักขิต ไปมหารัฐประเทศ (ห่างบอมเบไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ)
๖. พระมหารักขิต ไปโยนกโลกประเทศ (อยู่ในเปอร์เชีย)
๗. พระมัชฌิม ไปหิมวันตประเทศ (ในหมู่เขาหิมาลัย)
๘. พระโสณะ และ พระอุตตระ ไปสุวรรณภูมิประเทศ (ไทย)
๙. พระมหินทเถระ ไปลังกาทวีป
ในลังกาทวีปการพระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่งทั้งนี้โดยความอุปการะช่วยเหลือของ พระเจ้าอโศกมหาราช อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาล่วงไปลังกาทวีปได้ถูกพวกทมิฬ ซึ่งเป็นชนชาติหนึ่งอยู่ตอนใต้ปลายแหลมชมพูทวีปมาแต่เดิมรุกราน และมีอำนาจเหนือลังกาทวีปหลายครั้งประการหนึ่ง การแย่งราชสมบัติรบราฆ่าฟันกันเองประการหนึ่ง ทำให้การพระพุทธศาสนาในลังกาทวีปปั่นป่วน และแตกแยกเป็นหลายลัทธิ และบางทีก็เสื่อมลงถึงที่สุด จนไม่มีพระเถระสำหรับบวชกุลบุตร และสืบพระศาสนา ต้องส่งทูตไปขอพระเถระจากต่างประเทศ เข้าไปบวชกุลบุตรเป็นหลายครั้ง รวมทั้งประเทศไทยด้วย
ในระหว่าง พ.ศ. ๑๘๙๐-๑๙๒๙พระพุทธศาสนาเสื่อมลงอย่างมาก เพราะเกิดพวกอลัชชี ถึงกับต้องชุมนุมสงฆ์ชำระและกำจัดภิกษุอลัชชีหลายคราว
เหตุที่เกิดอลัชชีมี ๒ ประการ คือ
๑. ลังกาทวีปถือพระพุทธศาสนาก็จริง แต่ได้รับขนบธรรมเนียมอย่างอื่นมาจากชมพูทวีปด้วย โดยเฉพาะการถือชั้นวรรณะตามคติของพราหมณ์ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสิงหฬมีอำนาจมากก็กีดกันคนชั้นต่ำเข้าบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ ครั้นอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินสิงหฬเสื่อมทราม คนชั้นต่ำก็เข้าบวชมาก ผู้ดีบวชน้อยลง
๒. ระหว่าง พ.ศ. ๔๓๙-พ.ศ. ๔๕๕ พระเจ้าวัฏคามินีอภัย เสียราชธานีแก่พวกทมิฬ เที่ยวหลบหนีอยู่ในมลัยประเทศ ไม่มีพระราชทรัพย์ทำนุบำรุงพระสงฆ์ จึงทรงอุทิศที่ดินพระราชทานแทนเรียกว่า “ที่กัลปนา” (นับเป็นครั้งแรก) ให้ราษฎรซึ่งอาศัยได้ผลประโยชน์จากที่ดินนั้น ทำการอุปการะตอบแทนแก่พระสงฆ์ จึงเป็นราชประเพณีสืบต่อมา
เมื่อคน ชั้นเลวเข้าบวชมากขึ้น พระภิกษุพวกนี้ก็ขวนขวายหาลาภสักการจากที่ดินเลี้ยงตน ถึงกับเอาลูกหลานบวชไว้สำหรับครองอารามอย่างรับมรดก การบำเพ็ญกิจแห่งสมณะตามพระธรรมวินัยก็หย่อนยาน
ด้วยเหตุ ๒ ประการดังกล่าว จึงเกิดพระสงฆ์พวกหนึ่งเรียกว่า “วนวาสี” ซึ่งถือความสันโดษ ไม่ข้องแวะต่อการแสวงหาลาภสักการมาบำรุงรักษาอาราม
ปรากฏในตอนหลังๆ ว่า ชาวลังกาทวีปนับถือพระสงฆ์ฝ่ายวนวาสีมาก แต่พระภิกษุฝ่ายคามวาสีที่ดีก็คงมีจึงนิยมเป็นสงฆ์ ๒ ฝ่ายวนวาสี ก็คือ อรัญวาสี นั่นเอง และเป็นแบบอย่างมาถึงประเทศไทยเราด้วย
ก่อเกิดคณะป่าแก้ว
จากลังกาทวีป สู่สยามประเทศ
เมื่อได้มีการกำจัดพวกอลัชชีแล้ว คงจะได้มีการวางระเบียบแบบแผนสังฆมณฑลเรียบร้อยขึ้น จนกิตติศัพท์เลื่องลือมาถึงประเทศไทย มอญ เขมร และลานนาไทย จึงมีพระภิกษุพากันออกไปบวชแปลงเป็นพระสงฆ์ใน สิงหฬนิกาย กันมาก
หนังสือตำนานโยนก ว่า[1]
"เมื่อราวปีขาล จุลศักราช ๗๘๔ พ.ศ ๑๙๖๕ ตรงในสมัยเมื่อสมเด็จพระอินทราชาธิราชที่ ๑ ครองราชย์สมบัติ ณ กรุงศรีอยุธยา
มีพระภิกษุทางประเทศนี้หมู่หนึ่ง หัวหน้าเป็นพระมหาเถรชาวเชียงใหม่ ๗ รูป ชื่อพระธรรมคัมภีร์ ๑ พระเมธังกร ๑ พระญาณมังคละ ๑ พระสีลวงศ์ ๑ พระสาริบุตร ๑ พระรัตนากร ๑ พระพุทธสาคร ๑ เป็นพระมหาเถรชาวกรุงศรีอยุธยา ๒ รูป ชื่อพระพรหมมุนี ๑ พระโสมเถร ๑ เป็นพระมหาเถรชาวกรุงกัมพูชา ชื่อพระญาณสิทธิ์รูป ๑ พระภิกษุบริษัทเป็นอันมากพากันออกไปเมืองลังกา ไปอุปสมบทแปลงเป็นสิงหฬนิกาย ณ อุทกเขปสีมาที่แม่น้ำกัลยาณี ในสำนักพระวันรัตมหาเถร เมื่อ ณ วันเสาร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ อุตราสาฒ ปีมะโรง จุลศักราช ๗๘๖ พ.ศ. ๑๙๖๗ แล้วศึกษาธรรมวินัยอยู่ในลังกาทวีปอยู่หลายปี
เมื่อกลับมาได้นิมนต์พระมหาเถรชาวลังกามาด้วย ๒ รูป ชื่อพระมหาวิกรมพาหุ รูป ๑ พระอุดมปัญญา รูป ๑ มาขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาก่อน แล้วแยกย้ายกันไปเที่ยวตั้งนิกายลังกาขึ้นอีกนิกายหนึ่ง เรียกว่า วันรัตนวงศ์ แปลเป็นภาษาไทยเรียกว่า คณะป่าแก้ว (ชาวเชียงใหม่เรียกว่า ป่าแดง)"
แต่ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันเช่น ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ว่า[2]
"ได้ความตามหนังสือในตำนานที่ปรากฏอยู่ในเมืองเชียงใหม่ดังนี้ เชื่อได้ว่าพระสงฆ์นิกายป่าแก้วมีขึ้นครั้งนั้นเป็นปฐม
แต่ความที่ปรากฏทางเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุง วัดนิกายป่าแก้วนี้มีในหัวเมืองแถบนั้นมาก เห็นพระสงฆ์นิกายเมืองป่าแก้วจะมาแพร่หลายทางหัวเมืองเหล่านั้นก่อน แล้วจึงขึ้นมาถึงกรุงศรีอยุธยา จึงได้เรียกพระสงฆ์คณะป่าแก้วที่ขึ้นสมเด็จพระวันรัตนว่า คณะใต้ พระสงฆ์นิกายนี้คงจะปฏิบัติเคร่งครัดทางแสดงธรรมวินัย กว่าพระสงฆ์ลังกาวงศ์ซึ่งอยู่มาแต่ก่อน จึงทำให้เจริญความเลื่อมใสกันขึ้น เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ"
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงผนวชใน คณะป่าแก้ว เห็นจะเลื่องลือพระเกียรติยศมาก เป็นเหตุให้พระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่น ขวนขวายการบำเพ็ญอุปถัมภกพระศาสนาเป็นพิเศษบ้าง เช่น พระรามาธิบดี (ปิฎกธร) กรุงหงสาวดี ส่งพระภิกษุสงฆ์ออกไปอุปสมบทแปลงที่ลังกา เมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๘ เมื่อพระสงฆ์เหล่านั้นกลับเข้ามาแล้ว บังคับให้พระสงฆ์ในรามัญประเทศแปลงเป็นนิกายเดียวกันจนหมด
พระเจ้าติโลกราช เมืองเชียงใหม่ก็ตั้งพิธีทำสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งนับว่าเป็นครั้งที่ ๘ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๐ เป็นต้น ซึ่งดูจะเนื่องมาจากการที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงผนวชขึ้นก่อนทั้งสิ้น
ยิ่งกว่านั้นยังปรากฏว่า ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๐๗ เป็นต้นมา ได้นำพระราชโอรส พระราชนัดดา ตลอดจนเจ้านายลูกผู้ลากมากดีบวชกันมากจนกลายเป็นธรรมเนียมสืบมา ถือกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ประเพณีบวชนี้ ได้แพร่หลายนิยมตามกันมาถึงในหมู่คนสามัญด้วย
หมายเหตุ :
[1] บทความเรื่องนี้ใช้อักขรวิธีตามต้นฉบับ
[2] สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา
วัดเจ้าพระยาไทยคณะป่าแก้ว
วัดใหญ่ชัยมงคลครั้งบรรพกาล
อนึ่งพระสงฆ์ไทยที่ไปบวชแปลงที่สำนักพระวันรัตนวงศ์ในลังกา ที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า “คณะป่าแก้ว” นั้น เมื่อเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาก็ได้เข้าพักอยู่ในวัดเจ้าพระยาไทยซึ่งเป็นอรัญวาสีอยู่ก่อนแล้ว
เมื่อคณะ ป่าแก้วเข้ามาก็ทำให้เพิ่มความคึกคักในการปฏิบัติธรรมกันฝ่ายนี้กันมากขึ้น วัดเจ้าพระยาไทยจึงเป็นวัดชั้นนำทางด้านอรัญวาสี พระเถระที่เป็นหัวหน้าควบคุมจึงได้นามว่า “สมเด็จพระวันรัตน” (พระพนรัตน์) ตามพระนามพระวันรัตนมหาเถระซึ่งเป็นอาจารย์ในลังกาทวีป
การที่คณะ ป่าแก้วเข้ามีเมืองไทยนั้น ได้จัดเป็นคณะหนึ่งต่างหาก ผู้คนจะเลือกศึกษาได้ตามสมัครใจไม่บังคับเหมือนในเมืองมอญ ฉะนั้น ในชั้นแรกจึงเรียกชื่อวัดว่า “วัดเจ้าพระยาไทยคณะป่าแก้ว” ภายหลังจึงได้เหลือ วัดป่าแก้ว แต่อย่างเดียว
อย่างไรก็ดี เนื่องจาก วัดเจ้าพระยาไทย หรือ วัดป่าแก้ว เป็นพระอารามหลวงมีพระเจ้าแผ่นดินเจ้านายเข้าทรงผนวช และเป็นที่ประกอบการพระราชพิธีบางอย่าง รวมทั้งใหญ่โตกว้างขวาง ชาวบ้านจึงได้เรียกกันว่า “วัดใหญ่” มาแต่แรกสร้าง
พระเจดีย์ชัยมงคล
โทษตายกลายเป็นสร้างบุญ
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีได้ชัยชนะพระมหาอุปราชาแห่งพม่าแล้ว ได้ทรงมีพระราชศรัทธาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดใหญ่ขึ้นเป็นงานใหญ่ พร้อมทั้งได้ทรงสร้างพระเจดีย์ชัยมงคลเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติอีกด้วย
ชัยชนะในสงครามยุทธหัตถีในครั้งนั้น เป็นชัยชนะครั้งสำคัญที่สุด นับตั้งแต่ สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงประกาศอิสรภาพของชาติไทยที่เมืองแครง เมื่อปีวอก พุทธศักราช ๒๑๒๗ หลังจากที่ประเทศไทยต้องตกอยู่ใต้อำนาจของชาติอื่นมาเป็นเวลาถึง ๑๕ ปี
จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสรณ์แห่งชัยชนะครั้งนี้ขึ้นสองแห่งเป็นพระสถูปเจดีย์ตรงที่ทรงยุทธหัตถีกับ พระมหาอุปราชา แห่งหนึ่ง และทรงสร้างพระมหาสถูปคือ พระเจดีย์ชัยมงคลขึ้นที่ วัดป่าแก้ว เป็นเหตุสำคัญ
นอกจากนั้นก็ยังมีเหตุอื่น อีกด้วย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวร ว่า
“ยังมีของ โบราณอยู่บางสิ่งซึ่งชวนให้เห็นว่า เมื่อสมเด็จพระวันรัตทูลขอโทษข้าราชการแล้ว ได้ทูลแนะนำ สมเด็จพระนเรศวร ให้เฉลิมพระเกียรติที่มีชัยครั้งนั้นด้วยทรงบำเพ็ญกุศลกรรม และคงยกเรื่องประวัติพระเจ้าทุษฐคามมินีมหาราชอันมีในคัมภีร์มหาวงศ์ พงศาวดารลังกาทวีปมาทูลถวายเป็นตัวอย่าง ในเรื่องนั้นว่า
"เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘ พวกทมิฬมิจฉาทิฎฐิยกกองทัพข้ามมาจากชมพูทวีป มาตีได้เกาะลังกาแล้วครอบครองบ้านเมืองอยู่หลายปี ทุษฐคามนีกุมาร ราชโอรสของ พระเจ้ากากะวรรณดิศ ซึ่งเป็นกษัตริย์สิงหฬพระพุทธศาสนาหนีไปอยู่บนเขา พยายามรวบรวมรี้พลยกไปตีเอาบ้านเมืองคืน ได้รบเอา พระยาเอฬาระทมิฬ ซึ่งครองเมืองลังกา ถึงชนช้างกันตัวต่อตัวที่ชานเมืองอนุราธธานี
ทุษฐคามินีกุมาร มีชัยชนะฆ่า พระยาเอฬาระทมิฬ ตายกับคอช้าง ได้เมืองลังกาคืนจากพวกมิจฉาทิฏฐิ มีพระเกียรติเป็นมหาราชสืบมาในพงศาวดาร เมื่อ พระเจ้าทุษฐคามนี ทำยุทธหัตถมีชัยครั้งนั้น โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์ขึ้น ไว้เป็นอนุสรณ์ตรงที่ชนช้างกับ พระยาเอฬาระทมิฬ องค์หนึ่ง แล้วให้สร้างพระมหาสถูปอันมีนามว่า “มริจิวัตรเจดีย์” ขึ้นที่เมืองอนุราธบุรีอีกองค์หนึ่ง เฉลิมพระเกียรติปรากฏสืบมากว่าพันปี"
สมเด็จพระ นเรศวร ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสถูปเป็นอนุสรณ์ไว้ในทุ่งหนองสาหร่าย ตรงที่ทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาองค์หนึ่ง แล้วทรงสร้างพระมหาสถูปขึ้นไว้ที่วัดป่าแก้ว ขนานนามว่า “ชัยมงคลเจดีย์” อีกองค์หนึ่ง (คือพระเจดีย์พระองค์ใหญ่ที่อยู่ทางฝ่ายตะวันออกทางรถไฟ แลเห็นเมื่อก่อนเข้าเขตพระนครศรีอยุธยา)”
นอกจากนั้น ยังมีอีกเหตุหนึ่งซึ่งคงจะเป็นเครื่องชักจูงพระราชหฤทัย ให้ทรงสร้างพระมหาสถูปนี้อยู่ไม่น้อย เมื่อพุทธศักราช ๒๑๑๒ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ตีได้กรุงศรีอยุธยาในรัชกาล สมเด็จพระมหินทราธิราช ครั้งนั้นไทยได้รับความเสียหายแสนสาหัส ข้อความในพระราชพงศาวดารแสดงให้เห็นความอัปยศนี้อยู่เป็นอย่างดียิ่ง
ในชัยชนะ ครั้งนั้น พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ได้ให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่แบบมอญขึ้น ไว้เป็นอนุสรณ์ที่วัดซึ่ง สมเด็จพระราเมศวรสร้างไว้นอกพระนครทางด้านเหนือ และให้เรียกพระเจดีย์นั้นว่า “ภูเขาทอง” เป็นเหตุให้ชาวบ้านเรียกวัดนั้นว่า “วัดภูเขาทอง”
ต่อมาพระเจดีย์ภูเขาทองนั้น นอกจากจะเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองแล้ว ยังเป็นเครื่องเตือนใจคนไทยทั้งปวง ให้ระลึกถึงความอัปยศอดสูในครั้งนั้นอีกด้วย
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาสถูปชัยมงคลที่วัดพระยาไทย มีขนาดสูงกว่าพระเจดีย์ภูเขาทอง ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นเครื่องล้างความอัปยศอดสูของชาติไทย และเป็นเครื่องให้เกิดกำลังใจแก่คนไทยทั้งชาติอีกด้วย นับว่าเป็นพระบรมราโชบายอันลึกซึ้ง และมีประโยชน์ต่อชาติไทยจนตราบทุกวันนี้
พระเจดีย์ชัยมงคล จึงนับเป็นปูชนียวัตถุอันสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของชาติไทย เพราะเป็นนิมิตรหมายของเอกราชของชาติ เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงความกล้าหาญเสียสละ ที่สมเด็จพระมหาวีรราชเจ้าและวีรบุรุษของชาวไทยได้มีมาในอดีต อันเป็นผลตกทอดมาถึงคนไทยทุกคนในปัจจุบันนี้ในวิถีแห่งชีวิตทุกทาง นอกจากนั้นยังเป็นเครื่องหมายแห่งชาวไทยทั้งมวล ที่ได้ร่วมมือกันกอบกู้เอกราชของชาติและธำรงไว้ซึ่งเอกราชนั้นตลอดมา เป็นสิ่งเตือนใจให้คนรุ่นหลังได้ทำกิจการงานทั้งปวงตามหน้าที่ของแต่ละบุคคล โดยสุจริตและความพากเพียร เพื่อให้ชาติไทยนั้นได้อยู่ได้โดยเสรีและเป็นปกติสุข
พระเจดีย์ ชัยมงคลนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ แห่งการอภัยทานของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อันเนื่องมาจากธรรมอันประเสริฐแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งได้มีอิทธิพลเหนือชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยมาแต่โบราณกาล จนเป็นวิสัยในจิตใจทั้งปวงถึงทุกวันนี้
พระเจดีย์ ชัยมงคล ซึ่ง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างขึ้นที่วัดใหญ่ชัยมงคลเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการที่ได้ทรงทำยุทธหัตถี ได้ชัยชนะแก่สมเด็จพระมหาอุปราชาแห่งพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๕ นั้น ประมาณว่ามีความสูงจากพื้นดินราว ๑ เส้น ๑๐ วาและชาวบ้านได้นำเอาชื่อวัดกับนามพระเจดีย์มาประกอบกันเรียกขานกันต่อมาว่า “วัดใหญ่ชัยมงคล” จนกระทั่งทุกวันนี้
ผู้สร้างวัดใหญ่ชัยมงคล
หลังจากที่วัดป่าแก้วได้ร้างลงเป็นเวลาร่วม ๒๐๐ ปี พระภิกษุฉลวย สุธมฺโม ได้นำพระภิกษุ สามเณร และแม่ชีจำนวนหนึ่งมาปฏิบัติธรรม ณ ที่แห่งนี้ จนกระทั่งท่านต้องการจาริกไปปฏิบัติธรรมยังที่อื่น จึงได้อาราธนา พระครูภาวนาพิริยคุณ ( เปลื้อง วิสฏฺโฐ ) เจ้าอาวาสวัดยม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้มาสานต่อการบูรณปฏิสังขรณ์ และดูแลพระชี
เมื่อ พระครูภาวนาพิริยคุณ ( ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูภาวนารังสี ) เข้าบูรณะวัดใหญ่ชัยมงคล จนได้รับการยกฐานะจากวัดร้างเป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ นั้น พระเจดีย์มีสภาพทรุดโทรมมาก เป็นเพราะการถูกทำลายเมื่อคราวเสียกรุง พ.ศ. ๒๓๑๐ ประการหนึ่ง เป็นเพราะคนไทยกันเอง ขุดคุ้ยทำลายเพื่อหาของมีค่าเป็นประโยชน์ส่วนตัวประการหนึ่ง
และอีกประการหนึ่งพระเจดีย์มีอายุถึง ๔๐๐ ปี จึงชำรุดทรุดโทรมจนเหลือกำลังของวัดที่จะเข้าแก้ไขให้คงอยู่ต่อไป เนื่องจากพระเจดีย์นั้นมีลักษณะคล้ายจะล้มครืนลงไม่วันใดก็วันหนึ่ง เมื่อฝนตกพายุพัดจะมีเสียงลั่นเป็นที่น่าวิตกยิ่ง
พระครูภาวนารังสี จึงได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนที่จะสายเกินไป
ปรากฏว่าอีกไม่นานต่อมากรมศิลปากรได้รับงบประมาณบูรณะปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมพระ เจดีย์ชัยมงคล และบริเวณวัดใหญ่ชัยมงคล เฉพาะในเขตพุทธาวาส ๒๐ ล้านบาทเศษ กรมศิลปากรได้สั่งช่างเข้าดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ จนงานได้แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕
ย้อนมองกลับหลัง
ภาพความยิ่งใหญ่ครั้งอดีต
สิ่งก่อสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่วัดใหญ่ชัยมงคล ได้ร่วมกับหลาย ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ นอกจากพระเจดีย์ชัยมงคลแล้ว ยังมีอีกหลาย ๆ สิ่งที่น่าสนใจศึกษา
ทางด้านทิศตะวันออกของพระเจดีย์ชัยมงคลทรงสร้างพระอุโบสถหลังใหญ่ยังมีซากให้เห็นอยู่จนทุกวันนี้ ได้แก่ ด้านเหนือพระอุโบสถปัจจุบัน มีผนังพระอุโบสถเดิม ก่อด้วยอิฐถือปูนหนาประมาณ ๔๐ ซม. เหลือซากให้เห็นอยู่ค่อนข้างสมบูรณ์แต่ก็ซวนเซเต็มที อาศัยความหนาจึงทรงตัวอยู่ได้ ผนังด้านทิศใต้เหลือซากผนังด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถเพียงเล็กน้อยนอกนั้นกลายเป็นอิฐหักกากปูนทับถมกันอยู่ ซึ่งทางวัดได้ขนย้ายไปถมที่ลุ่มหมดแล้ว ตัวพระอุโบสถที่เห็นในปัจจุบันเป็นพระอุโบสถที่กรมศิลปากรออกแบบ แล้วทางวัดสร้างซ้อนไว้ในซากพระอุโบสถหลังเดิม
ทางด้านทิศตะวันตกของพระเจดีย์ชัยมงคล มีวิหารหลวง ที่เรียกว่า “ศาลาดิน” ซึ่งยังเหลือซากตอนฐานล่วงไว้ให้เห็น เข้าใจว่า คงเป็นสถานที่สำหรับพระเจ้าแผ่นดินบำเพ็ญพระราชกุศล
ติดกับศาลาดินด้านใต้ยังมี “เกย” สำหรับเจ้านายใช้เป็นที่เสด็จขึ้นลงยานพาหนะ
วิหารหลวงอีกหลังหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระอุโบสถ ติดกับกำแพงวัดซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์นั้น เข้าใจว่า เดิมน่าจะสร้างขึ้นเป็นทำนอง พระที่นั่งทรงธรรม มากกว่าจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป เพราะภายในไม่ปรากฏว่ามีฐานชุกชีสำหรับตั้งพระพุทธรูป
นอกจากนี้ยังมี “มุขเด็จ” แบบมุขเด็จของพระมหาปราสาท ยื่นออกไปทางทิศใต้สำหรับเสด็จออก ให้ประชาชนเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอีกด้วย
“วัดเจ้าพระยาไท-ชัยมงคล หรือวัดป่าแก้ว มากลายเป็นวัดร้าง เมื่อพุทธศักราช ๒๓๐๙ พม่าข้าศึกยกพลมาประชิดพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระที่นั่งสุริยาตรมรินทร์โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพเรือออกจากพระนครไปตั้งอยู่ที่วัดป่าแก้ว ทัพเรือไทยเสียทีข้าศึกจับพระยาเพชรบุรีได้ฆ่าเสียแล้วก็แตกกลับมา
พม่ายึดเอาวัดเจ้าพญาไทเป็นฐานปฏิบัติการ วัดใหญ่เจ้าพญาไทชัยมงคล หรือวัดป่าแก้วก็ถึงกาลวิปโยค...ฉิบหายลงด้วยน้ำมือข้าศึกผู้มีรากฐาน อุปนิสัยใจคอมาจากโจรป่าด้วยประการฉะนี้”
ปัจจุบันวัดใหญ่ชัยมงคล หรือวัดเจ้าพญาไทชัยมงคล หรือวัดป่าแก้วเหลือแต่ซาก....
สิ่งเหล่านี้เองที่เหลืออยู่ให้เราศึกษา แต่ว่าอิฐทุกก้อน ปูนทุกชิ้นแม้จะแหลกราญอยู่กับพื้นดินก็ยังมีความรู้สึกท้าทายผู้ไปพบเห็น ที่แหล่งนี้ และเป็นที่ประกาศชัยชนะอันบันลือเกียรติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชให้ปรากฏไป ตราบกัลป์ปาวสาน"(ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์)
วัดใหญ่ชัยมงคลในปัจจุบัน
สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หากเปรียบวัดใหญ่ชัยมงคลเป็นคนสักคนหนึ่งแล้ว ช่วงแรก ที่หลวงปู่ฉลวย สุธมฺโม และ หลวงปู่พระครูภาวนารังสี ได้บุกบั่น ฝ่าฟัน ต่อสู้ จนวัดได้เป็นวัด คงจะเปรียบได้กับ เด็กทารกแรกเกิด ที่ต้องประคับประคอง ดูแลกันอย่างดี
จนปัจจุบัน ( พ.ศ. ๒๕๕๑ ) วัดใหญ่ชัยมงคล ที่ได้พระครูพิสุทธิ์บุญสาร ( แก่น ปุญฺญสมฺปนฺโน ) เป็นเจ้าอาวาส พระมหาสำรอง ชยธมฺโม และ พระมหาบรรณ์ ปญฺญาธโร เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส แม่ชีสมจิต ควรเลี้ยง เป็นหัวหน้าสำนักแม่ชี คงจะเปรียบได้กับคนหนุ่มที่มีกำลังวังชาดี มีความเข้มแข็งในทุก ๆ ด้าน เช่น
ด้านการพัฒนาวัตถุ วัดใหญ่ชัยมงคล ได้รับการยกย่องให้เป็น วัดพัฒนาตัวอย่าง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ และต่อมายังได้รับการยกย่องอีกว่าเป็น วัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น พ.ศ. ๒๕๔๗
ด้านการพัฒนาบุคคลากร วัดใหญ่ชัยมงคล ได้พัฒนาบุคคลากรพระภิกษุจนเป็นที่ยอมรับ เห็นได้ชัดจาก การที่พระภิกษุจากวัดใหญ่ชัยมงคล ได้รับการคัดเลือกให้ไปดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ ในเขต อำเภอพระนครศรีอยุธยา พร้อมกันถึง ๓ รูป ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑
ด้านการพัฒนาการศึกษาปริยัติธรรม วัดใหญ่ชัยมงคล มีการเรียนการสอนหลักสูตรพระปริยัติธรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรนักธรรม หลักสูตรธรรมศึกษา เป็นต้น
ด้านการพัฒนาจิตใจ วัดใหญ่ชัยมงคล รักษามาตรฐานการปฏิบัติธรรมตามแนวทางของหลวงปู่พระครูภาวนารังสี อดีตเจ้าอาวาส ที่เน้นในเรื่องของกิจวัตร และพระกรรมฐาน พร้อมทั้งเปิดกว้างให้ผู้ที่ใฝ่ในการปฏิบัติได้มาฝึกหัดขัดเกลาในขั้นเบื้องต้น จนที่สุด วัดใหญ่ชัยมงคลได้รับการคัดเลือกจากมหาเถรสมาคม ให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แห่งที่ ๓
ในวันข้างหน้า ไม่มีใครอาจทราบได้ว่าวัดใหญ่ชัยมงคลจะเป็นอย่างไร แต่แน่นอนว่าทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างประกอบกันเข้าเกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีวันรุ่งเรือง วันเสื่อม และวันสูญ วัดเจ้าพระยาไทย ในอดีตเคยรุ่งเรืองเป็นอันมาก แต่ก็ต้องเสื่อมสิ้นไปในที่สุด วัดใหญ่ชัยมงคล ก็คงไม่พ้นจากความจริงในข้อนี้ แต่ก่อนจะถึงวันนั้นอยากให้ทุกท่านมาร่วมกัน รับรู้ความยิ่งใหญ่ ของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ที่ตลบอบอวลอยู่ทุกอณูของวัดใหญ่ชัยมงคล

หมายเหตุ : บทความร้อยละเก้าสิบเก้า คัดมาจาก หนังสือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วัดใหญ่ชัยมงคล, เพิ่มศักดิ์ วรรยางกูร เรียบเรียง, อัมรินทร์พรินติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), พิมพ์ครั้งที่ ๑, ๒๕๔๘, หน้า ๑๓๐-๑๓๗.

พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ทางเข้ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

จะมีการกระทำดั่งภาพที่เห็นอีกนานแค่ไหน

พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

ภาพเขียน สึนามิ ใต้ฐานพระอุโบสถ์


เหตุ และผล ของการกระทำของมนุษย์ ที่มีต่อธรรมชาติ

พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

ภาพเขียน ใต้ฐานพระอุโบสถ์กลางน้ำ


ภาพเขียน นิรยะภูมิ

พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

ศาลาราย รอบพระอุโบสถ์กลางน้ำ มจร.ส่วนกลาง


ศาลาราย รอบพระอุโบสถ์กลางน้ำ ศาลาแต่ละหลังนั้น ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประจำวันเกิดครบทุกวัน

พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

พระอุโบสถ์กลางน้ำ มจร.ส่วนกลาง


พระอุโบสถ์กลางน้ำ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ สร้างไว้ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ส่วนกลาง


พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

พระพุทธไสยาส์น วัดใหญ่ชัยมงคล


พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

พระเจดีย์ราย วัดใหญ่ชัยมงคล



พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

พระพุทธรูปรอบๆ องค์พระเจดีย์ วัดใหญ่ชัยมงคล


พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

บานประตูพระอุโบสถ์ด้านขวา วัดใหญ่ชัยมงคล


พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

ภายในพระอุโบสถ์ วัดใหญ่ชัยมงคล


พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

พระพุทธไสยาส์น วัดใหญ่ชัยมงคล


พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

เริ่มต้น ณ ที่นี่


พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช


สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างวัดใหญ่ชัยมงคล ฉลองชัยชนะ
พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

ทัศนะศึกษา วัดใหญ่ชัยมงคล


พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ เนื่องในวโรกาศ เสด็จพระราชดำเนินเปิดป้ายมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันศุกร์ที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
พิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และพิธีเปิดมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยุธยา วันที่ ๒ – ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
ณ อาคาร มวก.๔๘ พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
คณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ พระนิสิต และพระสอนศีลธรรม ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค จำนวน ๒๐,๐๐๐ รูป/คน รับเสด็จฯ