วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

เสื้อเหลือง ม 1/2



พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

ม. 1/1



พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

การจองเวร


พระพุทธภาษิต :

น หิ เวเรน เวรานิ สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ
อเวเรน จ สมฺมนฺติ เอส ธมฺโม สนนฺตโน

คำแปล
ในกาลไหนๆ เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร นี่เป็นธรรมเก่า

อธิบายความ
การผูกเวร ก็เหมือนกับการผูกพยาบาท เมื่อต่างฝ่ายต่างผูกใจเจ็บกันอยู่ เวรก็ไม่สามารถระงับลงได้ แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลิกผูกเวรเสียด้วยการให้อภัยและแผ่เมตตาให้เสมอๆ เวรย่อมระงับลงได้ในเวลาไม่นาน การไม่ผูกเวรทำให้จิตใจเราสบาย เมื่อใดใจผูกเวร เมื่อนั้นมองไปไหนก็เห็นแต่ศัตรู แต่เมื่อใดใจของเราไม่มีเวรกับใคร มีแต่เมตตาปรานี เมื่อนั้น มองไปทางใดก็เจอแต่มิตร เพราะฉะนั้น พระเจ้าโกศล เมื่อให้โอวาทพระราชโอรส ทรงพระนามว่า ฑีฆาวุกุมาร จึงตรัสว่า

ฑีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่กาลยาว อย่าเห็นแก่กาลนั้น เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร นี่เป็นธรรมเก่า

เพราะฉะนั้น ผู้ฉลาด เพื่อความสบายใจของตนเอง จึงไม่ควรผูกเวรไว้กับใครๆ จงจำแต่ความดีที่ผู้อื่นทำแก่ตน แต่อย่าจำความร้ายที่เขาทำให้ เพราะมันไม่มีประโยชน์แก่จิตใจ

คำว่า อย่าเห็นแก่กาลยาว นั้น หมายความว่าอย่าผูกเวรเอาไว้ เพราะเวรยิ่งผูกก็ยิ่งยาว คำว่า อย่าเห็นแก่กาลสั้น นั้น หมายความว่า อย่ารีบด่วนแตกจากมิตร มีอะไรก็ค่อยๆ ผ่อนปรนกันไป ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจเข้าใจผิดก็ได้ อย่าด่วนลงโทษใครง่ายเกินไป และอย่ารีบแตกจากใคร ขอให้พิจารณาเสียร้อยครั้งพันครั้ง

----------------เรื่องยักษิณีชื่อกาลี---------------

ที่เมืองสาวัตถี มีเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เมื่อบิดาสิ้นชีพแล้วก็ทำงานด้วยตนเองทั้งในบ้านและนอกบ้าน เลี้ยงมารดาอยู่ มารดาสงสารเขาจึงบอกว่าจะนำหญิงคนหนึ่งมาให้เป็นภรรยา เพื่อจักได้แบ่งเบาภาระในบ้านไปเสียบ้าง แต่ลูกชายก็ห้ามเสียหลายครั้งหลายหน เขาบอกแม่ว่ายังไม่ต้องการ แต่ฝ่ายแม่ต้องการ จึงออกจากบ้านจะไปสู่ตระกูลหนึ่ง ลูกชายจึงว่า หากแม่จะไปนำหญิงมาให้ได้จริงๆ แล้ว ก็จงไปสู่สกุลที่ลูกชอบ เขาได้บอกชื่อสกุลให้มารดา

มารดาของเขาไปสู่ขอหญิงสกุลนั้นมาให้บุตรชายแล้ว แต่หญิงนั้นเป็นหมัน หญิงผู้มารดาจึงพูดกับบุตรว่า อันตระกูลที่ไม่มีบุตรย่อมขาดสูญ เพราะฉะนั้น แม่จะไปนำหญิงอีกคนหนึ่งมาให้ภรรยาของเจ้า บุตรชายกล่าวว่า อันการจะไปนำหญิงอื่นมาอีกคนหนึ่งนั้น ไม่จำเป็น แต่มารดาก็ยังพูดอยู่บ่อยๆ

หญิงสะใภ้ได้ยินบ่อยๆ จึงคิดว่า "ธรรมดาบุตรย่อมฝืนมารดาไปได้ไม่นาน อีกสักหน่อยก็คงยอมให้นำสตรีอื่นมา หากเธอมีลูก ตัวเราก็จะลดฐานะลงมาเป็นหญิงรับใช้ อย่ากระนั้นเลย เราควรจะจัดการหาหญิงนั้นเสียเอง เพื่อจักได้อยู่ใต้อำนาจของเรา"

นางคิดดังนี้แล้ว จึงไปนำหญิงอันคุ้นเคยกับเธอจากตระกูลหนึ่งมา

ทีแรกๆ ก็ดี แต่พอนานเข้า มีจิตริษยาบ้าง ด้วยความกลัวว่าตนจะตกต่ำ หากภรรยาน้อยมีลูกบ้าง นางจึงคิดทำลายครรภ์ของภรรยาน้อย นางได้สั่งไว้ว่า เมื่อใดมีครรภ์ขอให้บอกนางแต่เนิ่นๆ

ภรรยาน้อยพาซื่อ คิดว่าเขาหวังดีกับตัว พอตั้งครรภ์ก็บอก นางเมียหลวงจึงประกอบยาใส่ลงไปในอาหาร โดยทำนองนี้ ครรภ์ของภรรยาน้อยจึงตกไป แท้งถึง 2 ครั้ง

พอครั้งที่สาม ภรรยาน้อยไปปรึกษากับเพื่อน พวกเพื่อนๆ พูดเป็นทำนองให้เฉลียวใจถึงภรรยาหลวง นางจึงระวังตัว คราวนี้ไม่ยอมบอก พยายามถนอมจนครรภ์แก่ นางเมียหลวงไม่ได้ช่องที่จะผสมยาลงไปในอาหารได้ เพราะเขาระวังตัวอยู่ จนกระทั่งครรภ์แก่ นางจึงได้โอกาส แต่ครรภ์ไม่ตก เพราะแก่เสียแล้ว แต่กลับนอนขวาง

ภรรยาน้อยได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัสจนสิ้นชีวิต ก่อนสิ้นชีพได้อธิษฐานขอจองเวรกับหญิงนั้น นางตายแล้วไปเกิดเป็นแมวตัวเมียในเรือนนั่นเอง

ฝ่ายสามีของนาง รู้ว่าภรรยาหลวงประกอบยาทำลายครรภ์ของภรรยาน้อยถึง 3 ครั้ง โกรธจัด ประหารภรรยาหลวงเสียถึงตาย นางไปเกิดเป็นแม่ไก่

พอแม่ไก่ตกไข่ แมวก็ไปกินเสียถึง 3 ครั้ง แม่ไก่ผูกพยาบาท ขอให้ได้เกิดเป็นอะไรสักอย่างหนึ่งที่พอทำร้ายนางแมวได้ แม่ไก่ไปเกิดเป็นแม่เสือเหลือง ส่วนนางแมวไปเกิดเป็นแม่เนื้อ พอแม่เนื้อคลอดลูก แม่เสือเหลืองก็มากินเสียทุกครั้ง แม่เนื้อผูกพยาบาท ตายจากชาตินั้นไปเกิดเป็นนางยักษิณี แม่เสือไปเกิดเป็น
หญิงชาวบ้านธรรมดา เมื่อหญิงนั้นคลอดลูก นางยักษิณีก็ปลอมแปลงตัวเป็น
หญิงสหายของเธอ มากินลูกเสียทุกครั้ง

พอครั้งที่ 3 หญิงนั้นหนีไปคลอดลูกที่อื่น และนางยักษิณีก็ติดเข้าเวรส่งน้ำให้
ท้าวเวสสุวรรณเสียหลายเดือน พอออกเวรก็รีบมายังบ้านของหญิงนั้น ทราบว่า เธอไปคลอดลูกที่บ้านเดิม คือบ้านพ่อแม่ของนาง

ยักษิณี อันกำลังแห่งเวรให้อุตสาหะ แล้วรีบวิ่งไปยังบ้านนั้น เวลานั้น หญิงคู่เวรคลอดลูกแล้ว กำลังกลับมาพร้อมด้วยสามี มาถึงสระแห่งหนึ่งหน้าวัดเชตวัน สามีลงอาบน้ำในสระ นางยืนอุ้มลูกให้ดื่มนมคอยอยู่ เหลียวมาเห็นนางยักษ์กำลังวิ่งมาอย่างเร็ว จึงร้องตะโกนให้สามีขึ้นมาช่วย เมื่อเห็นว่าสามีจะขึ้นมาไม่ทัน นางยักษ์วิ่งมากระชั้นชิดแล้ว นางจึงอุ้มลูกวิ่งหนีเข้าวัดเชตวัน

เวลานั้น พระศาสดากำลังประทับแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัทในธรรมสภา เธอนำลูกไปวางไว้ใกล้บาทแห่งพระผู้มีพระภาค ละล่ำละลักทูลว่า "ขอได้โปรดเป็นที่พึ่งของเด็กคนนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า"

นางยักษ์วิ่งไล่ตามมาอย่างกระชั้นชิด พอถึงประตูวัดเชตวัน สุมนเทพ ผู้สิงอยู่ที่ซุ้มประตูไม่ยอมให้เข้า

พระศาสดา ทรงทราบเหตุการณ์ทั้งปวงโดยตลอด รับสั่งให้พระอานนท์
ไปนำนางยักษ์เข้ามา เมื่อหญิงนั้นเห็นนางยักษ์เข้ามาก็ตกใจกลัว ร้องขอให้พระศาสดาช่วย ศาสดาตรัสปลอบว่า

"อย่ากลัวเลย ณ ที่นี้ นางยักษ์จะทำอันตรายไม่ได้" ดังนี้ ตรัสกับนางยักษ์ว่า

"ดูก่อนยักษิณี และกุลธิดา เพราะเหตุไร เจ้าทั้งสองจึงจองเวรกันเช่นนี้ ถ้ามิได้พบพระพุทธเจ้าเช่นเรา เวรของเจ้าทั้งสองก็จะดำรงอยู่ชั่วกัปป์ เหมือนเวรของงูกับพังพอน หมีกับไม้สะคร้อ และ กากับนกเค้า เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร นี่เป็นธรรมเก่า"

พระศาสดาทรงยังพระธรรมเทศนาให้พิสดารโดยอเนกปริยาย ในการจบเทศนา นางยักษ์ได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นโสดาบัน เป็นผู้มีศีล 5 สมบูรณ์ พระศาสดารับสั่งให้หญิงนั้นส่งลูกให้ยักษิณี กุลธิดากราบทูลว่า เธอกลัว พระศาสดาตรัสว่าอย่ากลัวเลย อันตรายจากยักษิณีไม่มีแล้ว นางจึงส่งลูกให้, นางยักษ์รับเด็กมากอดจูบแล้วส่งคืนให้มารดา แล้วร้องไห้ พระศาสดาตรัสถามว่าร้องไห้ทำไม นางทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์! เมื่อก่อนนี้ ข้าพระพุทธเจ้า หากินโดยไม่เลือกทาง ก็ยังไม่สามารถหาอาหารมาให้พอเต็มท้องได้ บัดนี้ ต่อจากนี้ไป ข้าพระพุทธเจ้าจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร?"

พระศาสดารับสั่งให้หญิงนั้น นำนางยักษ์ไปเลี้ยงไว้ที่บ้าน ให้ข้าวและน้ำ กระทำอุปการะอย่างดี

ยักษิณีรู้อุปการะของหญิงนั้นแล้ว ช่วยบอกว่า ปีนี้ฝนจะตกมากให้ทำนาบนที่ดอน, ปีนี้ฝนจะตกน้อยให้ทำนาในที่ลุ่ม กุลธิดาได้ทำตามคำแนะนำของยักษิณี ได้ข้าวดีทุกปี

คนชาวบ้านทั้งหลายรู้ข่าวเข้าก็ชวนกันมาถามบ้าง ยักษิณีก็บอกให้ คนทั้งหลายได้นำข้าว น้ำ และผลไม้มาให้ยักษิณีเป็นการตอบแทน ทั้งสองฝ่ายต่างมีอุปการะซึ่งกันและกันด้วยประการฉะนี้

เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวี แต่ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ดังพรรณนามาฉะนี้

หมายเหตุ : ลำดับชาติที่ทั้งสองจองเวรกัน เมียน้อย-นางแมว-นางเนื้อ-นางยักษ์
เมียหลวง-นางไก่-นางเสือเหลือง-กุลธิดา

พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

นิทานเสริม


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในอาณาจักรอันกว้างใหญ่ มีเจ้าหญิงองค์หนึ่ง ในบรรดาเจ้าหญิงหลายองค์ นางไม่ได้รูปงามเช่นเจ้าหญิงองค์อื่นๆ นางมีรูปลักษณ์ธรรมดานี่เอง แต่ด้วยจิตใจอันดีงาม ทำให้นางเป็นที่รักของประชาชน ความไม่เย่อหยิ่ง ความไม่ถือตัว มีน้ำใจ รอยยิ้มแจ่มใสของนางมัดใจประชาชนได้ง่ายดายมีชายมากมายในเมืองที่ทั้ง รูปงาม กล้าหาญ เก่งกาจ ฉลาด ชาติตระกูลดีมาชอบนาง แต่นางก็ปฏิเสธสิ้น เพราะหัวใจนาง มีไว้เพื่อเขาผู้นั้น...

เขาผู้นั้นคือนักดนตรีประจำราชสำนักคนหนึ่งที่ไม่ได้หล่อเหลาหรือเก่งโดดเด่นอะไร เขาเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งนี่เอง แต่คนธรรมดาคนหนึ่งในหมู่คนพิเศษ เขาก็โดดเด่นขึ้นมาชายรอบตัวนาง มีมารยาท

ชายรอบตัวนาง มีมารยาทอันงดงามสูงส่ง จนอาจจะเกินไป ซึ่งมันทำให้นางอึดอัด มีสติปัญญาที่เฉลียวฉลาดจนเกินไป ทำให้นางรู้สึกโง่เง่าเมื่อตามบทสนทนาไม่ทัน เก่งกาจเกินไปจนนางรู้สึกด้อยค่า กล้าหาญเกินไปจนนางรู้สึกกลัวว่าเขาเหล่านั้นจะตายไปด้วยเหตุผลงี่เง่า เช่นการไปหาองุ่นทองนอกฤดูกาล ทั้งๆที่นางไม่ต้องการ และที่สำคัญ...เขาเหล่านั้นมีความเป็นผู้นำมากจนเกินไป เขาประสงค์ให้นางตามรอยเท้าเขาทุกฝีก้าว ซึ่งนางไม่ประสงค์เลย

แต่สำหรับนักดนตรีผู้นี้ เขาเป็นคนที่ทำให้นางมีความสุขได้ เพราะเขาไม่ต้องใช้ช้อนสามอย่างในการกินอาหารสามชนิด เขาคุยเรื่องสบายๆด้วยท่าทางน่าสนใจ และเข้าใจได้ เขาเป็นนักเรียนที่ดีในเรื่องที่เขาต้องการเรียนรู้ และเป็นครูที่ดีในเรื่องที่นางต้องการเรียนรู้ เขาไม่ทำอะไรเสี่ยงอันตรายเพราะคิดว่าไม่คุ้มชีวิต และเขาไม่เคยเห็นนางเป็นผู้ตาม

แต่ทว่า....

นางมิอาจหยั่งรู้ว่าเขารักนางหรือไม่ ในสายตาเขา นางอาจเป็นเพียงเจ้าหญิงองค์หนึ่งที่มาฟังดนตรีและสนทนายามว่างเท่านั้น
พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

ยอดหญิงกตัญญู


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภหญิงชาวชนบทคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้

ความพิสดารว่า ในแคว้นโกศล มีคน ๓ คน ไถนาอยู่ที่ปากดงแห่งหนึ่ง ในสมัยนั้น พวกโจรในดง คุมพวกปล้นหมู่มนุษย์ แล้วพากันหนีไป พวกมนุษย์สืบจับโจรพวกนั้น เมื่อไม่พบ จึงตามมาจนถึงที่นั่น กล่าวว่า พวกเจ้าเที่ยวปล้นเขาในดงแล้ว เดี๋ยวนี้แสร้งทำเป็นชาวนา จับคนเหล่านั้น ด้วยสำคัญว่า พวกนี้เป็นโจร นำมาถวายพระเจ้าโกศล

ครั้งนั้นมีหญิงคนหนึ่ง มาร่ำไห้ว่า โปรดพระราชทานเครื่องนุ่งห่มแก่หม่อมฉันเถิด เดินวนเวียนพระราชนิเวศน์ไป ๆ มา ๆ พระราชาทรงสดับเสียงของนางแล้ว รับสั่งว่า พวกเจ้าจงให้ผ้าห่มแก่นาง พวกราชบุรุษ พากันหยิบผ้าสาฎกส่งให้ นางเห็นผ้านั้นแล้วกล่าวว่า ดิฉันไม่ได้ขอพระราชทานผ้านี้ดอก ดิฉันขอพระราชทานเครื่องนุ่งห่มคือสามี พวกมนุษย์พากันไปกราบบังคมทูลแด่พระราชาว่า พระเจ้าข้า นัยว่าหญิงผู้นี้มิได้พูดถึงผ้านุ่งห่มนี้ นางพูดเครื่องนุ่งห่มคือสามี พระราชาจึงรับสั่งให้นางเข้าเฝ้า มีพระราชดำรัสถามว่า ได้ยินว่าเจ้าขอผ้าคือสามีหรือ ? นางกราบทูลว่า เพคะ พระองค์ผู้สมมติเทพ สามีชื่อว่าเป็นผ้าห่มของสตรีโดยแท้ เพราะเมื่อไม่มีสามี แม้สตรีจะนุ่งผ้าราคาตั้งพันกระษาปณ์ จะต้องชื่อว่าเป็นหญิงเปลือยอยู่นั่นเอง เพคะ

พระราชาทรงเลื่อมใสนาง รับสั่งถามว่า คนทั้ง ๓ เหล่านี้ เป็นอะไรกับเจ้า ?

นางกราบทูลว่า ขอเดชะข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ คนหนึ่งเป็นสามี คนหนึ่งเป็นพี่ คนหนึ่งเป็นบุตร เพคะ

พระราชารับสั่งถามว่า เราพอใจเจ้า ในคน ๓ คนนี้ เราจะยกให้เจ้าคนหนึ่ง เจ้าปรารถนาคนไหนเล่า ?

นางกราบทูลว่า ขอเดชะ พระกรุณาเป็นล้นพ้น เมื่อหม่อมฉันยังมีชีวิตอยู่ สามีคนหนึ่งต้องหาได้ แม้บุตรก็ต้องได้ด้วย แต่เพราะมารดาบิดาของหม่อมฉันเสียชีวิตแล้ว พี่ชายคนเดียวหาได้ยากเพคะ จงโปรดพระราชทานพี่ชายแก่กระหม่อมฉันเถิด เพคะ พระราชาทรงยินดีแล้ว โปรดให้ปล่อยไปทั้ง ๓ คน เพราะอาศัยหญิงนั้นผู้เดียว คนทั้ง ๓ จึงพ้นจากทุกข์ได้ ด้วยประการฉะนี้

เรื่องนั้นรู้กันทั่วในหมู่ภิกษุ อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายประชุมกันในโรงธรรม นั่งสนทนาสรรเสริญคุณของหญิงนั้นว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย อาศัยหญิงคนเดียว คน ๓ คน พ้นทุกข์หมด พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรเล่า ? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่หญิงผู้นี้จะปลดเปลื้องคนทั้ง ๓ ให้พ้นจากทุกข์ ถึงแม้ในปางก่อน ก็ปลดเปลื้องแล้วเหมือนกัน ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี คนทั้ง ๓ พากันไถนาอยู่ที่ปากดง ดังนี้ ต่อนั้นไป เรื่องทั้งหมดก็เหมือนกับเรื่องข้างต้นนั่นแหละ (แต่ที่แปลกออกไป มีดังนี้) : เมื่อพระราชาตรัสถามว่า ในคนทั้ง ๓ เจ้าต้องการ ใครเล่า ? นางกราบทูลว่า ขอเดชะพระบารมีเป็นล้นพ้น พระองค์ ไม่สามารถจะพระราชทานหมดทั้ง ๓ คน หรือ เพคะ ? พระราชาตรัสว่า เออเราไม่อาจให้ได้ทั้ง ๓ คน นางกราบทูล ว่าขอเดชะพระกรุณาเป็นล้นพ้น แม้นไม่ทรงสามารถพระราชทาน ได้ทั้ง ๓ คนไซร้ ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานพี่ชายแก่หม่อมฉัน เถิด เจ้าต้องการพี่ชาย เพราะเหตุไรๆ ? จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ พระบารมีล้นเกล้า ธรรมดาคนเหล่านี้หาได้ง่าย แต่พี่ชาย กระหม่อมฉันหาได้ยากเพคะ

พระราชาทรงพระดำริว่า นางนี้พูดจริง ดังนี้แล้วมีพระทัยยินดี แล้วโปรดให้นำคนทั้ง ๓ มาจากเรือนจำ พระราชทานให้นางไป นางจึงพาคนทั้ง ๓ กลับไป.

พระบรมศาสดาก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในครั้งก่อน นางก็เคยช่วยคนทั้ง ๓ นี้ให้พ้นจากทุกข์แล้วเหมือนกัน ดังนี้ ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า คนทั้ง ๔ ในอดีตได้มา เป็นคนทั้ง ๔ ในปัจจุบัน ส่วนพระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

อย่าอยู่อย่างอยาก

๐ ชีวิตยังหายใจอยู่สู้หรือถอย
ป่วยการคอยทวนทบคำรพหนึ่ง
โหดเลวดีหรือร้ายไม่คำนึง
รอวันซึ่งกายลับกลับสู่ดิน

๐ ทิ้งความดีเด่นดังเคยพลั้งพลาด
รอยอาฆาตแค้นเคืองเรื่องหยามหมิ่น
ทุ่มเวลาที่เหลือเพื่อแผ่นดิน
ฝึกให้ชินกับต้นตอความพอเพียง

๐ กอบความสุขสอดใส่เติมไฟฝัน
เก็บรางวัลที่ขาดหายไม่ฟังเสียง
ชูธรงธรรมนำทางต่างตะเกียง
ลดละเลี่ยงสิ่งเร้าเย้ายวนใจ

๐ กายที่เห็นใจที่เป็นใช่เนลับ
เพียงแต่ปรับวิถีชีวิตใหม่
หยุดกินอยู่อย่างอยากก่อนจากไป
ฝากใครใครให้จำจดเป็นบทเรียน
พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

อุดมการณ์แห่งชีวิต

๐ อุดมการณ์กับความจนบนความอยาก
เป็นสิ่งอยากจะเสพสมอารมณ์ฝัน
อยากทำตามความคิดให้เร็วพลัน
มักมีสิ่งขวางกั้นให้สั่นคลอน

๐ ขาดความพร้อมขาดพื้นฐานสานจังหวะ
โอกาสเห็นจะจะยังหลุดถอน
วัยล่วงผ่านความคิดชักริดรอน
คอยบั่นทอนความแข็งกล้าให้ช้าลง

๐ ผ่อนความคิดใช้ชีวิตแบบเรียบเรียบ
อย่าไปเหยียบทางเก่าเดี๋ยวเราหลง
สิ่งไหนทำไม่ได้เดี๋ยวค่อยปลง
ทำวันนี้ให้เล็กลงกว่าวันวาน

๐ สัมผัสตนค้นชีวิตอย่าคิดหนัก
มองตัวเองเป็นหลักอย่าฟุ้งซ่าน
มีชีวิตเรียบง่ายให้กับงาน
อุดมการณ์จะสดใสใหญ่กว่าเดิม
พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

สัมมนาพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ณ มณฑลพิธีวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร


วันพุธ ที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๓
เวลา ๐๘.๓๐ น. พิธีเปิดการสัมมนา
โดย พระธรรมโกศาจารย์ เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส เจ้าคณะภาค ๒ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
บรรยายพิเศษเรื่อง นโยบายการศึกษาคุณธรรมนำความรู้ และบรรยายเรื่อง การศึกษาเพื่อสันติสุขของสังคมไทย

๑๓.๑๐ น. เวทีสานเสวนาเรื่อง บ ว ร กับการพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำให้ยั่งยืน
โดย ๑. พระปัญญานันทมุนี เจ้าอาวาสวัดปัญญานันทาราม
๒. ดร.บรรเจิดพร สู่แสนสุข รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาวัตกรรมการจัดการศึกษา
๓. นายพรหมา สิงหามาตย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกสว่าง อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย
ดำเนินรายการโดย คุณแทนคุณ จิตต์อิสระ พิธีกร/นักแสดง

เวลา ๑๕.๐๐ น. แบ่งกลุ่มสัมมนา ๓ กลุ่ม
- กลุ่มที่ ๑ เรื่อง บทบาทพระสงฆ์กับการพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ วิทยากรโดย พระครูศรีวรพินิจ ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขตพะเยา
- กลุ่มที่ ๒ เรื่อง บ ว ร สามประสานเพื่อพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำให้ยั่งยืน วิทยากรโดย พระปลัดอุดร อุตฺตรเมธี ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขตแพร่
- กลุ่มที่ ๓ เรื่อง ความสามารถของพระสอนศีลธรรมกับปัญหาศีลธรรมของเด็กและเยาวชนในสังคมไทย วิทยากรโดย พระครูสังฆรักษ์สมจิต พุทฺธวิริโย ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ วิทยาเขตนครราชสีมา
พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

ศาสนพิธี

 

นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่1 ถวายสังฆทาน เป็นพิธีกรรมหนึ่งในพระพุทธศาสนา

พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
Posted by Picasa