วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2554

พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ออกพรรษา (ภาคอิสาน ปราสาทผึ้ง)


ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง
ออกวัสสา หรือ ออกพรรษา คือวันสุดท้ายของเทศกาลเข้าพรรษา จะตรงกับวันขึ้น ๑๕ เดือน ๑๑ ในวันนี้ ทางสงฆ์จะจัดพิธีเรียกว่า วันมหาปวารณา แปลว่า อนุญาตหรือยอมให้พระแต่ละรูปสามารถว่ากล่าวถึงข้อที่ผิดพลาดล่วงเกินระหว่าง ที่จำพรรษาอยู่ด้วยกัน เทศกาลออกพรรษา มีหลายจังหวัดทางภาคอีสานที่จัดงานแห่ปราสาทผึ้งขึ้น แต่ที่นับว่าเป็นต้นตำรับและมีความยิ่งใหญ่กว่าที่ใด คือจังหวัดสกลนคร
หลายคนรู้จักคุ้นเคยกับปราสาทผึ้งดี แต่อาจจะไม่รู้ที่มา ที่มาของปราสาทผึ้งก็คือ ระหว่างที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษา ณ ปารักขิตวัน ใกล้บ้านปาริไลยยกะ (ป่าเลไลยก์) ในพรรษาที่ 9 โดยช้างปาริไลยกะกับลิงเป็นผู้อุปัฏฐาก ไม่มีมนุษย์อยู่เลย ตลอด ๓ เดือน ช้างจัดน้ำ และผลไม้ถวาย ลิงนำรวงผึ้งมาถวาย เมื่อพระองค์ทรงรับแล้วก็เสวย ลิงเห็นก็ดีใจมาก ขึ้นไปจับกิ่งไม้เขย่ากิ่งไม้หักตกลงมา ตอไม้เสียบอกลิงตายไปเกิดเป็นเทพบุตรวิมาน
ครั้นถึงวันออกพรรษา พระพุทธเจ้าเสด็จสู่เมืองโกสัมพี ช้างคิดถึงพระพุทธเจ้ามาก หัวใจแตกตาย ไปเกิดเป็นเทพบุตรในวิมาน พระพุทธเจ้าทรงนึกถึงความดีของช้าง และลิง ที่เฝ้าอุปัฏฐากตลอดพรรษา ๓ เดือน จึงทรงนำเอาผึ้งรวงมาเป็นดอกไม้ประดับในโครงปราสาท เป็นปราสาทที่เกิดขึ้นในจินตนาการของผู้ที่มารับ ระหว่างเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
อาจารย์ประสิทธิ์ คะเลรัมย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เล่าว่า การทำปราสาทผึ้งในอีสาน นิยมทำกันมาแต่โบราณ ด้วยเหตุผลหรือคติที่ว่า เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อตั้งความปรารถนาไว้ หากเกิดในภพมนุษย์ขอให้มีปราสาทราชมณเฑียรอาศัยอยู่ด้วยความมั่งมีศรีสุข ถ้าเกิดในสวรรค์ขอ ให้มีปราสาทสวยงาม มีนางฟ้าแวดล้อมเป็นบริวาร เพื่อรวมพลังสามัคคีทำบุญทำกุศลร่วมกัน พบปะ สนทนากันฉันพี่น้อง เพื่อเป็นการประกาศหลักศีลธรรม ทำบุญทำกุศล

ประวัติและความเป็นมาของปราสาทผึ้ง
ในอดีตการทำปราสาทผึ้งโบราณ เรียกว่า "ต้นผึ้ง" หรือ "ต้นเผิ่ง" ทำ โดยเอากาบของต้นกล้วยมาทำเป็นโครงจากนั้นก็ทำเอาดอกผึ้ง ที่ชาวบ้านจะนำขี้ผึ้งใส่ถ้วยหรือขัน ลงลอยในน้ำร้อนที่ตั้งไฟอ่อน ๆ ให้ขี้ผึ้งละลาย แล้วใช้ผลมะละกอดิบ มาปอกเปลือกตรงส่วนก้น ให้มีความเว้าคล้ายกลีบดอกไม้ จุ่มลงในขี้ผึ้งที่ละลายแล้ว ก่อนยกลงจุ่มในน้ำเย็น ดอกผึ้งก็จะหลุดล่อนออกมา ซึ่งทำได้หลายสีสัน โดยใช้ขี้ผึ้งสีต่างๆ กัน เช่น ขาว เหลืองอ่อน เหลืองเข้ม เหลืองแสด ฯลฯ เอาดอกผึ้งไปตกแต่งปราสาท ก็จะใช้ไม้กลัดเสียบดอกบานไม่รู้โรย วางลงตรงกลางดอกผึ้งเป็นเหมือนเกสรดอกไม้

รูปทรงของปราสาทผึ้ง
รูปทรงของปราสาทผึ้งโบราณจะสร้าง ขึ้นจากโครงไม้ไผ่ ตกแต่งด้วยหยวกกล้วยที่แทงเป็นลวดลายหรือ รูปทรงต่าง ๆ เช่น ทรงตะลุ่ม ทรงหอมียอดประดับหลังคา ทรงสิมหรืออุโบสถแบบอีสาน เป็นต้น

กำหนดเขตเทศกาลปราสาทผึ้ง
ส่วนเทศกาลปราสาทผึ้ง กำหนดเอาวันเทศกาลออกพรรษาเป็นวันจัดงาน วันแรกแข่งเรือ วันที่สองแห่ปราสาทผึ้ง วันที่สามทำบุญออกพรรษา กลางคืนมีการสมโภชตามสมควร ในวันออกพรรษา หลังจากที่ได้มีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้าเรียบร้อยแล้ว ก็จะเริ่มจัดขบวนแห่ปราสาทผึ้ง มีปราสาทผึ้งและเทพีนั่งอยู่บนรถขบวน มีการฟ้อนรำของชาวบ้านและเหล่าสาวงาม เหล่าผู้เฒ่าผู้แก่และคนหนุ่มสาวชาวคุ้มต่างๆ จะร่วมเดินในขบวน ถือธูปเทียนแห่รอบพระธาตุเชิงชุม ทำใจให้เป็นสมาธิถวายเป็นพุทธบูชา
นอกจากจะเห็นความยิ่งใหญ่ของขบวนแห่ประสาทผึ้งที่สวยงานตระการตาแล้ว ยังจะได้ชมการแสดงรำหางนกยูง การแสดงมวยไทยโบราณ การแสดงชนเผ่าย้อ ชนเผ่าลาว ชนเผ่าภูไท ชนเผ่าโย้ย กระเลิง เผ่าโล้ ซึ่งแต่ละเผ่าจะมีเอกลักษณ์ของตัวเอง และจะหาดูไม่ได้ง่ายๆ แล้วในปัจจุบัน

************************
พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

ออกพรรษา (ภาคใต้ ลากพระ (ชักพระ) )

หลักการและเหตุผล
ลากพระเป็นพิธีบุญอย่างหนึ่งของชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีและชาวปักษ์ใต้ที่กระทำสืบต่อกัน มาตั้งแต่โบราณกาล จนกระทั่งปัจจุบันนี้ สำหรับจังหวัดสุราษฎร์ธานีถือว่า ประเพณีนี้มีความสำคัญและยิ่งใหญ่กว่าประเพณีใด ๆ ที่จัดขึ้นในจังหวัดทั้งสิ้น โดยเฉพาะที่อำเภอเมืองจะมีลากพระบกและพระน้ำ กำหนดการลากพระ คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปีเป็นวันที่พระสงฆ์ ออกพรรษา หรือที่เรียกว่า "วันปวารณา"
ระยะเวลา
ช่วงเวลา วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑
พิธีกรรม
ก่อนการลากพระ ๑๐-๑๕ วัน ชาวบ้านและชาววัดจะช่วยกันจัดเตรียมทำเรือพระสำหรับที่จะลากกันอย่างหรูหราข้างบนทำเป็นบุษบกสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ในช่วงเวลาก่อนถึงวันชักพระนี้จะมีการ "คุมโพน" หรือ "คุมพระ" คือการประโคม ฆ้อง กลอง ตะโพน เพื่อเป็นการซ้อมหรืออุ่นเครื่อง และเป็นการสร้างบรรยากาศอันคึกคักให้ชาวบ้านได้เตรียมตัวสำหรับกาลอันสำคัญนี้เรือพระบกแต่เดิมจะมีตัวไม้ใหญ่ ๒ อัน วางรองเป็นที่สร้างบุษบก การลากพระจึงเป็นการลากจริง ๆ
ปัจจุบันใช้รถยนต์แทน การลากพระบกจะลากผ่านหมู่บ้าน จากวัดหนึ่งไปยังอีกวัดหนึ่ง หรือไปยังที่ชุมนุมเรือพระ ส่วนเรือพระน้ำจะทำเป็นแพโดยใช้เรือ ๑-๓ ลำ เป็นที่ตั้งของแพสำหรับลากไปในแม่น้ำลำคลองหรือทะเลในวันชักพระ คือวันแรม๑ค่ำ เดือน ๑๑ ตอนเช้าตรู่ชาวบ้านจะพากันไปทำบุญตักบาตรหน้าเรือพระ
เมื่อพระสงฆ์ฉันภัตตาหารแล้วจะเริ่มชักพระไปสู่ที่ชุมนุมเรือพระ ในอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีเรือพระจะมาชุมนุมกันที่ริมแม่น้ำตาปี บริเวณท่าเรือเกาะสมุย เมื่อพระสงฆ์ฉันเพลแล้วจะมีการ "ซัดต้ม" ซึ่งเป็นเกมการแข่งขันปากันด้วยต้ม นอกจากนั้นในจังหวัดนี้ยังมีการ "แข่งเรือ" ตามปกติเรือพระจะกลับวัดในตอนเย็นของวันชักพระ แต่สำหรับในจังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังจากมีการสมโภช ๑ คืนแล้ว เรือพระจะยังคงอยู่เพื่อให้ชาวบ้านไปทำบุญ ๓-๔ วัน จึงจะกลับวัด

********************
พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

ออกพรรษา (ภาคเหนือ ตานก๋วยสลาก เดือน ๑๐,๑๑)

หลักการและเหตุผล
การตานก๋วยสลาก (สลากภัตต์) จะเริ่มในราววันเพ็ญเดือน ๑๒ เหนือและสิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ ( เดือนตุลาคม) ก่อนวันทำพิธี “ตานก๋วยสลาก” ๑ วัน เรียกว่า “วันดา” เป็นวันจัดเตรียมสิ่งของเครื่องไทยทาน พวกผู้ชายก็จะจัดการจักตอกสาน “ก๋วย” ไว้หลาย ๆ ใบ บางครอบครัวอาจจะทำหลายสิบลูกแล้วแต่ศรัทธา ทางฝ่ายหญิงก็จะจัด เตรียมห่อจอกระจุกกระจิก เช่น ข้าวสาร พริก หอม กระเทียม เกลือ กะปิ ปลาร้า ขนมข้ามต้ม และอาหาร เช่นห่อหมก สีย้อมผ้า ผลไม้ต่างๆ เครื่องใช้สอยต่างๆ ตามแต่ศรัทธาและฐานะ
สิ่งของต่างๆ เหล่านี้จะบรรจุลงในก๋วยซึ่งกรุดด้วยใบตองหรือกระดาษสีต่างๆ แล้วนำ “ยอด” คือ สตางค์หรือ ธนบัตรผูกติดไม้เรียวเสียบไว้ เช้าวันรุ่งขึ้นในวันทานสลาก จะใช้เด็ก ลูกหลานเอาเสื่อไปปูที่ลานวัด หรือตามศาลา บาตร และเอา “ก๋วยสลาก” ไปวางเรียงไว้เป็นแถว ๆ ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะจัดเตรียมขัน ( พาน ) เข้าตอก ดอกไม้ ธูป เทียนไปวัด ส่วนมากไปกันเกือบหมดทั้งครอบครัว เพราะถือว่าการตานนี้มีอานิสงส์มาก และจะได้ช่วยกันเอา “ก๋วยสลาก”ไปถวายพระในเวลามีการเรียก “เส้นสลาก” ผู้เป็นเจ้าของ “ก๋วยสลาก” จะต้องเอาใบลานหรือกระดาษมาตัดเป็นแผ่นยาว ๆ จารึกชื่อเจ้าของไว้ และบอกด้วยว่าอุทิศส่วนกุศลนั้นให้ใครบ้าง
การ “ตานก๋วยสลาก”นี้มิได้จัดทำเฉพาะหมู่บ้านเท่านั้น บางทีหลายๆหมู่บ้านจะรวมกันทำที่วัดใดวันหนึ่งในตำบลนั้น แต่ต้องเป็นวัดใหญ่และเป็นวัดเก่าแก่เพราะถือกันอยู่ว่า วัดที่สร้างขึ้นใหม่จะมีงานตานก๋วยสลากก่อนวัดเก่าไม่ได้ และวัดเล็กๆ ก็มักจะไปทำรวมกับวัดใหญ่ เพื่อตัดความยุ่งยากในการจัดงานและการเตรียมอาหารเลี้ยงพระสงฆ์ สามเณรที่มาร่วมในงาน
ประเพณีตานก๋วยสลาก คือ การทำบุญสลากภัตรในล้านนาไทย มีเรียกชื่อแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นบางแห่งว่า “กิ๋นก๋วยสลาก”บางแห่ง “กิ๋นสลาก” บางแห่งว่า “ตานก๋วยสลาก”ในความหมายเป็นอย่างเดียวกันสำหรับวิธีการทำบุญมีแตกต่างกันไปตามความนิยมในท้องถิ่นของตน

ทรงยกย่องพระโกณฑธานเถระ
ประเพณีกิ๋นก๋วยสลาก หรือทานสลากนี้เป็นประเพณีเก่าแก่ที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่พุทธสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังคงพระชนม์อยู่ ปรากฏในพระธรรมบทขุททกนิกายว่า “พระพุทธองค์สรรเสริญพระสาวกอรหันต์ของพระองค์คือ พระโกณฑธานเถระ ซึ่งเป็นผู้มีโชคดีในการจับสลากได้ที่หนึ่งทุกครั้งแม้พระพุทธเจ้าก็สู้ไม่ได้ พระสาวกทั้งหลายมีความสงสัยว่า ทำไมท่านจึงมีความโชคดีเช่นนั้น พระพุทธเจ้าตรัสบอกแก่ภิกษุสงฆ์ทั้งมวลว่า โกณฑธานเถระ ปรารถนาว่า ถ้าเลือกอะไร แข่งขันอะไร ขอให้ได้ที่หนึ่งเสมอ ดังนั้น ในชาตินี้โกณฑธานเถระ จึงเป็นผู้โชคดีอยู่ตลอด

ประวัติความเป็นมา
ในสมัยพุทธกาล ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับ ณ พระเชตะวันมหาวิหารนั้น วันหนึ่งนางกุมารีผู้หนึ่งได้อุ้มลูกชายวิ่งหนีนางยักขินีผู้มีเวรต่อกันหลายชาติแล้ว ติดตามมาจะทำร้ายลูกของนาง นางเห็นจวนตัวจะวิ่งหนีไปที่อื่นไม่ได้ จึงพาลูกวิ่งเข้าไปในพระเชตวัน เข้าไปในพระวิหารขณะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ นางเอาลูกน้อยวางแทบพระบาทแล้วกราบทูลว่า “ข้าแด่พระองค์ผู้เจริญ ขอทรงโปรดเป็นที่พึ่งแก่ลูกชายของหม่อมฉันเถิดพระเจ้าข้า” พระพุทธเจ้าหยุดพฤติกรรมที่จองเวรของนางกุมาริกา และนางยักษ์ขินีด้วยการตรัสคำสอนว่า “เวรย่อมไม่ระงับด้วยเวร เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ธรรมนี้เป็นของโบราณ ” แล้วทรงให้นางทั้งสองเห็นผิดชอบชั่วดี นางยักษ์ขินีรับศีล ๕ แล้วนางก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น กราบทูลพระพุทธเจ้าว่านางไม่รู้จะไปทำมาหากินอย่างไรเพราะรักษาศีลเสียแล้ว นางกุมาริกาจึงรับอาสาจะพานางไปอยู่ด้วย นางได้รับอุปการะจากนางกุมาริกาหลายประการ นึกถึงอุปการะอยากจะตอบแทนบุญคุณ จึงเป็นผู้พยากรณ์บอกกล่าวเรื่อง อุตุนิยมวิทยา คือ บอกให้นางกุมาริกาทำนาในที่ดอนในปีฝนมาก ทำนาในที่ลุ่มในเวลาฝนแล้ง นางกุมาริกาได้ปฏิบัติตามทำให้ฐานะร่ำรวยขึ้นยิ่งกว่าคนอื่น ๆ ในระแวกนั้น คนทั้งหลายมีความสงสัยจึงมาถามหานางกุมาริกาว่าเป็นอย่างไร ได้รับคำตอบว่า นางยักษ์ขินีเป็นผู้บอกกล่าวให้ คนทั้งหลายจึงพากันไปหานางขอบอกให้อย่างเดียวกับนางกุมาริกา คนทั้งหลายได้รับอุปการะจากนางยักษ์ขินีจนมีฐานะร่ำรวยไปตาม ๆ กัน ด้วยความสำนึกในบุญคุณ จึงพากันนำเอาเครื่องอุปโภคบริโภคอาหารการกินเครื่องใช้สังเวยอยู่เป็นอันมาก ข้าวของที่สำนักนางยักษ์ขินีจึงมีมากเหลือกินเหลือใช้ นางจึงนำมาทำเป็นสลากภัตร โดยให้พระสงฆ์กระทำการจับตามเบอร์ด้วยหลักของอุปโลกนกรรม คือ ของที่ถวายมีทั้งของมีราคามาก ราคาน้อย พระสงฆ์องค์ใดได้ของมีค่าน้อยก็อย่าเสียใจ ให้ถือว่าเป็นโชคของตนดีหรือไม่ดี การถวายแบบจับสลากของนางยักษ์ขินีนี้นับเป็นครั้งแรกแห่งประเพณีทำบุญสลากภัตร หรือทานสลากในพระพุทธศาสนา

ค่านิยมในการตานก๋วยสลาก
• ประชาชนว่างจากภารกิจการทำนา
• ผลไม้ เช่น ส้มโอ , ส้มเขียวหวาน , ส้มเกลี้ยง , กำลังสุก
• ประชาชนหยุดพักไม่เดินทางไกลเพราะเป็นฤดูฝน
• พระสงฆ์จำพรรษาอยู่อย่างพรักพร้อม
• ได้โอกาสสงเคราะห์คนยากจนเป็นสังคหทาน
• ถือว่ามีอนิสงฆ์แรง คนทำบุญสลากมักจะมีโชคลอยมา
• มีโอกาสหาเงินและวัสดุบำรุงวัด
ด้วยเหตุผล ๗ ประการนี้ ประชาชนชาวไทยในล้านนาจึงนิยมทำบุญสลากภัตรกันเกือบทุกวัน มีแต่ หากว่าวัดใดมีงานตั้งธรรมหลวง ( เทศน์มหาชาติ ) วัดนั้นจะเว้นจากการทำบุญสลากภัตร

การตานก๋วยสลากในปัจจุบัน
ประเพณีการ “ตานก๋วยสลาก” หรือ “กิ๋นก๋วยสลาก” ตามสำเนียงพูดของเมืองเหนือนี้หมายถึง ประเพณีทานสลากภัตร เป็นประเพณีที่ชาวเหนือถือสืบเนื่องมานานแล้ว การถวายก๋วยสลากจะเริ่มในราวเดือน ๑๒ เหนือ (คือเดือน ๑๐ ใต้ เดือนกันยายน ) และสิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ (เดือน ๑๑ ใต้) การก๋วยสลาก (หรือบางแห่งเรียกว่า ตานข้าวสลาก ) สลากภัตรของทางเมืองเหนือ ประกอบด้วย
• สลากน้อย คือ สลากกระชุเล็ก
• สลากก๋วยใหญ่ คือ สลากโชค สลากก๋วยเล็ก ใช้ถวายอุทิศแด่ผู้ตาย หรือทำบุญเพื่อเป็นกุศลในภายภาคหน้า ส่วน สลากก๋วยใหญ่ใช้ถวายเป็นมหากุศลสำหรับบุคคลผู้มีกำลังศรัทธา และร่ำรวยเงินทอง ทำถวายเพื่อเป็นพลวปัจจัยให้มีบุญกุศลมากขึ้น พิธีถวายสลากภัตร ที่นิยมมี ๓ ประการ คือ
๑ . สลากเอาเส้น ซึ่งประชาชนจับสลาก แล้วนำไทยทานไปถวาย
๒ . สลากที่พระสงฆ์จับสลากเอง
๓ . สลากย้อม ซึ่งนิยมทำกันในกลุ่มไทยยอง ซึ่งหญิงสาวภายในหมู่บ้านจัดถวายเป็นประเพณี

ขั้นตอนการตานก๋วยสลาก
ก่อนวันทำพิธี “ตานก๋วยสลาก”๑ วัน เรียกว่า “วันดา” คือเป็นวันจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ไทยทาน พวกผู้ชายก็จะจัดการจักตอกสาน “ก๋วย” (ตระกร้า) ไว้หลาย ๆ ใบ บางครอบครัวอาจจะทำหลายสิบลูก แล้วแต่ศรัทธาและกำลังทรัพย์จะอำนวยให้ ทางฝ่ายหญิงก็จะจัดเตรียมห่อของกระจุกกระจิก เช่น ข้าวสาร พริก หอมกระเทียม เกลือ กะปิ ปลาร้า ขนมต้ม และ อาหาร เช่น ห่อหมก ( ทางเหนือเรียกว่าห่อนึ่ง ) ชิ้นปิ้ง ( เนื้อทอด ) เนื้อเค็ม หมาก เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ เทียนไข สีย้อมผ้า ผลไม้ต่าง ๆ เครื่องใช้สอยต่าง ๆ ตามแต่ศรัทธาและฐานะ สิ่งของต่าง ๆ เหล่านี้จะบรรจุลงในก๋วยซึ่งกรุด้วยใบตอง หรือกระดาษสีต่าง ๆ เมื่อจัดการบรรจุสิ่งของต่าง ๆ ลงในก๋วยเรียบร้อยแล้ว ก็จะเอา “ ยอด ” คือ สตางค์ หรือ ธนบัตร ผูกติดไม้เรียวเสียบไว้ “ ยอด ” ที่ใส่นั้นไม่จำกัดว่าเท่าใด แล้วแต่กำลังทรัพย์และศรัทธา จะอำนวยให้เมื่อเตรียมสิ่งของดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อเช้าวันรุ่งขึ้นในวันทานสลาก เขาก็ใช้เด็กลูกหลานเอาเสื่อไปปูที่ลานวัด หรือตามศาลาบาตร และเอา “ก๋วยสลาก” ไปวางเรียงไว้เป็นแถวๆ ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะจัดเตรียมขัน (พาน) ไปวัดกันเป็นหมู่ ๆ บ้างก็จูงมือลูกหลานไปด้วยส่วนพวกหนุ่ม ๆ สาว ๆ ก็ไปเหมือนกัน ส่วนมากไปกันเกือบหมดทั้งครอบครัว เพราะถือว่าการทานสลากภัตรนี้มีอนิสงฆ์มาก และจะได้วยกันเอา “ก๋วยสลาก” ไปถวายพระในเวลามีการเรียก“เส้นสลาก”

ขออธิบายเรื่องเส้นสลากเล็กน้อย “เส้นสลาก” ที่กล่าวนี้ ผู้เป็นเจ้าของ “ก๋วยสลาก” จะต้องเอาใบลานหรือ กระดาษมาตัดเป็นแผ่นยาว ๆ จารึกชื่อเจ้าของไว้และบอกด้วยว่า อุทิศส่วนกุศลนั้นให้ใครบ้าง คำจารึกในเส้นสลากนั้นมักจะเขียนดังนี้ “ สลากข้าวของนี้ หมายมีผู้ข้านายแก้ว นางดี ขอทานไว้กับตนตัวภายหน้า ” คือ หมายถึงว่า ถวายทานไว้อุทิศส่วนกุศลไว้สำหรับตัวเองเมื่อล่วงลับไปแล้ว จะได้ไปรับเอาของไทยทานนั้นในปรโลก ซึ่งเป็นความเชื่อของพุทธศาสนิกชนทั่วไปว่า เมื่อทำบุญถวายทานไว้ในพระศาสนาแล้ว เมื่อล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว ก็จะได้ไปเสวยอานิสงส์ผลบุญนั้นในโลกหน้า และจะมีการอุทิศส่วนกุศลนั้นให้ญาติพี่น้อง ผู้ล่วงลับไปแล้ว เช่น ผู้ข้าหนานเสนา นางบุบ้านใต้วัด ขอทานไว้ถึงนางจันตา ผู้เป็นแม่ที่ล่วงลับไปแล้ว ขอหื้อไปรอดไปถึงจิ่มเต่อฯ ” ดังนี้เป็นต้น
“เส้นสลาก” ที่กล่าวนี้จะต้องเขียนไว้ให้ครบจำนวนก๋วยสลาก เมื่อชาวบ้านนำเอาก๋วยสลากไปที่วัดแล้ว ก็จะเอาสลากไปรวมกันไว้ที่หน้าพระประธานในวิหาร ซึ่งผู้รวบรวมสลากมักจะเป็น มัคนายก หรือที่เรียกกันว่า “อาจารย์” รวบรวมได้เท่าไร ก็จะเอาจำนวนพระภิกษุสามเณรที่นิมนต์มาจากวัดต่าง ๆ นั้น หารจำนวนสลาก และหักเหลือไว้ส่วนหนึ่งเป็นส่วนของ “พระเจ้า” (คำว่า พระเจ้า เมืองเหนือหมายถึง พระพุทธรูปเช่น พระเจ้าเก้าตื้อ พระเจ้าทองทิพย์ ฯลฯ) และในที่นี้ก็หมายถึงเป็นส่วนพิเศษของวัดที่ทำพิธีทานก๋วยสลากนั่นเอง สลากของ “ พระเจ้า ” นี้
เมื่อเสร็จจากการทำบุญแล้ว ก็จะแบ่งปันให้พระภิกษุสามเณร และเด็กวัด ( ทางเมืองเหนือเรียกว่า ขะโยมวัด ) โดยทั่วถึงกัน และ “ อาจารย์ ” หรือ มัคนายก ก็จะได้ส่วนหนึ่ง แต่เงินยอดก๋วยสลากนั้น ส่วนของ “ พระเจ้า ” จะต้องเป็นเงินกองกลางของวัดสำหรับใช้จ่ายในกิจของวัดต่อไป ขอเล่าถึงการแบ่ง “เส้นสลาก” ในแบบฉบับของ “ ชาวบ่ะเก่า ” (คนโบราณ) ให้เป็นที่เข้าใจของท่านผู้อ่านสักเล็กน้อย ในสมัยที่พวกชาวบ้านยังไม่รู้หนังสือไม่รู้จักคิดเลขอยู่นั้น การแบ่ง “ก๋วยสลาก” จะต้องตก “เส้นสลาก”เป็นกอง ๆ รวม ๓ กอง กองหนึ่ง คือของ “ พระเจ้า ” (คือของวัด) ส่วนอีก ๒ กองนั้น เฉลี่ยออกไปตามจำนวน พระภิกษุสามเณร ที่นิมนต์มาร่วมในงานทำบุญหากมีเศษเหลือก็มักจะปัดเป็นของพระเจ้าเสีย
“เส้นสลาก” ที่แบ่งปันให้พระภิกษุสงฆ์สามเณร ที่นิมนต์มาจากวัดต่าง ๆ นั้น เมื่อพระภิกษุสามเณรได้รับส่วนแบ่งแล้ว ก็จะไปยึดเอาชัยภูมิแห่งหนึ่งในวัดและจัดการออกสลาก คือ อ่านชื่อในเส้นสลากดัง ๆ หรือให้ลูกศิษย์ (ขะโยม) ที่ไปด้วยนั้นตะโกนตามข้อความที่เขียนไว้ในเส้นสลากหรือเปลี่ยนคำสั้น ๆ เช่น ศรัทธาหนานใจยวงค์บ้านเหนือวัดมีไหนเหอ เมื่อผู้เป็นเจ้าของได้ยิน หรือมีเพื่อนบ้านใกล้เคียงได้ยินก็จะไปบอกให้เจ้าของ ““ก๋วยสลาก” ซึ่งบางรายก็จะหิ้ว “ก๋วย” ไปตามหาเส้นสลากตามลานวัด การเที่ยวหาเส้นสลากนี้ เป็นที่น่าสนุกสนานมาก พวกหนุ่ม ๆ สาว ๆ เฒ่าชะแรแก่ชรา ไม่ว่าเด็กน้อยหรือหนุ่มใหญ่ ก็จะหิ้ว “ ก๋วยสลาก ” ออกตามเส้นกันขวักไขว่ ทุกคนจะมีใบหน้าแช่มชื่นผ่องใส เพราะนานปีถึงจะมีการ “ กิ๋นก๋วย ” สักครั้ง บางวัด ๓ ปี จะมีการทานสลากนี้สักครั้งหนึ่ง พวกหนุ่ม ๆ ก็จะถือโอกาสช่วยสาว ๆ หาเส้นสลากเป็นการผูกไมตรีไปด้วย เมื่อพบเส้นสลากของตนแล้ว ก็จะเอา ““ก๋วยสลาก” ไปถวายพระ พระก็จะช่วยอ่านข้อความในเส้นสลากให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง แล้วรับเอา “ก๋วยสลาก” และกล่าวอนุโมทนาให้พร แล้วก็คืนสลากนั้นให้เจ้าของสลากไปเจ้าของสลากก็นำเอาเส้นสลากนั้นไปรวมไว้ในวิหาร เมื่อเสร็จแล้ว “แก่วัด” หรือมัคนายก ก็จะเอาเส้นสลากนั้นไปเผาไฟหรือทิ้งเสีย

ที่มา :
หนังสือ ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย ผู้แต่ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณมณี พยอมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๔๗ ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม

*********************
พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

ออกพรรษา (ประวัติการรับผ้า, และอานิสงส์กฐิน)

ความหมายของคำว่า "กฐิน"
เป็นภาษาพระวินัย เป็นชื่อเรียกผ้าพิเศษที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้วรับมานุ่งห่มได้
กฐิน แปลตามศัพท์ว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้หรือไม้แบบสำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวร ผ้าที่เย็บสำเร็จจากกฐินหรือไม้สะดึงแบบนี้เรียกว่า ผ้ากฐิน

กฐินมีกำหนดระยะเวลาถวาย จะถวายตลอดไปเหมือนผ้าชนิดอื่นมิได้
ระยะเวลานั้นมีเพียง ๑ เดือน คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (วันเพ็ญเดือน ๑๒) ระยะเวลานี้เรียกว่า กฐินกาล คือระยะเวลา ทอดกฐิน หรือ เทศกาลทอดกฐิน มีคำที่เกี่ยวกับ "กฐิน" หลายคำ เช่น องค์กฐิน เครื่องกฐิน บริวารกฐิน

ความเป็นมาของกฐิน
ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐ ๓๐ รูป เดินทางมาเฝ้าพระศาสดา แต่ไม่ทันวันเข้าพรรษา จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกตุในระหว่างทาง พอออกพรรษาฝนยังตกชุกอยู่ ภิกษุเหล่านั้นเดินทางมาเข้าเฝ้าพระศาสดาด้วยความลำบากพระศาสดาตรัสถามถึงความเป็นอยู่และการเดินทาง จากนั้นทรงอนุญาตให้มีการถวายผ้ากฐินแก่ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส และ ภิกษุผู้ได้กรานกฐินได้อานิสงส์ ๕ ประการคือ
๑. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา
๒. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
๓. ฉันคณะโภชน์ได้ (ฉันอาหารรวมกันเป็นหมวดหมู่)
๔. ทรงอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา
๕. จีวรอันเกิดขึ้น ณ ที่นั้นจักได้แก่พวกเธอ

ความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่น
๑. จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้
๒. จำกัดเวลา คือ ต้องถวายภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป
๓. จำกัดงาน คือ พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน
๔. จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่สงฆ์กำหนดไว้
๕. จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้นโดยไม่ขาดพรรษา และจำนวนไม่น้อยกว่า ๕ รูป
๖. จำกัดคราว คือ วัด ๆ หนึ่งรับกฐินได้เพียงปีละ ๑ ครั้งเท่านั้น
๗.เป็นพระบรมพุทธานุญาต ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขออนุญาตผ้าอาบน้ำฝน แต่ผ้ากฐินนี้พระองค์ทรงอนุญาตเอง นับเป็นพระประสงค์โดยตรง
***********************
พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน