วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ออกพรรษา (ประวัติการรับผ้า, และอานิสงส์กฐิน)

ความหมายของคำว่า "กฐิน"
เป็นภาษาพระวินัย เป็นชื่อเรียกผ้าพิเศษที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้วรับมานุ่งห่มได้
กฐิน แปลตามศัพท์ว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้หรือไม้แบบสำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวร ผ้าที่เย็บสำเร็จจากกฐินหรือไม้สะดึงแบบนี้เรียกว่า ผ้ากฐิน

กฐินมีกำหนดระยะเวลาถวาย จะถวายตลอดไปเหมือนผ้าชนิดอื่นมิได้
ระยะเวลานั้นมีเพียง ๑ เดือน คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (วันเพ็ญเดือน ๑๒) ระยะเวลานี้เรียกว่า กฐินกาล คือระยะเวลา ทอดกฐิน หรือ เทศกาลทอดกฐิน มีคำที่เกี่ยวกับ "กฐิน" หลายคำ เช่น องค์กฐิน เครื่องกฐิน บริวารกฐิน

ความเป็นมาของกฐิน
ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐ ๓๐ รูป เดินทางมาเฝ้าพระศาสดา แต่ไม่ทันวันเข้าพรรษา จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกตุในระหว่างทาง พอออกพรรษาฝนยังตกชุกอยู่ ภิกษุเหล่านั้นเดินทางมาเข้าเฝ้าพระศาสดาด้วยความลำบากพระศาสดาตรัสถามถึงความเป็นอยู่และการเดินทาง จากนั้นทรงอนุญาตให้มีการถวายผ้ากฐินแก่ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส และ ภิกษุผู้ได้กรานกฐินได้อานิสงส์ ๕ ประการคือ
๑. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา
๒. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
๓. ฉันคณะโภชน์ได้ (ฉันอาหารรวมกันเป็นหมวดหมู่)
๔. ทรงอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา
๕. จีวรอันเกิดขึ้น ณ ที่นั้นจักได้แก่พวกเธอ

ความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่น
๑. จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้
๒. จำกัดเวลา คือ ต้องถวายภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป
๓. จำกัดงาน คือ พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน
๔. จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่สงฆ์กำหนดไว้
๕. จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้นโดยไม่ขาดพรรษา และจำนวนไม่น้อยกว่า ๕ รูป
๖. จำกัดคราว คือ วัด ๆ หนึ่งรับกฐินได้เพียงปีละ ๑ ครั้งเท่านั้น
๗.เป็นพระบรมพุทธานุญาต ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขออนุญาตผ้าอาบน้ำฝน แต่ผ้ากฐินนี้พระองค์ทรงอนุญาตเอง นับเป็นพระประสงค์โดยตรง
***********************
พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นักเรียนได้อะไรบ้างจากพระที่เข้าไปสอนในโรงเรียน