วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ออกพรรษา [ประวัติการรับผ้า, และอานิสงส์กฐิน]

ความหมายของคำว่า "กฐิน"
เป็นภาษาพระวินัย เป็นชื่อเรียกผ้าพิเศษที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้วรับมานุ่งห่มได้
กฐิน แปลตามศัพท์ว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้หรือไม้แบบสำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวร ผ้าที่เย็บสำเร็จจากกฐินหรือไม้สะดึงแบบนี้เรียกว่า ผ้ากฐิน

กฐินมีกำหนดระยะเวลาถวาย จะถวายตลอดไปเหมือนผ้าชนิดอื่นมิได้
ระยะเวลานั้นมีเพียง ๑ เดือน คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (วันเพ็ญเดือน ๑๒) ระยะเวลานี้เรียกว่า กฐินกาล คือระยะเวลา ทอดกฐิน หรือ เทศกาลทอดกฐิน มีคำที่เกี่ยวกับ "กฐิน" หลายคำ เช่น องค์กฐิน เครื่องกฐิน บริวารกฐิน

ความเป็นมาของกฐิน
ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐ ๓๐ รูป เดินทางมาเฝ้าพระศาสดา แต่ไม่ทันวันเข้าพรรษา จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกตุในระหว่างทาง พอออกพรรษาฝนยังตกชุกอยู่ ภิกษุเหล่านั้นเดินทางมาเข้าเฝ้าพระศาสดาด้วยความลำบากพระศาสดาตรัสถามถึงความเป็นอยู่และการเดินทาง จากนั้นทรงอนุญาตให้มีการถวายผ้ากฐินแก่ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส และ ภิกษุผู้ได้กรานกฐินได้อานิสงส์ ๕ ประการคือ
๑. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา
๒. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
๓. ฉันคณะโภชน์ได้ (ฉันอาหารรวมกันเป็นหมวดหมู่)
๔. ทรงอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา
๕. จีวรอันเกิดขึ้น ณ ที่นั้นจักได้แก่พวกเธอ

ความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่น
๑. จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้
๒. จำกัดเวลา คือ ต้องถวายภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป
๓. จำกัดงาน คือ พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน
๔. จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่สงฆ์กำหนดไว้
๕. จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้นโดยไม่ขาดพรรษา และจำนวนไม่น้อยกว่า ๕ รูป
๖. จำกัดคราว คือ วัด ๆ หนึ่งรับกฐินได้เพียงปีละ ๑ ครั้งเท่านั้น
๗.เป็นพระบรมพุทธานุญาต ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขออนุญาตผ้าอาบน้ำฝน แต่ผ้ากฐินนี้พระองค์ทรงอนุญาตเอง นับเป็นพระประสงค์โดยตรง
***********************
พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

ความรักในทางพุทธศาสนา

ถาม: จึงใคร่ขอกราบเรียนถามท่านเจ้าคุณว่า มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องของความรัก และในทางพุทธศาสนาให้คติหรือแนวความคิดอย่างไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้
ตอบ: พระพุทธศาสนายอมรับธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชนเป็นอันดับที่หนึ่งก่อน แต่ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น คือ มีการพิจารณาต่อไปว่าในกรณีที่ธรรมชาติของปุถุชนนั้นมีข้อบกพร่องหรือมีโทษ ก็จะสอนถึงการปรับปรุงแก้ไข หรือทำให้ดียิ่งขึ้น เรียกว่า การศึกษา หรือ การพัฒนาชีวิต
อันนี้ก็ไปสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์อีกประการหนึ่งที่ว่ามนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ หรือพัฒนาได้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าต้องพัฒนา และศักยภาพสูงสุดที่จะพัฒนาได้จนเป็นผู้ที่ประเสริฐอย่างยิ่ง
ทีนี้ เราก็เอาหลักการสองอย่างนี้มาใช้ โดยวางวิธีการว่าทำอย่างไรจะให้เกิดผลดี ในกรณีที่มีความรักแบบที่ว่าตามธรรมชาติของปุถุชนที่จะมีครอบครัวอะไรนี่ก็กำหนดว่าทำอย่างไรจะให้เป็นไปในลักษณะที่ไม่เกิดโทษแก่ผู้อื่น แก่สังคม แต่ให้ดำเนินไปในทางที่ดีงาม ที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชีวิตและแก่สังคมนั้น อย่างน้อยก็แก่ทั้งสองคนนั้นแหละให้เขาอยู่กันด้วยดีมีสุข อันนี้เป็นขั้นที่หนึ่ง
สำหรับขั้นนี้เราก็มีคำแนะนำให้ว่าเขาควรจะพัฒนาจิตใจของเขาอย่างไร พร้อมทั้งหลักการในการดำเนินชีวิตและในการปฏิบัติต่อกันเพื่อให้มีผลดีทั้งต่อระหว่างสองคน และในแง่ของแต่ละคน โดยคำนึงถึงจิตใจของแต่ละคน โดยเฉพาะความสุขของแต่ละฝ่าย ตลอดจนประโยชน์ที่จะขยายออกไปสู่สังคมวงกว้างด้วย รวมทั้งถ้าเขามีบุตรก็ให้เป็นประโยชน์แต่บุตรหลานของเขาต่อไปด้วย
ทีนี้ต่อไปก็คือ เหนือกว่านั้น ทำอย่างไรจะพัฒนาเขาขึ้นไปให้เขาสามารถมีความสุขที่สูงขึ้นไปอีก ให้มีความรู้สึกที่ประณีตดีงามชนิดที่เป็นคุณธรรมซึ่งคล้ายๆ ว่าเข้ามาเสริมคุณค่าของความรักแบบแรกนี้ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็น ความรักแบบที่สอง และเมื่อความรักแบบที่สองนี้เจริญงอกงามมากขึ้น ก็จะช่วยให้ความรักประเภทที่หนึ่งประณีตงดงาม จนกระทั่งแม้เมื่อเขาไม่สามารถอาศัยความรักประเภทที่หนึ่งต่อไปได้เขาก็ยังมีความรักประเภทที่สองหล่อเลี้ยงชีวิตร่วมกันอยู่ตลอดไป
เป็นอันว่า สำหรับความรักประเภทที่หนึ่งนี้ ท่านก็ยอมรับแต่จะต้องให้อยู่ในกรอบ หรือในขอบเขตที่ดีงาม แล้วก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่ก็ว่ายังมีส่วนที่เป็นโทษ จึงต้องปรับปรุงพัฒนาต่อไป
ในทางพุทธศาสนา ท่านพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างทั้งในแง่ข้อดีหรือคุณ และข้อเสียหรือโทษ คือข้อบกพร่อง แล้วก็บอกทางออก หรือทางแก้ไขให้ด้วย อันนี้เป็นหลักในการพิจารณาทุกอย่าง เพื่อให้เราปฎิบัติต่อทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยสติและปัญญาอย่างรอบคอบ ที่จะแก้ปัญหาได้และเข้าถึงประโยชน์สุขที่แท้จริง
ถาม: อยากจะขอให้ท่านแยกให้เห็นชัดว่า ความรักแบบที่หนึ่งเป็นอย่างไร และความรักแบบที่สองเป็นอย่างไร
ตอบ: ก็มาดูเรื่องของความรักประเภทที่หนึ่งก่อน ความรักประเภทที่หนึ่งที่คนทั่วไปรู้เข้าใจกันว่าเป็น ความรักระหว่างเพศ หรือ ความรักทางเพศ มีจุดเด่นอยู่ที่ความชื่นชมติดใจ หรือความปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสกายของผู้ที่ตนรัก อันนี้เป็นความรักสามัญของปุถุชนซึ่งมีลักษณะสำคัญคือความต้องการหาความสุขให้แก่ตนเอง หมายความว่า ที่รักเขานั้นก็เพื่อเอาเขามาเป็นเครื่องบำเรอความสุขแก่ตน ต้องการเอาความสุขเพื่อตนเอง
ความรักแบบที่หนึ่งนี้ ที่แท้แล้วก็คือการคิดจะเอาจากผู้อื่น ในเมื่อมันมีลักษณะอย่างนี้ มันจึงมีข้อเสียที่สำคัญติดมาด้วย คือถ้าหากว่าเราผู้นั้นไม่อยู่ในภาวะที่จะสนองความปรารถนาให้เรามีความสุขได้ เราก็จะเบื่อหน่าย แล้วก็อาจจะรังเกียจ จึงเห็นได้ว่าไม่ยั่งยืน อันนี้เป็นข้อบกพร่องที่สำคัญประการแรก
นอกจากนั้น เนื่องจากความรักแบบที่หนึ่งนี้มุ่งจะเอาความสุขให้แก่ตัว หรือจะเอาผู้อื่นมาบำเรอความสุขหรือให้ความสุขแก่ตัว ความรักแบบนี้จึงมีลักษณะจำเพาะเจาะจง โดยมีบุคคลที่ชอบใจถูกใจเป็นเป้าเป็นความยึดติดผูกพันเฉพาะตัว
เมื่อลักษณะสองอย่างนี้มาผนวกกันเข้า ก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาคือความหึงหวง ความรักแบบนี้จึงมาคู่กับความหึง มีอารมณ์ยึดถือเป็นของตัว ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ไม่ต้องการให้ใครอื่นมายุ่งเกี่ยวหรือแม้แต่ได้รับความเอาใจใส่ ความหวงแหนผูกพันเฉพาะตัว และต้องการให้เขาหรือเธอให้ความสุขแก่ตัวผู้เดียวนี้ แสดงออกได้ทั้งทางกายและทางใจ
ทางกายก็ต้องการให้เป็นของตนผู้เดียว ไม่ให้ใครอื่นมายุ่งเกี่ยวอย่างที่เรียกว่า หวงผัสสะส่วนทางด้านจิตใจ ก็ต้องการความเอาใจใส่ความมีใจภักดีให้ฉันคนเดียวเป็นผู้ครองหัวใจเธอ หรือให้ใจเธออยู่กับฉัน อย่าปันใจให้คนอื่น
เนื่องจากความรักแบบที่หนึ่งนี้ มักจะมาด้วยกันกับความหวงแหนเห็นแก่ตัว หรือความหึงหวง จึงอาจจะทำให้เกิดการแย่งชิง ทะเลาะเบาะแว้ง แม้จะไม่ได้แย่งชิงทะเลาะเบาะแว้งกับใครก็มักจะเกิดความมัวเมาหมกมุ่น จนกระทั่งบางทีก็ถึงกับละทิ้งกิจหน้าที่หรือความดีงามที่ควรจะทำ หรือไม่เช่นนั้นก็จะเป็นไปในอีกลักษณะหนึ่ง คือ ทำให้ยิ่งโลภแล้วพยายามแสวงหาอะไรต่าง ๆ มุ่งแต่จะกอบโอยเอามาเพื่อตัวเองและเพื่อคนที่ตนรักเท่านั้น โดยไม่เห็นแก่ผู้อื่นเลย จึงอาจทำให้เกิดการเบียดเบียนกันได้มาก
ที่ว่ามานี้คือโทษประการต่างๆ ของความรักแบบที่หนึ่ง ซึ่งในที่สุดแล้วจุดจบของมันก็คือความไม่ยั่งยืน เพราะว่าแท้จริงแล้วมันเป็นเรื่องของการหาความสุขให้แก่ตัวเอง แม้จะเป็นคู่ครองอยู่ร่วมกันก็เห็นเขาเป็นสิ่งสนองความสุข เป็นที่สนองความต้องการของตนเองเท่านั้น
ถ้าหากว่าเขาหรือเธอไม่สามารถสนองความต้องการของเราลองถามตัวเองซิว่าเราจะยังรักเขาไหม ต้องถามตรง ๆ อย่างนี้ ถ้าเขาไม่สามารถสนองความต้องการของเรา ไม่สามารถให้ความสุขแก่เรา ถ้าเรามีความซื่อสัตย์ต่อตนเองลองตอบดู เราจะรักเขาไหม หรือว่าเราจะกลายเป็นเบื่อหน่ายรังเกียจ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นโทษหรือข้อเสียของความรัก แบบที่หนึ่ง
ถาม:สำหรับความรักแบบที่หนึ่ง คิดว่าชัดเจนแล้ว อยากจะทราบถึงความรักแบบที่สองว่าเป็นอย่างไร
ตอบ:ความรักแบบที่สอง คือ ความรักที่อยากให้เรามีความสุขหรืออยากเห็นเขามีความสุข อย่างที่เรียกว่าเป็นความปรารถนาดี เรารักใคร เราก็อยากให้คนนั้นมีความสุข อยากทำให้เขามีความสุข และอยากทำอะไรๆ เพื่อให้เขามีความสุข ลองถามตัวเองก่อน เวลารักใครลองถามตัวเองว่า เราต้องการความสุขเพื่อตัวเรา หรือเราอยากให้เขามีความสุข ถ้าเป็นความรักที่แท้ก็ต้องอยากให้เขามีความสุข เมื่ออยากให้เขามีความสุข ก็ต้องการทำให้เขามีความสุข หรือทำอะไรๆ เพื่อให้เขามีความสุขการที่จะทำให้คนอื่นมีความสุขนั้น การกระทำที่สำคัญก็คือการให้
การให้เป็นปฎิบัติการที่ชัดเจนและต้องใช้มากที่สุดในการทำให้ผู้อื่นมีความสุข ดังนั้น ผู้ที่มีความรักแบบที่สองจึงมีความสุขในการให้และให้ด้วยความสุข ความรักแบบที่สองจึงทำให้การให้กลายเป็นความสุขแต่ต้องพูดกันไว้ก่อนด้วยว่า การให้ที่ว่านี้ไม่ใช่เป็นการให้แบบล่อเหยื่อหรือเอาอกเอาใจ ถ้าให้แบบนั้น พอไม่ได้เขามาก็จะเสียใจ เสียดายและแค้นใจ เพราะเป็นการให้เพื่อจะเอา ไม่ใช่ปรารถนาดีแก่เราจริง
ในขณะที่ ความรักแบบที่หนึ่ง เป็นความต้องการที่จะเอาความสุขจากผู้อี่น หรือต้องการความสุขจากการเอา ความรักแบบที่สอง เป็นความต้องการที่จะให้ความสุขแก่ผู้อื่น และเป็นการทำให้เกิดความสุขจากการให้
ในแบบที่หนึ่ง การได้จึงจะเป็นความสุข แต่ในแบบหลัง การให้ก็เป็นความสุข พูดสั้นๆ ว่า ความรักที่เป็นการเอา กับความรักที่เป็นการให้
ถ้าเรารักเขาโดยอยากให้เขามีความสุขแล้วมันก็มีความยั่งยืนมั่นคงเมื่อเขามีความทุกข์ความเดือดร้อน แม้ว่าเขาจะไม่สามารถสนองความต้องการของเราได้ เราก็ยังรักเขา และเราจะเกิดความสงสาร ตอนแรกเรามีความรักความปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข พอเขาเกิดความทุกข์ มีความเดือดร้อนขึ้นมาความรักของเราก็จะกลายเป็นความสงสาร อยากจะช่วยเหลือเขาให้พ้นจากความทุกข์ เราจะไม่เบื่อหน่ายรังเกียจ ซึ่งต่างกันชัดเจนกับความรักแบบที่หนึ่ง
ความรักแบบที่หนึ่งเป็นความต้องการที่จะหาความสุขให้แก่ตนเอง ซึ่งก็คือความเห็นแก่ตัวแบบหนึ่งนั่นเอง พอเขามีความทุกข์ลำบากเดือดร้อน หรืออยู่ในภาวะที่ไม่สามารถสนองความต้องการของเราได้เราก็เบื่อหน่ายรังเกียจ แต่ความรักแบบที่สองนี่ต้องการให้เขามีความสุขพอเขามีความทุกข์เดือดร้อน เราก็สงสารอยากจะช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ให้เขาพ้นจากความลำบากเดือดร้อน
ความรักแบบที่หนึ่งนั้นทางพระท่านเรียกว่า “ราคะ” หรือ “เสน่หา” ส่วนความรักแบบที่สองทางพระท่านเรียกว่า “เมตตา” รวมทั้ง “ไมตรี”
ทีนี้ ถ้าหากว่าคนที่เรารักนั้น เขาเกิดเปลี่ยนเป็นมีความทุกข์ลำบากเดือดร้อน เมตตานั้นก็เปลี่ยนไปเป็น “กรุณา” คือ ความสงสาร คิดหาทางช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกข์ จึงมี เมตตา - กรุณา เป็นคู่กัน
นี่คือ ลักษณะของความรักสองแบบ รักแบบอยากให้เขามีความสุขกับรักแบบจะหาความสุขจากเขาหรือเอาเขามาทำให้เรามีความสุขเรียกเป็นคำศัพท์ว่า รักแบบเมตตา กับ รักแบบราคะ/เสน่หา

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
ธรรมกถานันมาฆบูชาปี 2544 ความรักจากวาเลนไทน์สู่ความเป็นไทย

พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

ขั้นตอนในการเขียนบทความ

ขั้นตอนในการเขียนบทความก็ไม่ยุ่งยากหรือซับซ้อนอะไรเลย เพราะได้มีนักวิชาการท่านหนึ่งชื่อวิทยา ดำรงเกียรติศักดิ์ ได้กำหนดขั้นตอนเอาไว้ดังนี้
1. การเลือกเรื่อง เรื่องที่นำมาเขียนต้องอยู่ในความสนใจและความต้องการของผู้อ่าน เป็นเรื่องที่ผู้เขียนรู้จริง หรือมีประสบการณ์อย่างถ่องแท้
2. การวางแผนก่อนการเขียน เป็นขั้นตอนของการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายว่าผู้อ่านเป็นใคร โดยจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้ด้วย
2.1 กลุ่มผู้อ่าน ผู้เขียนต้องคำนึงถึงอายุ เพศ รายได้ การศึกษา อาชีพ ความรู้ ในเรื่องความรู้ต้องคิดด้วยว่าผู้อ่านรู้อะไรบ้าง รู้เรื่องนั้น ๆ ดีพอเพียงใดที่ผู้อ่านต้องการรู้และผู้อ่านจะได้รับข่าวสารที่ผู้เขียนเขียนได้อย่างไร เพราะความสำเร็จของการเขียนขึ้นอยู่กับผู้อ่านยอมรับข้อเขียนของผู้เขียนด้วย
2.2 กำหนดวัตถุประสงค์ ในข้อนี้ผู้เขียนต้องคำนึงว่าจะเขียนบทความนี้ไปทำไม เช่น เพื่อให้ข่าวสาร สร้างความคิดที่ดี หรือเพื่อโน้มน้าวใจ โดยวัตถุประสงค์ในการเขียนเพื่อการโน้มน้าวใจต้องให้ผู้อ่านเกิดความต้องการหรือตระหนักในปัญหาก่อน จากนั้นค่อยเสนอทางออก พร้อมกับยกตัวอย่างและหลักฐานที่ผู้อ่านสามารถมองเห็นภาพพจน์แล้วสรุปอีกครั้งในจุดที่ผู้เขียนต้องการ เป็นต้น
2.3 การรวบรวมเนื้อ การเขียนบทความไม่ว่าจะประเภทใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่ผู้เขียนต้องคำนึงถึงหลักฐาน ข้อเท็จจริง ดังนั้นก่อนที่จะลงมือเขียนจำเป็นจะต้องสืบเสาะหาเรื่องราวให้มีความรู้เพียงพอ โดยวิธีการรวบรวมเนื้อหาสามารถทำได้ดังนี้
2.3.1 การค้นคว้าข้อมูลด้านวิทยาการจากหนังสือ และเอกสารต่าง ๆ เช่น จากห้องสมุด หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ
2.3.2 การสัมภาษณ์บุคคลที่ต้องการจะเขียนถึง หรือจากบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ต้องการจะเขียน
2.3.3 การสนทนาหรือพูดคุยกับบุคคลทั่วไป เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
2.3.4 การเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ แล้วจดบันทึกสิ่งที่ได้พบได้เห็น ซึ่งจะเป็นการสร้างสีสันให้งานเขียนมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น
2.3.5 การสืบเสาะเรื่องราวต่าง ๆ ว่าเกิดขึ้นกับใคร ที่ไหน อย่างไร แล้วจึงติดตามไปยังแหล่งที่เกิดเหตุ ติดตามดูสถานที่ การกระทำ เหตุการณ์
3. การจัดเนื้อหา ได้แก่การวางโครงเรื่องของบทความ ซึ่งเป็นการจัดลำดับเนื้อหา ความคิด ของเรื่องราวนั้น ๆ เป็นต้นว่า จะลำดับความอย่างไร ส่วนไหนต้องใช้เป็นคำนำ เนื้อหา และสรุป
4. การเรียบเรียงเนื้อหา คือ การนำโครงเรื่องที่วางไว้มาขยายความให้ครบถ้วนได้ ความหมายที่ชัดเจน น่าอ่าน โดยต้องสอดคล้องกับรูปแบบและขนาดของบทความ
5. การตรวจแก้ไข เมื่อเขียนบทความเรียบร้อยแล้ว ควรมีการตรวจทานเสียก่อน เพื่อกันความผิดพลาดก่อนบทความตีพิมพ์สู่ผู้อ่าน
6. ส่งบทความไปเผยแพร่ ควรส่งบทความให้ตรงตามเวลา เพื่อบรรณาธิการหรือผู้พิมพ์ คนจัดรูปเล่ม จะได้ทำหน้าที่ของเขาได้ดีที่สุด

พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประวัติวัดใหญ่ชัยมงคล

กำเนิดวนวาสี
อนิจจังของพุทธศาสนาในลังกาทวีป
ใน พ.ศ. ๒๗๕ พระเจ้าอโศกมหาราชได้ราชาภิเษกเป็นพระเจ้าราชาธิราชปกครองมคธราษฎร์ทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่งและทรงทำนุบำรุงพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนายิ่งกว่านักบวชในศาสนาอื่นๆ ทำให้นักบวชนอกพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า “เดียรถีย์”ปลอมตนเข้าบวชเป็นพระภิกษุด้วยหวังลาภสักการะเป็นอันมาก จนเกิดแตกสามัคคีเพราะรังเกียจกันในหมู่สงฆ์ จึงมีการไต่สวนและกำจัดพวกเดียรถีร์ออกเสียจากภิกษุภาวะ พระสงฆ์ที่ทรงธรรมวินัยโดยถ่องแท้ได้พร้อมกันทำตติยสังคายนา ที่เมืองปาตลีบุตร มี พระโมคคลีบุตรติสเถระ เป็นประธาน ในพระราชูปถัมภ์ของ พระเจ้าอโศกมหาราช
หลังจากทำตติยสังคายนาแล้วได้จัดส่งพระเถรานุเถระไปสั่งสอนพระพุทธศาสนาในนานาประเทศ ๙ สายด้วยกัน คือ
๑. พระมัชฌันติก ไปประเทศกัสมิระ และคันธาระ(แคว้นแคชเมียร์ และอาฟฆานิสถาน)
๒. พระมหาเทว ไปมหิสมณฑล (ไมสอ)
๓. พระรักขิต ไปวนวาสีประเทศ (เหนือบอมเบข้างใต้)
๔. พระธรรมรักขิต ไปอปรันตกประเทศ (ชายทะเลเหนือบอมเบ)
๕. พระมหาธรรมรักขิต ไปมหารัฐประเทศ (ห่างบอมเบไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ)
๖. พระมหารักขิต ไปโยนกโลกประเทศ (อยู่ในเปอร์เชีย)
๗. พระมัชฌิม ไปหิมวันตประเทศ (ในหมู่เขาหิมาลัย)
๘. พระโสณะ และ พระอุตตระ ไปสุวรรณภูมิประเทศ (ไทย)
๙. พระมหินทเถระ ไปลังกาทวีป
ในลังกาทวีปการพระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่งทั้งนี้โดยความอุปการะช่วยเหลือของ พระเจ้าอโศกมหาราช อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาล่วงไปลังกาทวีปได้ถูกพวกทมิฬ ซึ่งเป็นชนชาติหนึ่งอยู่ตอนใต้ปลายแหลมชมพูทวีปมาแต่เดิมรุกราน และมีอำนาจเหนือลังกาทวีปหลายครั้งประการหนึ่ง การแย่งราชสมบัติรบราฆ่าฟันกันเองประการหนึ่ง ทำให้การพระพุทธศาสนาในลังกาทวีปปั่นป่วน และแตกแยกเป็นหลายลัทธิ และบางทีก็เสื่อมลงถึงที่สุด จนไม่มีพระเถระสำหรับบวชกุลบุตร และสืบพระศาสนา ต้องส่งทูตไปขอพระเถระจากต่างประเทศ เข้าไปบวชกุลบุตรเป็นหลายครั้ง รวมทั้งประเทศไทยด้วย
ในระหว่าง พ.ศ. ๑๘๙๐-๑๙๒๙พระพุทธศาสนาเสื่อมลงอย่างมาก เพราะเกิดพวกอลัชชี ถึงกับต้องชุมนุมสงฆ์ชำระและกำจัดภิกษุอลัชชีหลายคราว
เหตุที่เกิดอลัชชีมี ๒ ประการ คือ
๑. ลังกาทวีปถือพระพุทธศาสนาก็จริง แต่ได้รับขนบธรรมเนียมอย่างอื่นมาจากชมพูทวีปด้วย โดยเฉพาะการถือชั้นวรรณะตามคติของพราหมณ์ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสิงหฬมีอำนาจมากก็กีดกันคนชั้นต่ำเข้าบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ ครั้นอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินสิงหฬเสื่อมทราม คนชั้นต่ำก็เข้าบวชมาก ผู้ดีบวชน้อยลง
๒. ระหว่าง พ.ศ. ๔๓๙-พ.ศ. ๔๕๕ พระเจ้าวัฏคามินีอภัย เสียราชธานีแก่พวกทมิฬ เที่ยวหลบหนีอยู่ในมลัยประเทศ ไม่มีพระราชทรัพย์ทำนุบำรุงพระสงฆ์ จึงทรงอุทิศที่ดินพระราชทานแทนเรียกว่า “ที่กัลปนา” (นับเป็นครั้งแรก) ให้ราษฎรซึ่งอาศัยได้ผลประโยชน์จากที่ดินนั้น ทำการอุปการะตอบแทนแก่พระสงฆ์ จึงเป็นราชประเพณีสืบต่อมา
เมื่อคน ชั้นเลวเข้าบวชมากขึ้น พระภิกษุพวกนี้ก็ขวนขวายหาลาภสักการจากที่ดินเลี้ยงตน ถึงกับเอาลูกหลานบวชไว้สำหรับครองอารามอย่างรับมรดก การบำเพ็ญกิจแห่งสมณะตามพระธรรมวินัยก็หย่อนยาน
ด้วยเหตุ ๒ ประการดังกล่าว จึงเกิดพระสงฆ์พวกหนึ่งเรียกว่า “วนวาสี” ซึ่งถือความสันโดษ ไม่ข้องแวะต่อการแสวงหาลาภสักการมาบำรุงรักษาอาราม
ปรากฏในตอนหลังๆ ว่า ชาวลังกาทวีปนับถือพระสงฆ์ฝ่ายวนวาสีมาก แต่พระภิกษุฝ่ายคามวาสีที่ดีก็คงมีจึงนิยมเป็นสงฆ์ ๒ ฝ่ายวนวาสี ก็คือ อรัญวาสี นั่นเอง และเป็นแบบอย่างมาถึงประเทศไทยเราด้วย
ก่อเกิดคณะป่าแก้ว
จากลังกาทวีป สู่สยามประเทศ
เมื่อได้มีการกำจัดพวกอลัชชีแล้ว คงจะได้มีการวางระเบียบแบบแผนสังฆมณฑลเรียบร้อยขึ้น จนกิตติศัพท์เลื่องลือมาถึงประเทศไทย มอญ เขมร และลานนาไทย จึงมีพระภิกษุพากันออกไปบวชแปลงเป็นพระสงฆ์ใน สิงหฬนิกาย กันมาก
หนังสือตำนานโยนก ว่า[1]
"เมื่อราวปีขาล จุลศักราช ๗๘๔ พ.ศ ๑๙๖๕ ตรงในสมัยเมื่อสมเด็จพระอินทราชาธิราชที่ ๑ ครองราชย์สมบัติ ณ กรุงศรีอยุธยา
มีพระภิกษุทางประเทศนี้หมู่หนึ่ง หัวหน้าเป็นพระมหาเถรชาวเชียงใหม่ ๗ รูป ชื่อพระธรรมคัมภีร์ ๑ พระเมธังกร ๑ พระญาณมังคละ ๑ พระสีลวงศ์ ๑ พระสาริบุตร ๑ พระรัตนากร ๑ พระพุทธสาคร ๑ เป็นพระมหาเถรชาวกรุงศรีอยุธยา ๒ รูป ชื่อพระพรหมมุนี ๑ พระโสมเถร ๑ เป็นพระมหาเถรชาวกรุงกัมพูชา ชื่อพระญาณสิทธิ์รูป ๑ พระภิกษุบริษัทเป็นอันมากพากันออกไปเมืองลังกา ไปอุปสมบทแปลงเป็นสิงหฬนิกาย ณ อุทกเขปสีมาที่แม่น้ำกัลยาณี ในสำนักพระวันรัตมหาเถร เมื่อ ณ วันเสาร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ อุตราสาฒ ปีมะโรง จุลศักราช ๗๘๖ พ.ศ. ๑๙๖๗ แล้วศึกษาธรรมวินัยอยู่ในลังกาทวีปอยู่หลายปี
เมื่อกลับมาได้นิมนต์พระมหาเถรชาวลังกามาด้วย ๒ รูป ชื่อพระมหาวิกรมพาหุ รูป ๑ พระอุดมปัญญา รูป ๑ มาขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาก่อน แล้วแยกย้ายกันไปเที่ยวตั้งนิกายลังกาขึ้นอีกนิกายหนึ่ง เรียกว่า วันรัตนวงศ์ แปลเป็นภาษาไทยเรียกว่า คณะป่าแก้ว (ชาวเชียงใหม่เรียกว่า ป่าแดง)"
แต่ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันเช่น ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ว่า[2]
"ได้ความตามหนังสือในตำนานที่ปรากฏอยู่ในเมืองเชียงใหม่ดังนี้ เชื่อได้ว่าพระสงฆ์นิกายป่าแก้วมีขึ้นครั้งนั้นเป็นปฐม
แต่ความที่ปรากฏทางเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุง วัดนิกายป่าแก้วนี้มีในหัวเมืองแถบนั้นมาก เห็นพระสงฆ์นิกายเมืองป่าแก้วจะมาแพร่หลายทางหัวเมืองเหล่านั้นก่อน แล้วจึงขึ้นมาถึงกรุงศรีอยุธยา จึงได้เรียกพระสงฆ์คณะป่าแก้วที่ขึ้นสมเด็จพระวันรัตนว่า คณะใต้ พระสงฆ์นิกายนี้คงจะปฏิบัติเคร่งครัดทางแสดงธรรมวินัย กว่าพระสงฆ์ลังกาวงศ์ซึ่งอยู่มาแต่ก่อน จึงทำให้เจริญความเลื่อมใสกันขึ้น เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ"
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงผนวชใน คณะป่าแก้ว เห็นจะเลื่องลือพระเกียรติยศมาก เป็นเหตุให้พระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่น ขวนขวายการบำเพ็ญอุปถัมภกพระศาสนาเป็นพิเศษบ้าง เช่น พระรามาธิบดี (ปิฎกธร) กรุงหงสาวดี ส่งพระภิกษุสงฆ์ออกไปอุปสมบทแปลงที่ลังกา เมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๘ เมื่อพระสงฆ์เหล่านั้นกลับเข้ามาแล้ว บังคับให้พระสงฆ์ในรามัญประเทศแปลงเป็นนิกายเดียวกันจนหมด
พระเจ้าติโลกราช เมืองเชียงใหม่ก็ตั้งพิธีทำสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งนับว่าเป็นครั้งที่ ๘ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๐ เป็นต้น ซึ่งดูจะเนื่องมาจากการที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงผนวชขึ้นก่อนทั้งสิ้น
ยิ่งกว่านั้นยังปรากฏว่า ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๐๗ เป็นต้นมา ได้นำพระราชโอรส พระราชนัดดา ตลอดจนเจ้านายลูกผู้ลากมากดีบวชกันมากจนกลายเป็นธรรมเนียมสืบมา ถือกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ประเพณีบวชนี้ ได้แพร่หลายนิยมตามกันมาถึงในหมู่คนสามัญด้วย
หมายเหตุ :
[1] บทความเรื่องนี้ใช้อักขรวิธีตามต้นฉบับ
[2] สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา
วัดเจ้าพระยาไทยคณะป่าแก้ว
วัดใหญ่ชัยมงคลครั้งบรรพกาล
อนึ่งพระสงฆ์ไทยที่ไปบวชแปลงที่สำนักพระวันรัตนวงศ์ในลังกา ที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า “คณะป่าแก้ว” นั้น เมื่อเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาก็ได้เข้าพักอยู่ในวัดเจ้าพระยาไทยซึ่งเป็นอรัญวาสีอยู่ก่อนแล้ว
เมื่อคณะ ป่าแก้วเข้ามาก็ทำให้เพิ่มความคึกคักในการปฏิบัติธรรมกันฝ่ายนี้กันมากขึ้น วัดเจ้าพระยาไทยจึงเป็นวัดชั้นนำทางด้านอรัญวาสี พระเถระที่เป็นหัวหน้าควบคุมจึงได้นามว่า “สมเด็จพระวันรัตน” (พระพนรัตน์) ตามพระนามพระวันรัตนมหาเถระซึ่งเป็นอาจารย์ในลังกาทวีป
การที่คณะ ป่าแก้วเข้ามีเมืองไทยนั้น ได้จัดเป็นคณะหนึ่งต่างหาก ผู้คนจะเลือกศึกษาได้ตามสมัครใจไม่บังคับเหมือนในเมืองมอญ ฉะนั้น ในชั้นแรกจึงเรียกชื่อวัดว่า “วัดเจ้าพระยาไทยคณะป่าแก้ว” ภายหลังจึงได้เหลือ วัดป่าแก้ว แต่อย่างเดียว
อย่างไรก็ดี เนื่องจาก วัดเจ้าพระยาไทย หรือ วัดป่าแก้ว เป็นพระอารามหลวงมีพระเจ้าแผ่นดินเจ้านายเข้าทรงผนวช และเป็นที่ประกอบการพระราชพิธีบางอย่าง รวมทั้งใหญ่โตกว้างขวาง ชาวบ้านจึงได้เรียกกันว่า “วัดใหญ่” มาแต่แรกสร้าง
พระเจดีย์ชัยมงคล
โทษตายกลายเป็นสร้างบุญ
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีได้ชัยชนะพระมหาอุปราชาแห่งพม่าแล้ว ได้ทรงมีพระราชศรัทธาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดใหญ่ขึ้นเป็นงานใหญ่ พร้อมทั้งได้ทรงสร้างพระเจดีย์ชัยมงคลเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติอีกด้วย
ชัยชนะในสงครามยุทธหัตถีในครั้งนั้น เป็นชัยชนะครั้งสำคัญที่สุด นับตั้งแต่ สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงประกาศอิสรภาพของชาติไทยที่เมืองแครง เมื่อปีวอก พุทธศักราช ๒๑๒๗ หลังจากที่ประเทศไทยต้องตกอยู่ใต้อำนาจของชาติอื่นมาเป็นเวลาถึง ๑๕ ปี
จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสรณ์แห่งชัยชนะครั้งนี้ขึ้นสองแห่งเป็นพระสถูปเจดีย์ตรงที่ทรงยุทธหัตถีกับ พระมหาอุปราชา แห่งหนึ่ง และทรงสร้างพระมหาสถูปคือ พระเจดีย์ชัยมงคลขึ้นที่ วัดป่าแก้ว เป็นเหตุสำคัญ
นอกจากนั้นก็ยังมีเหตุอื่น อีกด้วย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวร ว่า
“ยังมีของ โบราณอยู่บางสิ่งซึ่งชวนให้เห็นว่า เมื่อสมเด็จพระวันรัตทูลขอโทษข้าราชการแล้ว ได้ทูลแนะนำ สมเด็จพระนเรศวร ให้เฉลิมพระเกียรติที่มีชัยครั้งนั้นด้วยทรงบำเพ็ญกุศลกรรม และคงยกเรื่องประวัติพระเจ้าทุษฐคามมินีมหาราชอันมีในคัมภีร์มหาวงศ์ พงศาวดารลังกาทวีปมาทูลถวายเป็นตัวอย่าง ในเรื่องนั้นว่า
"เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘ พวกทมิฬมิจฉาทิฎฐิยกกองทัพข้ามมาจากชมพูทวีป มาตีได้เกาะลังกาแล้วครอบครองบ้านเมืองอยู่หลายปี ทุษฐคามนีกุมาร ราชโอรสของ พระเจ้ากากะวรรณดิศ ซึ่งเป็นกษัตริย์สิงหฬพระพุทธศาสนาหนีไปอยู่บนเขา พยายามรวบรวมรี้พลยกไปตีเอาบ้านเมืองคืน ได้รบเอา พระยาเอฬาระทมิฬ ซึ่งครองเมืองลังกา ถึงชนช้างกันตัวต่อตัวที่ชานเมืองอนุราธธานี
ทุษฐคามินีกุมาร มีชัยชนะฆ่า พระยาเอฬาระทมิฬ ตายกับคอช้าง ได้เมืองลังกาคืนจากพวกมิจฉาทิฏฐิ มีพระเกียรติเป็นมหาราชสืบมาในพงศาวดาร เมื่อ พระเจ้าทุษฐคามนี ทำยุทธหัตถมีชัยครั้งนั้น โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์ขึ้น ไว้เป็นอนุสรณ์ตรงที่ชนช้างกับ พระยาเอฬาระทมิฬ องค์หนึ่ง แล้วให้สร้างพระมหาสถูปอันมีนามว่า “มริจิวัตรเจดีย์” ขึ้นที่เมืองอนุราธบุรีอีกองค์หนึ่ง เฉลิมพระเกียรติปรากฏสืบมากว่าพันปี"
สมเด็จพระ นเรศวร ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสถูปเป็นอนุสรณ์ไว้ในทุ่งหนองสาหร่าย ตรงที่ทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาองค์หนึ่ง แล้วทรงสร้างพระมหาสถูปขึ้นไว้ที่วัดป่าแก้ว ขนานนามว่า “ชัยมงคลเจดีย์” อีกองค์หนึ่ง (คือพระเจดีย์พระองค์ใหญ่ที่อยู่ทางฝ่ายตะวันออกทางรถไฟ แลเห็นเมื่อก่อนเข้าเขตพระนครศรีอยุธยา)”
นอกจากนั้น ยังมีอีกเหตุหนึ่งซึ่งคงจะเป็นเครื่องชักจูงพระราชหฤทัย ให้ทรงสร้างพระมหาสถูปนี้อยู่ไม่น้อย เมื่อพุทธศักราช ๒๑๑๒ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ตีได้กรุงศรีอยุธยาในรัชกาล สมเด็จพระมหินทราธิราช ครั้งนั้นไทยได้รับความเสียหายแสนสาหัส ข้อความในพระราชพงศาวดารแสดงให้เห็นความอัปยศนี้อยู่เป็นอย่างดียิ่ง
ในชัยชนะ ครั้งนั้น พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ได้ให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่แบบมอญขึ้น ไว้เป็นอนุสรณ์ที่วัดซึ่ง สมเด็จพระราเมศวรสร้างไว้นอกพระนครทางด้านเหนือ และให้เรียกพระเจดีย์นั้นว่า “ภูเขาทอง” เป็นเหตุให้ชาวบ้านเรียกวัดนั้นว่า “วัดภูเขาทอง”
ต่อมาพระเจดีย์ภูเขาทองนั้น นอกจากจะเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองแล้ว ยังเป็นเครื่องเตือนใจคนไทยทั้งปวง ให้ระลึกถึงความอัปยศอดสูในครั้งนั้นอีกด้วย
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาสถูปชัยมงคลที่วัดพระยาไทย มีขนาดสูงกว่าพระเจดีย์ภูเขาทอง ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นเครื่องล้างความอัปยศอดสูของชาติไทย และเป็นเครื่องให้เกิดกำลังใจแก่คนไทยทั้งชาติอีกด้วย นับว่าเป็นพระบรมราโชบายอันลึกซึ้ง และมีประโยชน์ต่อชาติไทยจนตราบทุกวันนี้
พระเจดีย์ชัยมงคล จึงนับเป็นปูชนียวัตถุอันสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของชาติไทย เพราะเป็นนิมิตรหมายของเอกราชของชาติ เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงความกล้าหาญเสียสละ ที่สมเด็จพระมหาวีรราชเจ้าและวีรบุรุษของชาวไทยได้มีมาในอดีต อันเป็นผลตกทอดมาถึงคนไทยทุกคนในปัจจุบันนี้ในวิถีแห่งชีวิตทุกทาง นอกจากนั้นยังเป็นเครื่องหมายแห่งชาวไทยทั้งมวล ที่ได้ร่วมมือกันกอบกู้เอกราชของชาติและธำรงไว้ซึ่งเอกราชนั้นตลอดมา เป็นสิ่งเตือนใจให้คนรุ่นหลังได้ทำกิจการงานทั้งปวงตามหน้าที่ของแต่ละบุคคล โดยสุจริตและความพากเพียร เพื่อให้ชาติไทยนั้นได้อยู่ได้โดยเสรีและเป็นปกติสุข
พระเจดีย์ ชัยมงคลนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ แห่งการอภัยทานของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อันเนื่องมาจากธรรมอันประเสริฐแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งได้มีอิทธิพลเหนือชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยมาแต่โบราณกาล จนเป็นวิสัยในจิตใจทั้งปวงถึงทุกวันนี้
พระเจดีย์ ชัยมงคล ซึ่ง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างขึ้นที่วัดใหญ่ชัยมงคลเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการที่ได้ทรงทำยุทธหัตถี ได้ชัยชนะแก่สมเด็จพระมหาอุปราชาแห่งพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๕ นั้น ประมาณว่ามีความสูงจากพื้นดินราว ๑ เส้น ๑๐ วาและชาวบ้านได้นำเอาชื่อวัดกับนามพระเจดีย์มาประกอบกันเรียกขานกันต่อมาว่า “วัดใหญ่ชัยมงคล” จนกระทั่งทุกวันนี้
ผู้สร้างวัดใหญ่ชัยมงคล
หลังจากที่วัดป่าแก้วได้ร้างลงเป็นเวลาร่วม ๒๐๐ ปี พระภิกษุฉลวย สุธมฺโม ได้นำพระภิกษุ สามเณร และแม่ชีจำนวนหนึ่งมาปฏิบัติธรรม ณ ที่แห่งนี้ จนกระทั่งท่านต้องการจาริกไปปฏิบัติธรรมยังที่อื่น จึงได้อาราธนา พระครูภาวนาพิริยคุณ ( เปลื้อง วิสฏฺโฐ ) เจ้าอาวาสวัดยม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้มาสานต่อการบูรณปฏิสังขรณ์ และดูแลพระชี
เมื่อ พระครูภาวนาพิริยคุณ ( ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูภาวนารังสี ) เข้าบูรณะวัดใหญ่ชัยมงคล จนได้รับการยกฐานะจากวัดร้างเป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ นั้น พระเจดีย์มีสภาพทรุดโทรมมาก เป็นเพราะการถูกทำลายเมื่อคราวเสียกรุง พ.ศ. ๒๓๑๐ ประการหนึ่ง เป็นเพราะคนไทยกันเอง ขุดคุ้ยทำลายเพื่อหาของมีค่าเป็นประโยชน์ส่วนตัวประการหนึ่ง
และอีกประการหนึ่งพระเจดีย์มีอายุถึง ๔๐๐ ปี จึงชำรุดทรุดโทรมจนเหลือกำลังของวัดที่จะเข้าแก้ไขให้คงอยู่ต่อไป เนื่องจากพระเจดีย์นั้นมีลักษณะคล้ายจะล้มครืนลงไม่วันใดก็วันหนึ่ง เมื่อฝนตกพายุพัดจะมีเสียงลั่นเป็นที่น่าวิตกยิ่ง
พระครูภาวนารังสี จึงได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนที่จะสายเกินไป
ปรากฏว่าอีกไม่นานต่อมากรมศิลปากรได้รับงบประมาณบูรณะปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมพระ เจดีย์ชัยมงคล และบริเวณวัดใหญ่ชัยมงคล เฉพาะในเขตพุทธาวาส ๒๐ ล้านบาทเศษ กรมศิลปากรได้สั่งช่างเข้าดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ จนงานได้แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕
ย้อนมองกลับหลัง
ภาพความยิ่งใหญ่ครั้งอดีต
สิ่งก่อสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่วัดใหญ่ชัยมงคล ได้ร่วมกับหลาย ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ นอกจากพระเจดีย์ชัยมงคลแล้ว ยังมีอีกหลาย ๆ สิ่งที่น่าสนใจศึกษา
ทางด้านทิศตะวันออกของพระเจดีย์ชัยมงคลทรงสร้างพระอุโบสถหลังใหญ่ยังมีซากให้เห็นอยู่จนทุกวันนี้ ได้แก่ ด้านเหนือพระอุโบสถปัจจุบัน มีผนังพระอุโบสถเดิม ก่อด้วยอิฐถือปูนหนาประมาณ ๔๐ ซม. เหลือซากให้เห็นอยู่ค่อนข้างสมบูรณ์แต่ก็ซวนเซเต็มที อาศัยความหนาจึงทรงตัวอยู่ได้ ผนังด้านทิศใต้เหลือซากผนังด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถเพียงเล็กน้อยนอกนั้นกลายเป็นอิฐหักกากปูนทับถมกันอยู่ ซึ่งทางวัดได้ขนย้ายไปถมที่ลุ่มหมดแล้ว ตัวพระอุโบสถที่เห็นในปัจจุบันเป็นพระอุโบสถที่กรมศิลปากรออกแบบ แล้วทางวัดสร้างซ้อนไว้ในซากพระอุโบสถหลังเดิม
ทางด้านทิศตะวันตกของพระเจดีย์ชัยมงคล มีวิหารหลวง ที่เรียกว่า “ศาลาดิน” ซึ่งยังเหลือซากตอนฐานล่วงไว้ให้เห็น เข้าใจว่า คงเป็นสถานที่สำหรับพระเจ้าแผ่นดินบำเพ็ญพระราชกุศล
ติดกับศาลาดินด้านใต้ยังมี “เกย” สำหรับเจ้านายใช้เป็นที่เสด็จขึ้นลงยานพาหนะ
วิหารหลวงอีกหลังหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระอุโบสถ ติดกับกำแพงวัดซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์นั้น เข้าใจว่า เดิมน่าจะสร้างขึ้นเป็นทำนอง พระที่นั่งทรงธรรม มากกว่าจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป เพราะภายในไม่ปรากฏว่ามีฐานชุกชีสำหรับตั้งพระพุทธรูป
นอกจากนี้ยังมี “มุขเด็จ” แบบมุขเด็จของพระมหาปราสาท ยื่นออกไปทางทิศใต้สำหรับเสด็จออก ให้ประชาชนเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอีกด้วย
“วัดเจ้าพระยาไท-ชัยมงคล หรือวัดป่าแก้ว มากลายเป็นวัดร้าง เมื่อพุทธศักราช ๒๓๐๙ พม่าข้าศึกยกพลมาประชิดพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระที่นั่งสุริยาตรมรินทร์โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพเรือออกจากพระนครไปตั้งอยู่ที่วัดป่าแก้ว ทัพเรือไทยเสียทีข้าศึกจับพระยาเพชรบุรีได้ฆ่าเสียแล้วก็แตกกลับมา
พม่ายึดเอาวัดเจ้าพญาไทเป็นฐานปฏิบัติการ วัดใหญ่เจ้าพญาไทชัยมงคล หรือวัดป่าแก้วก็ถึงกาลวิปโยค...ฉิบหายลงด้วยน้ำมือข้าศึกผู้มีรากฐาน อุปนิสัยใจคอมาจากโจรป่าด้วยประการฉะนี้”
ปัจจุบันวัดใหญ่ชัยมงคล หรือวัดเจ้าพญาไทชัยมงคล หรือวัดป่าแก้วเหลือแต่ซาก....
สิ่งเหล่านี้เองที่เหลืออยู่ให้เราศึกษา แต่ว่าอิฐทุกก้อน ปูนทุกชิ้นแม้จะแหลกราญอยู่กับพื้นดินก็ยังมีความรู้สึกท้าทายผู้ไปพบเห็น ที่แหล่งนี้ และเป็นที่ประกาศชัยชนะอันบันลือเกียรติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชให้ปรากฏไป ตราบกัลป์ปาวสาน"(ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์)
วัดใหญ่ชัยมงคลในปัจจุบัน
สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หากเปรียบวัดใหญ่ชัยมงคลเป็นคนสักคนหนึ่งแล้ว ช่วงแรก ที่หลวงปู่ฉลวย สุธมฺโม และ หลวงปู่พระครูภาวนารังสี ได้บุกบั่น ฝ่าฟัน ต่อสู้ จนวัดได้เป็นวัด คงจะเปรียบได้กับ เด็กทารกแรกเกิด ที่ต้องประคับประคอง ดูแลกันอย่างดี
จนปัจจุบัน ( พ.ศ. ๒๕๕๑ ) วัดใหญ่ชัยมงคล ที่ได้พระครูพิสุทธิ์บุญสาร ( แก่น ปุญฺญสมฺปนฺโน ) เป็นเจ้าอาวาส พระมหาสำรอง ชยธมฺโม และ พระมหาบรรณ์ ปญฺญาธโร เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส แม่ชีสมจิต ควรเลี้ยง เป็นหัวหน้าสำนักแม่ชี คงจะเปรียบได้กับคนหนุ่มที่มีกำลังวังชาดี มีความเข้มแข็งในทุก ๆ ด้าน เช่น
ด้านการพัฒนาวัตถุ วัดใหญ่ชัยมงคล ได้รับการยกย่องให้เป็น วัดพัฒนาตัวอย่าง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ และต่อมายังได้รับการยกย่องอีกว่าเป็น วัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น พ.ศ. ๒๕๔๗
ด้านการพัฒนาบุคคลากร วัดใหญ่ชัยมงคล ได้พัฒนาบุคคลากรพระภิกษุจนเป็นที่ยอมรับ เห็นได้ชัดจาก การที่พระภิกษุจากวัดใหญ่ชัยมงคล ได้รับการคัดเลือกให้ไปดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ ในเขต อำเภอพระนครศรีอยุธยา พร้อมกันถึง ๓ รูป ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑
ด้านการพัฒนาการศึกษาปริยัติธรรม วัดใหญ่ชัยมงคล มีการเรียนการสอนหลักสูตรพระปริยัติธรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรนักธรรม หลักสูตรธรรมศึกษา เป็นต้น
ด้านการพัฒนาจิตใจ วัดใหญ่ชัยมงคล รักษามาตรฐานการปฏิบัติธรรมตามแนวทางของหลวงปู่พระครูภาวนารังสี อดีตเจ้าอาวาส ที่เน้นในเรื่องของกิจวัตร และพระกรรมฐาน พร้อมทั้งเปิดกว้างให้ผู้ที่ใฝ่ในการปฏิบัติได้มาฝึกหัดขัดเกลาในขั้นเบื้องต้น จนที่สุด วัดใหญ่ชัยมงคลได้รับการคัดเลือกจากมหาเถรสมาคม ให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แห่งที่ ๓
ในวันข้างหน้า ไม่มีใครอาจทราบได้ว่าวัดใหญ่ชัยมงคลจะเป็นอย่างไร แต่แน่นอนว่าทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างประกอบกันเข้าเกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีวันรุ่งเรือง วันเสื่อม และวันสูญ วัดเจ้าพระยาไทย ในอดีตเคยรุ่งเรืองเป็นอันมาก แต่ก็ต้องเสื่อมสิ้นไปในที่สุด วัดใหญ่ชัยมงคล ก็คงไม่พ้นจากความจริงในข้อนี้ แต่ก่อนจะถึงวันนั้นอยากให้ทุกท่านมาร่วมกัน รับรู้ความยิ่งใหญ่ ของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ที่ตลบอบอวลอยู่ทุกอณูของวัดใหญ่ชัยมงคล

หมายเหตุ : บทความร้อยละเก้าสิบเก้า คัดมาจาก หนังสือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วัดใหญ่ชัยมงคล, เพิ่มศักดิ์ วรรยางกูร เรียบเรียง, อัมรินทร์พรินติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), พิมพ์ครั้งที่ ๑, ๒๕๔๘, หน้า ๑๓๐-๑๓๗.

พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ทางเข้ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

จะมีการกระทำดั่งภาพที่เห็นอีกนานแค่ไหน

พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

ภาพเขียน สึนามิ ใต้ฐานพระอุโบสถ์


เหตุ และผล ของการกระทำของมนุษย์ ที่มีต่อธรรมชาติ

พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

ภาพเขียน ใต้ฐานพระอุโบสถ์กลางน้ำ


ภาพเขียน นิรยะภูมิ

พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

ศาลาราย รอบพระอุโบสถ์กลางน้ำ มจร.ส่วนกลาง


ศาลาราย รอบพระอุโบสถ์กลางน้ำ ศาลาแต่ละหลังนั้น ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประจำวันเกิดครบทุกวัน

พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

พระอุโบสถ์กลางน้ำ มจร.ส่วนกลาง


พระอุโบสถ์กลางน้ำ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ สร้างไว้ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ส่วนกลาง


พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

พระพุทธไสยาส์น วัดใหญ่ชัยมงคล


พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

พระเจดีย์ราย วัดใหญ่ชัยมงคล



พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

พระพุทธรูปรอบๆ องค์พระเจดีย์ วัดใหญ่ชัยมงคล


พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

บานประตูพระอุโบสถ์ด้านขวา วัดใหญ่ชัยมงคล


พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

ภายในพระอุโบสถ์ วัดใหญ่ชัยมงคล


พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

พระพุทธไสยาส์น วัดใหญ่ชัยมงคล


พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

เริ่มต้น ณ ที่นี่


พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช


สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างวัดใหญ่ชัยมงคล ฉลองชัยชนะ
พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

ทัศนะศึกษา วัดใหญ่ชัยมงคล


พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ เนื่องในวโรกาศ เสด็จพระราชดำเนินเปิดป้ายมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันศุกร์ที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
พิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และพิธีเปิดมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยุธยา วันที่ ๒ – ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
ณ อาคาร มวก.๔๘ พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
คณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ พระนิสิต และพระสอนศีลธรรม ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค จำนวน ๒๐,๐๐๐ รูป/คน รับเสด็จฯ

วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

เสื้อเหลือง ม 1/2



พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

ม. 1/1



พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

การจองเวร


พระพุทธภาษิต :

น หิ เวเรน เวรานิ สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ
อเวเรน จ สมฺมนฺติ เอส ธมฺโม สนนฺตโน

คำแปล
ในกาลไหนๆ เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร นี่เป็นธรรมเก่า

อธิบายความ
การผูกเวร ก็เหมือนกับการผูกพยาบาท เมื่อต่างฝ่ายต่างผูกใจเจ็บกันอยู่ เวรก็ไม่สามารถระงับลงได้ แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลิกผูกเวรเสียด้วยการให้อภัยและแผ่เมตตาให้เสมอๆ เวรย่อมระงับลงได้ในเวลาไม่นาน การไม่ผูกเวรทำให้จิตใจเราสบาย เมื่อใดใจผูกเวร เมื่อนั้นมองไปไหนก็เห็นแต่ศัตรู แต่เมื่อใดใจของเราไม่มีเวรกับใคร มีแต่เมตตาปรานี เมื่อนั้น มองไปทางใดก็เจอแต่มิตร เพราะฉะนั้น พระเจ้าโกศล เมื่อให้โอวาทพระราชโอรส ทรงพระนามว่า ฑีฆาวุกุมาร จึงตรัสว่า

ฑีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่กาลยาว อย่าเห็นแก่กาลนั้น เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร นี่เป็นธรรมเก่า

เพราะฉะนั้น ผู้ฉลาด เพื่อความสบายใจของตนเอง จึงไม่ควรผูกเวรไว้กับใครๆ จงจำแต่ความดีที่ผู้อื่นทำแก่ตน แต่อย่าจำความร้ายที่เขาทำให้ เพราะมันไม่มีประโยชน์แก่จิตใจ

คำว่า อย่าเห็นแก่กาลยาว นั้น หมายความว่าอย่าผูกเวรเอาไว้ เพราะเวรยิ่งผูกก็ยิ่งยาว คำว่า อย่าเห็นแก่กาลสั้น นั้น หมายความว่า อย่ารีบด่วนแตกจากมิตร มีอะไรก็ค่อยๆ ผ่อนปรนกันไป ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจเข้าใจผิดก็ได้ อย่าด่วนลงโทษใครง่ายเกินไป และอย่ารีบแตกจากใคร ขอให้พิจารณาเสียร้อยครั้งพันครั้ง

----------------เรื่องยักษิณีชื่อกาลี---------------

ที่เมืองสาวัตถี มีเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เมื่อบิดาสิ้นชีพแล้วก็ทำงานด้วยตนเองทั้งในบ้านและนอกบ้าน เลี้ยงมารดาอยู่ มารดาสงสารเขาจึงบอกว่าจะนำหญิงคนหนึ่งมาให้เป็นภรรยา เพื่อจักได้แบ่งเบาภาระในบ้านไปเสียบ้าง แต่ลูกชายก็ห้ามเสียหลายครั้งหลายหน เขาบอกแม่ว่ายังไม่ต้องการ แต่ฝ่ายแม่ต้องการ จึงออกจากบ้านจะไปสู่ตระกูลหนึ่ง ลูกชายจึงว่า หากแม่จะไปนำหญิงมาให้ได้จริงๆ แล้ว ก็จงไปสู่สกุลที่ลูกชอบ เขาได้บอกชื่อสกุลให้มารดา

มารดาของเขาไปสู่ขอหญิงสกุลนั้นมาให้บุตรชายแล้ว แต่หญิงนั้นเป็นหมัน หญิงผู้มารดาจึงพูดกับบุตรว่า อันตระกูลที่ไม่มีบุตรย่อมขาดสูญ เพราะฉะนั้น แม่จะไปนำหญิงอีกคนหนึ่งมาให้ภรรยาของเจ้า บุตรชายกล่าวว่า อันการจะไปนำหญิงอื่นมาอีกคนหนึ่งนั้น ไม่จำเป็น แต่มารดาก็ยังพูดอยู่บ่อยๆ

หญิงสะใภ้ได้ยินบ่อยๆ จึงคิดว่า "ธรรมดาบุตรย่อมฝืนมารดาไปได้ไม่นาน อีกสักหน่อยก็คงยอมให้นำสตรีอื่นมา หากเธอมีลูก ตัวเราก็จะลดฐานะลงมาเป็นหญิงรับใช้ อย่ากระนั้นเลย เราควรจะจัดการหาหญิงนั้นเสียเอง เพื่อจักได้อยู่ใต้อำนาจของเรา"

นางคิดดังนี้แล้ว จึงไปนำหญิงอันคุ้นเคยกับเธอจากตระกูลหนึ่งมา

ทีแรกๆ ก็ดี แต่พอนานเข้า มีจิตริษยาบ้าง ด้วยความกลัวว่าตนจะตกต่ำ หากภรรยาน้อยมีลูกบ้าง นางจึงคิดทำลายครรภ์ของภรรยาน้อย นางได้สั่งไว้ว่า เมื่อใดมีครรภ์ขอให้บอกนางแต่เนิ่นๆ

ภรรยาน้อยพาซื่อ คิดว่าเขาหวังดีกับตัว พอตั้งครรภ์ก็บอก นางเมียหลวงจึงประกอบยาใส่ลงไปในอาหาร โดยทำนองนี้ ครรภ์ของภรรยาน้อยจึงตกไป แท้งถึง 2 ครั้ง

พอครั้งที่สาม ภรรยาน้อยไปปรึกษากับเพื่อน พวกเพื่อนๆ พูดเป็นทำนองให้เฉลียวใจถึงภรรยาหลวง นางจึงระวังตัว คราวนี้ไม่ยอมบอก พยายามถนอมจนครรภ์แก่ นางเมียหลวงไม่ได้ช่องที่จะผสมยาลงไปในอาหารได้ เพราะเขาระวังตัวอยู่ จนกระทั่งครรภ์แก่ นางจึงได้โอกาส แต่ครรภ์ไม่ตก เพราะแก่เสียแล้ว แต่กลับนอนขวาง

ภรรยาน้อยได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัสจนสิ้นชีวิต ก่อนสิ้นชีพได้อธิษฐานขอจองเวรกับหญิงนั้น นางตายแล้วไปเกิดเป็นแมวตัวเมียในเรือนนั่นเอง

ฝ่ายสามีของนาง รู้ว่าภรรยาหลวงประกอบยาทำลายครรภ์ของภรรยาน้อยถึง 3 ครั้ง โกรธจัด ประหารภรรยาหลวงเสียถึงตาย นางไปเกิดเป็นแม่ไก่

พอแม่ไก่ตกไข่ แมวก็ไปกินเสียถึง 3 ครั้ง แม่ไก่ผูกพยาบาท ขอให้ได้เกิดเป็นอะไรสักอย่างหนึ่งที่พอทำร้ายนางแมวได้ แม่ไก่ไปเกิดเป็นแม่เสือเหลือง ส่วนนางแมวไปเกิดเป็นแม่เนื้อ พอแม่เนื้อคลอดลูก แม่เสือเหลืองก็มากินเสียทุกครั้ง แม่เนื้อผูกพยาบาท ตายจากชาตินั้นไปเกิดเป็นนางยักษิณี แม่เสือไปเกิดเป็น
หญิงชาวบ้านธรรมดา เมื่อหญิงนั้นคลอดลูก นางยักษิณีก็ปลอมแปลงตัวเป็น
หญิงสหายของเธอ มากินลูกเสียทุกครั้ง

พอครั้งที่ 3 หญิงนั้นหนีไปคลอดลูกที่อื่น และนางยักษิณีก็ติดเข้าเวรส่งน้ำให้
ท้าวเวสสุวรรณเสียหลายเดือน พอออกเวรก็รีบมายังบ้านของหญิงนั้น ทราบว่า เธอไปคลอดลูกที่บ้านเดิม คือบ้านพ่อแม่ของนาง

ยักษิณี อันกำลังแห่งเวรให้อุตสาหะ แล้วรีบวิ่งไปยังบ้านนั้น เวลานั้น หญิงคู่เวรคลอดลูกแล้ว กำลังกลับมาพร้อมด้วยสามี มาถึงสระแห่งหนึ่งหน้าวัดเชตวัน สามีลงอาบน้ำในสระ นางยืนอุ้มลูกให้ดื่มนมคอยอยู่ เหลียวมาเห็นนางยักษ์กำลังวิ่งมาอย่างเร็ว จึงร้องตะโกนให้สามีขึ้นมาช่วย เมื่อเห็นว่าสามีจะขึ้นมาไม่ทัน นางยักษ์วิ่งมากระชั้นชิดแล้ว นางจึงอุ้มลูกวิ่งหนีเข้าวัดเชตวัน

เวลานั้น พระศาสดากำลังประทับแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัทในธรรมสภา เธอนำลูกไปวางไว้ใกล้บาทแห่งพระผู้มีพระภาค ละล่ำละลักทูลว่า "ขอได้โปรดเป็นที่พึ่งของเด็กคนนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า"

นางยักษ์วิ่งไล่ตามมาอย่างกระชั้นชิด พอถึงประตูวัดเชตวัน สุมนเทพ ผู้สิงอยู่ที่ซุ้มประตูไม่ยอมให้เข้า

พระศาสดา ทรงทราบเหตุการณ์ทั้งปวงโดยตลอด รับสั่งให้พระอานนท์
ไปนำนางยักษ์เข้ามา เมื่อหญิงนั้นเห็นนางยักษ์เข้ามาก็ตกใจกลัว ร้องขอให้พระศาสดาช่วย ศาสดาตรัสปลอบว่า

"อย่ากลัวเลย ณ ที่นี้ นางยักษ์จะทำอันตรายไม่ได้" ดังนี้ ตรัสกับนางยักษ์ว่า

"ดูก่อนยักษิณี และกุลธิดา เพราะเหตุไร เจ้าทั้งสองจึงจองเวรกันเช่นนี้ ถ้ามิได้พบพระพุทธเจ้าเช่นเรา เวรของเจ้าทั้งสองก็จะดำรงอยู่ชั่วกัปป์ เหมือนเวรของงูกับพังพอน หมีกับไม้สะคร้อ และ กากับนกเค้า เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร นี่เป็นธรรมเก่า"

พระศาสดาทรงยังพระธรรมเทศนาให้พิสดารโดยอเนกปริยาย ในการจบเทศนา นางยักษ์ได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นโสดาบัน เป็นผู้มีศีล 5 สมบูรณ์ พระศาสดารับสั่งให้หญิงนั้นส่งลูกให้ยักษิณี กุลธิดากราบทูลว่า เธอกลัว พระศาสดาตรัสว่าอย่ากลัวเลย อันตรายจากยักษิณีไม่มีแล้ว นางจึงส่งลูกให้, นางยักษ์รับเด็กมากอดจูบแล้วส่งคืนให้มารดา แล้วร้องไห้ พระศาสดาตรัสถามว่าร้องไห้ทำไม นางทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์! เมื่อก่อนนี้ ข้าพระพุทธเจ้า หากินโดยไม่เลือกทาง ก็ยังไม่สามารถหาอาหารมาให้พอเต็มท้องได้ บัดนี้ ต่อจากนี้ไป ข้าพระพุทธเจ้าจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร?"

พระศาสดารับสั่งให้หญิงนั้น นำนางยักษ์ไปเลี้ยงไว้ที่บ้าน ให้ข้าวและน้ำ กระทำอุปการะอย่างดี

ยักษิณีรู้อุปการะของหญิงนั้นแล้ว ช่วยบอกว่า ปีนี้ฝนจะตกมากให้ทำนาบนที่ดอน, ปีนี้ฝนจะตกน้อยให้ทำนาในที่ลุ่ม กุลธิดาได้ทำตามคำแนะนำของยักษิณี ได้ข้าวดีทุกปี

คนชาวบ้านทั้งหลายรู้ข่าวเข้าก็ชวนกันมาถามบ้าง ยักษิณีก็บอกให้ คนทั้งหลายได้นำข้าว น้ำ และผลไม้มาให้ยักษิณีเป็นการตอบแทน ทั้งสองฝ่ายต่างมีอุปการะซึ่งกันและกันด้วยประการฉะนี้

เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวี แต่ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ดังพรรณนามาฉะนี้

หมายเหตุ : ลำดับชาติที่ทั้งสองจองเวรกัน เมียน้อย-นางแมว-นางเนื้อ-นางยักษ์
เมียหลวง-นางไก่-นางเสือเหลือง-กุลธิดา

พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

นิทานเสริม


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในอาณาจักรอันกว้างใหญ่ มีเจ้าหญิงองค์หนึ่ง ในบรรดาเจ้าหญิงหลายองค์ นางไม่ได้รูปงามเช่นเจ้าหญิงองค์อื่นๆ นางมีรูปลักษณ์ธรรมดานี่เอง แต่ด้วยจิตใจอันดีงาม ทำให้นางเป็นที่รักของประชาชน ความไม่เย่อหยิ่ง ความไม่ถือตัว มีน้ำใจ รอยยิ้มแจ่มใสของนางมัดใจประชาชนได้ง่ายดายมีชายมากมายในเมืองที่ทั้ง รูปงาม กล้าหาญ เก่งกาจ ฉลาด ชาติตระกูลดีมาชอบนาง แต่นางก็ปฏิเสธสิ้น เพราะหัวใจนาง มีไว้เพื่อเขาผู้นั้น...

เขาผู้นั้นคือนักดนตรีประจำราชสำนักคนหนึ่งที่ไม่ได้หล่อเหลาหรือเก่งโดดเด่นอะไร เขาเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งนี่เอง แต่คนธรรมดาคนหนึ่งในหมู่คนพิเศษ เขาก็โดดเด่นขึ้นมาชายรอบตัวนาง มีมารยาท

ชายรอบตัวนาง มีมารยาทอันงดงามสูงส่ง จนอาจจะเกินไป ซึ่งมันทำให้นางอึดอัด มีสติปัญญาที่เฉลียวฉลาดจนเกินไป ทำให้นางรู้สึกโง่เง่าเมื่อตามบทสนทนาไม่ทัน เก่งกาจเกินไปจนนางรู้สึกด้อยค่า กล้าหาญเกินไปจนนางรู้สึกกลัวว่าเขาเหล่านั้นจะตายไปด้วยเหตุผลงี่เง่า เช่นการไปหาองุ่นทองนอกฤดูกาล ทั้งๆที่นางไม่ต้องการ และที่สำคัญ...เขาเหล่านั้นมีความเป็นผู้นำมากจนเกินไป เขาประสงค์ให้นางตามรอยเท้าเขาทุกฝีก้าว ซึ่งนางไม่ประสงค์เลย

แต่สำหรับนักดนตรีผู้นี้ เขาเป็นคนที่ทำให้นางมีความสุขได้ เพราะเขาไม่ต้องใช้ช้อนสามอย่างในการกินอาหารสามชนิด เขาคุยเรื่องสบายๆด้วยท่าทางน่าสนใจ และเข้าใจได้ เขาเป็นนักเรียนที่ดีในเรื่องที่เขาต้องการเรียนรู้ และเป็นครูที่ดีในเรื่องที่นางต้องการเรียนรู้ เขาไม่ทำอะไรเสี่ยงอันตรายเพราะคิดว่าไม่คุ้มชีวิต และเขาไม่เคยเห็นนางเป็นผู้ตาม

แต่ทว่า....

นางมิอาจหยั่งรู้ว่าเขารักนางหรือไม่ ในสายตาเขา นางอาจเป็นเพียงเจ้าหญิงองค์หนึ่งที่มาฟังดนตรีและสนทนายามว่างเท่านั้น
พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

ยอดหญิงกตัญญู


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภหญิงชาวชนบทคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้

ความพิสดารว่า ในแคว้นโกศล มีคน ๓ คน ไถนาอยู่ที่ปากดงแห่งหนึ่ง ในสมัยนั้น พวกโจรในดง คุมพวกปล้นหมู่มนุษย์ แล้วพากันหนีไป พวกมนุษย์สืบจับโจรพวกนั้น เมื่อไม่พบ จึงตามมาจนถึงที่นั่น กล่าวว่า พวกเจ้าเที่ยวปล้นเขาในดงแล้ว เดี๋ยวนี้แสร้งทำเป็นชาวนา จับคนเหล่านั้น ด้วยสำคัญว่า พวกนี้เป็นโจร นำมาถวายพระเจ้าโกศล

ครั้งนั้นมีหญิงคนหนึ่ง มาร่ำไห้ว่า โปรดพระราชทานเครื่องนุ่งห่มแก่หม่อมฉันเถิด เดินวนเวียนพระราชนิเวศน์ไป ๆ มา ๆ พระราชาทรงสดับเสียงของนางแล้ว รับสั่งว่า พวกเจ้าจงให้ผ้าห่มแก่นาง พวกราชบุรุษ พากันหยิบผ้าสาฎกส่งให้ นางเห็นผ้านั้นแล้วกล่าวว่า ดิฉันไม่ได้ขอพระราชทานผ้านี้ดอก ดิฉันขอพระราชทานเครื่องนุ่งห่มคือสามี พวกมนุษย์พากันไปกราบบังคมทูลแด่พระราชาว่า พระเจ้าข้า นัยว่าหญิงผู้นี้มิได้พูดถึงผ้านุ่งห่มนี้ นางพูดเครื่องนุ่งห่มคือสามี พระราชาจึงรับสั่งให้นางเข้าเฝ้า มีพระราชดำรัสถามว่า ได้ยินว่าเจ้าขอผ้าคือสามีหรือ ? นางกราบทูลว่า เพคะ พระองค์ผู้สมมติเทพ สามีชื่อว่าเป็นผ้าห่มของสตรีโดยแท้ เพราะเมื่อไม่มีสามี แม้สตรีจะนุ่งผ้าราคาตั้งพันกระษาปณ์ จะต้องชื่อว่าเป็นหญิงเปลือยอยู่นั่นเอง เพคะ

พระราชาทรงเลื่อมใสนาง รับสั่งถามว่า คนทั้ง ๓ เหล่านี้ เป็นอะไรกับเจ้า ?

นางกราบทูลว่า ขอเดชะข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ คนหนึ่งเป็นสามี คนหนึ่งเป็นพี่ คนหนึ่งเป็นบุตร เพคะ

พระราชารับสั่งถามว่า เราพอใจเจ้า ในคน ๓ คนนี้ เราจะยกให้เจ้าคนหนึ่ง เจ้าปรารถนาคนไหนเล่า ?

นางกราบทูลว่า ขอเดชะ พระกรุณาเป็นล้นพ้น เมื่อหม่อมฉันยังมีชีวิตอยู่ สามีคนหนึ่งต้องหาได้ แม้บุตรก็ต้องได้ด้วย แต่เพราะมารดาบิดาของหม่อมฉันเสียชีวิตแล้ว พี่ชายคนเดียวหาได้ยากเพคะ จงโปรดพระราชทานพี่ชายแก่กระหม่อมฉันเถิด เพคะ พระราชาทรงยินดีแล้ว โปรดให้ปล่อยไปทั้ง ๓ คน เพราะอาศัยหญิงนั้นผู้เดียว คนทั้ง ๓ จึงพ้นจากทุกข์ได้ ด้วยประการฉะนี้

เรื่องนั้นรู้กันทั่วในหมู่ภิกษุ อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายประชุมกันในโรงธรรม นั่งสนทนาสรรเสริญคุณของหญิงนั้นว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย อาศัยหญิงคนเดียว คน ๓ คน พ้นทุกข์หมด พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรเล่า ? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่หญิงผู้นี้จะปลดเปลื้องคนทั้ง ๓ ให้พ้นจากทุกข์ ถึงแม้ในปางก่อน ก็ปลดเปลื้องแล้วเหมือนกัน ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี คนทั้ง ๓ พากันไถนาอยู่ที่ปากดง ดังนี้ ต่อนั้นไป เรื่องทั้งหมดก็เหมือนกับเรื่องข้างต้นนั่นแหละ (แต่ที่แปลกออกไป มีดังนี้) : เมื่อพระราชาตรัสถามว่า ในคนทั้ง ๓ เจ้าต้องการ ใครเล่า ? นางกราบทูลว่า ขอเดชะพระบารมีเป็นล้นพ้น พระองค์ ไม่สามารถจะพระราชทานหมดทั้ง ๓ คน หรือ เพคะ ? พระราชาตรัสว่า เออเราไม่อาจให้ได้ทั้ง ๓ คน นางกราบทูล ว่าขอเดชะพระกรุณาเป็นล้นพ้น แม้นไม่ทรงสามารถพระราชทาน ได้ทั้ง ๓ คนไซร้ ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานพี่ชายแก่หม่อมฉัน เถิด เจ้าต้องการพี่ชาย เพราะเหตุไรๆ ? จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ พระบารมีล้นเกล้า ธรรมดาคนเหล่านี้หาได้ง่าย แต่พี่ชาย กระหม่อมฉันหาได้ยากเพคะ

พระราชาทรงพระดำริว่า นางนี้พูดจริง ดังนี้แล้วมีพระทัยยินดี แล้วโปรดให้นำคนทั้ง ๓ มาจากเรือนจำ พระราชทานให้นางไป นางจึงพาคนทั้ง ๓ กลับไป.

พระบรมศาสดาก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในครั้งก่อน นางก็เคยช่วยคนทั้ง ๓ นี้ให้พ้นจากทุกข์แล้วเหมือนกัน ดังนี้ ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า คนทั้ง ๔ ในอดีตได้มา เป็นคนทั้ง ๔ ในปัจจุบัน ส่วนพระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

อย่าอยู่อย่างอยาก

๐ ชีวิตยังหายใจอยู่สู้หรือถอย
ป่วยการคอยทวนทบคำรพหนึ่ง
โหดเลวดีหรือร้ายไม่คำนึง
รอวันซึ่งกายลับกลับสู่ดิน

๐ ทิ้งความดีเด่นดังเคยพลั้งพลาด
รอยอาฆาตแค้นเคืองเรื่องหยามหมิ่น
ทุ่มเวลาที่เหลือเพื่อแผ่นดิน
ฝึกให้ชินกับต้นตอความพอเพียง

๐ กอบความสุขสอดใส่เติมไฟฝัน
เก็บรางวัลที่ขาดหายไม่ฟังเสียง
ชูธรงธรรมนำทางต่างตะเกียง
ลดละเลี่ยงสิ่งเร้าเย้ายวนใจ

๐ กายที่เห็นใจที่เป็นใช่เนลับ
เพียงแต่ปรับวิถีชีวิตใหม่
หยุดกินอยู่อย่างอยากก่อนจากไป
ฝากใครใครให้จำจดเป็นบทเรียน
พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

อุดมการณ์แห่งชีวิต

๐ อุดมการณ์กับความจนบนความอยาก
เป็นสิ่งอยากจะเสพสมอารมณ์ฝัน
อยากทำตามความคิดให้เร็วพลัน
มักมีสิ่งขวางกั้นให้สั่นคลอน

๐ ขาดความพร้อมขาดพื้นฐานสานจังหวะ
โอกาสเห็นจะจะยังหลุดถอน
วัยล่วงผ่านความคิดชักริดรอน
คอยบั่นทอนความแข็งกล้าให้ช้าลง

๐ ผ่อนความคิดใช้ชีวิตแบบเรียบเรียบ
อย่าไปเหยียบทางเก่าเดี๋ยวเราหลง
สิ่งไหนทำไม่ได้เดี๋ยวค่อยปลง
ทำวันนี้ให้เล็กลงกว่าวันวาน

๐ สัมผัสตนค้นชีวิตอย่าคิดหนัก
มองตัวเองเป็นหลักอย่าฟุ้งซ่าน
มีชีวิตเรียบง่ายให้กับงาน
อุดมการณ์จะสดใสใหญ่กว่าเดิม
พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

สัมมนาพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ณ มณฑลพิธีวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร


วันพุธ ที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๓
เวลา ๐๘.๓๐ น. พิธีเปิดการสัมมนา
โดย พระธรรมโกศาจารย์ เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส เจ้าคณะภาค ๒ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
บรรยายพิเศษเรื่อง นโยบายการศึกษาคุณธรรมนำความรู้ และบรรยายเรื่อง การศึกษาเพื่อสันติสุขของสังคมไทย

๑๓.๑๐ น. เวทีสานเสวนาเรื่อง บ ว ร กับการพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำให้ยั่งยืน
โดย ๑. พระปัญญานันทมุนี เจ้าอาวาสวัดปัญญานันทาราม
๒. ดร.บรรเจิดพร สู่แสนสุข รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาวัตกรรมการจัดการศึกษา
๓. นายพรหมา สิงหามาตย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกสว่าง อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย
ดำเนินรายการโดย คุณแทนคุณ จิตต์อิสระ พิธีกร/นักแสดง

เวลา ๑๕.๐๐ น. แบ่งกลุ่มสัมมนา ๓ กลุ่ม
- กลุ่มที่ ๑ เรื่อง บทบาทพระสงฆ์กับการพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ วิทยากรโดย พระครูศรีวรพินิจ ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขตพะเยา
- กลุ่มที่ ๒ เรื่อง บ ว ร สามประสานเพื่อพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำให้ยั่งยืน วิทยากรโดย พระปลัดอุดร อุตฺตรเมธี ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขตแพร่
- กลุ่มที่ ๓ เรื่อง ความสามารถของพระสอนศีลธรรมกับปัญหาศีลธรรมของเด็กและเยาวชนในสังคมไทย วิทยากรโดย พระครูสังฆรักษ์สมจิต พุทฺธวิริโย ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ วิทยาเขตนครราชสีมา
พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน

วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

ศาสนพิธี

 

นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่1 ถวายสังฆทาน เป็นพิธีกรรมหนึ่งในพระพุทธศาสนา

พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
Posted by Picasa

วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ความหมายและความสำคัญของโครงงาน - Presentation Transcript

1.ความหมาย และความสำคัญของโครงงาน กลุ่มที่ 3 การงาน อาชีพและเทคโนโลยี
2.โครงงาน หมายถึง กิจกรรมการศึกษาวิชาการงานที่ส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนได้เลือกขึ้นมาศึกษา ค้นคว้า ริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานตามที่ตนเองมีความถนัด มีความพร้อมและสนใจ แล้วลงมือปฏิบัติให้บรรลุตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ โดยมีรายละเอียดของงานที่จะทำไว้ล่วงหน้า เป็นขั้นตอน พร้อมทั้งคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้โดยได้รับคำแนะนำปรึกษาจากครูในโรงเรียนของตน ความหมาย
3.ความสำคัญของโครงงานในแง่ของการเรียนการสอน และการจัดกิจกรรมเสริมตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น ฉบับปรับปรุงพุทธศักราช 2533 มีดังนี้คือ 1. ด้านนักเรียน 2. ด้านโรงเรียนและครูอาจารย์ 3. ด้านท้องถิ่น ความสำคัญของโครงงาน
4.1. ด้านนักเรียน ก่อให้เกิดคุณค่าต่าง ๆ ดังนี้คือ 1.1 ช่วยสร้างความหวังใหม่ในการริเริ่มงานที่จะนำไปสู่งานอาชีพ และการศึกษาต่อที่ตนเองมีความถนัด และสนใจ 1.2 สร้างเสริมประสบการณ์จากการปฏิบัติจริง ด้วยชีวิตจริง ส่งผลให้เกิดความเข้าใจอย่างซาบซึ้งในโครงงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมา 1.3 ได้มีโอกาสทดสอบความถนัดของตนเอง และการแก้ปัญหาในงานที่ตนเองสนใจและมีความพร้อม ส่งผลให้เกิดความมั่นใจในการดำเนินงานต่อไป 1.4 ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจที่ได้สร้างเกียรติประวัติในโครงงานที่ ได้ริเริ่มสร้างสรรค์ 1 . ด้านนักเรียน
5.1.5 ก่อให้เกิดความรัก ความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีงามต่อกันในระหว่างเพื่อนนักเรียนที่ปฏิบัติงานเป็นกลุ่ม
1.6 ก่อให้เกิดความรู้ทางวิชาการที่กว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับความสำเร็จในการศึกษาตามหลักสูตรและตรงกับจุดหมายที่กำหนดไว้
1 . ด้านนักเรียน
6.2. ด้านโรงเรียนและครูอาจารย์ ก่อให้เกิดคุณค่าต่าง ๆ ดังนี้คือ
2.1 เกิดการประสานงานทางวิชาการที่ผสมผสานหรือบูรณาการเกิดขึ้นในโรงเรียน ตรงกับหลักสูตรมัธยมศึกษา และแนวทางการพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ
2.2 เกิดความเข้าใจที่ตรงกันว่า การเรียนการสอนในปัจจุบันขึ้นอยู่กับการฝึกปฏิบัติจริงในโครงงานของนักเรียนมากกว่าที่จะเรียนอยู่แต่ในห้องเรียนเท่านั้น 2. ด้านโรงเรียนและครูอาจารย์
2.3 เกิดศูนย์รวมสื่อการเรียนการสอน หรือศูนย์วัสดุอุปกรณ์การสอน สำหรับให้หมวดวิชาต่าง ๆ ในโรงเรียนได้ใช้ร่วมกัน ส่งผลให้นักเรียนได้มีโอกาสฝึกใช้สื่อการสอนอย่างแท้จริงและหลากหลาย 2.4 เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างของนักเรียน โรงเรียน และครูอาจารย์ที่มีโอกาสปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิด และเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะช่องว่างที่ต่างกัน 2. ด้านโรงเรียนและครูอาจารย์
8.3. ด้านท้องถิ่น ก่อให้เกิดคุณค่าต่าง ๆ ดังนี้คือ
3.1 การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ความรู้ ผลงานในเชิงปฏิบัติของโครงงานที่ประสบความสำเร็จไปสู่ท้องถิ่น ทำให้ท้องถิ่นกับโรงเรียนมีความเข้าใจและประสานสัมพันธ์กันดียิ่ง
3.2 ช่วยลดปัญหาวัยรุ่นในท้องถิ่นเกี่ยวกับความประพฤติ จรรยามารยาท และศีลธรรม เพราะนักเรียนที่มีโครงงานมักจะเป็นนักเรียนที่มีความประพฤติดี มุ่งมั่นและสนใจการศึกษาเล่าเรียนเท่านั้น 3. ด้านท้องถิ่น
9.3.3 ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นมีพื้นฐานทางการศึกษาดี โดยเฉพาะงานอาชีพที่หลากหลายและการพัฒนาการศึกษาที่มุ่งเน้นให้เยาวชนของชาติมีนิสัยรักการทำงาน ไม่เป็นคนหยิบโหย่งและช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครองด้วยดี 3. ด้านท้องถิ่น

krunangrong.ความหมายและความสำคัญของโครงงาน, http://www.slideshare.net/krunangrong/ss-3611273, 13 มิ.ย. 53,11.39 น. พระจิตติเทพ ฌานวโร

โครงงาน คืออะไร

โครงงานเป็นการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือหลายๆสิ่งที่อยากรู้คำตอบให้ลึกซึ้ง
หรือเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆให้มากขึ้น โดยใช้กระบวนการ วิธีการที่ศึกษาอย่างมีระบบ เป็นขั้นตอน
มีการวางแผนในการศึกษาอย่างละเอียด ปฏิบัติงานตามแผนที่วางไว้ จนได้ข้อสรุปหรือผลสรุปที่เป็นคำตอบในเรื่องนั้นๆ
การจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน คือ การจัดประสบการณ์ในการปฏิบัติงานให้แก่เด็กเหมือนกับการทำงานในชีวิตจริง เพื่อให้เด็กมีประสบการณ์ตรง เด็กจะได้เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหารู้จักรู้จักการทำงานอย่างมีระบบ รู้จักการวางแผนในการทำงาน ฝึกการคิดวิเคราะห์และเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง
โครงงานจัดเป็นการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่ทำให้ผู้เรียนรู้เรียนรู้ด้วยตนเองโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นขั้นตอนและใช้ความรู้ที่ตนเองได้มาบูรณาการ
ประเภทโครงงาน แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่
๑. โครงงานตามสาระการเรียนรู้ เป็นการใช้บูรณาการร่วมกับการเรียนรู้ ทักษะและเป็นพื้นฐานในการกำหนดโครงงานและปฏิบัติ
๒. โครงงานตามความสนใจ เป็นโครงงานที่ผู้เรียนกำหนดขั้นตอน ความถนัด ความสนใจ ความต้องการ โดยใช้ทักษะความรู้ จากกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆมาบูรณาการเป็นโครงงานและปฏิบัติ
สามารถแบ่งได้ ๔ รูปแบบ ตามวัตถุประสงค์
1. โครงงานที่เป็นการสำรวจ รวบรวมข้อมูล
2. โครงงานที่เป็นการค้นคว้า ทดลอง
3. โครงงานที่เป็นการศึกษาทฤษฎี หลักการ หรือแนวคิดใหม่ๆ
4. โครงงานที่เป็นการประดิษฐ์ คิดค้น
• โครงงานที่เป็นการสำรวจ รวบรวมข้อมูล
โครงงานประเภทนี้ เป็นโครงงานที่มีวัตถุประสงค์ในการรวบรวมข้อมูล เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วนำข้อมูล นั้นมาจำแนกเป็นหมวดหมู่ ในรูปแบบที่เหมาะสม เช่น แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบบันทึก เป็นต้น
• โครงงานที่เป็นการค้นคว้า ทดลอง
เป็นโครงงานที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อการศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ โดยออกแบบในรูปผลการทดลอง เพื่อศึกษาตัวแปรหนึ่ง จะมีผลต่อตัวแปรที่ต้องการศึกษาอย่างไร ด้วยการควบคุมตัวแปร
• โครงงานที่เป็นการศึกษาทฤษฎี หลักการ หรือแนวคิดใหม่ๆ
เป็นโครงงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอความรู้ หรือหลักการใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ยังไม่มีใครเคยคิดหรือขัดแย้ง หรือขยายจากของเดิมที่มีอยู่ ซึ่งต้องผ่านการพิสูจน์อย่างมีหลักการก่อน
• โครงงานที่เป็นการประดิษฐ์ คิดค้น
เป็นโครงงานที่มีวัตถุประสงค์ คือ การนำความรู้ทฤษฎี หลักการ มาประยุกต์ใช้ โดยประดิษฐ์เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ เพื่อประโยชน์ต่างๆ หรืออาจเป็นการประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ หรือปรับปรุงของเดิมให้ดีขึ้นก็ได้
ขั้นตอนการทำโครงงาน
ขั้นตอนที่ ๑ การคิดและเลือกหัวเรื่อง เป็นการหาหัวข้อในการทดลอง ในการที่จะอยากรู้อยากเห็น
ขั้นตอนที่ ๒ การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการขอคำปรึกษา หรือข้อมูลต่างๆจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง
ขั้นตอนที่ ๓ การเขียนเค้าโครงของโครงงาน โดยทั่วไปเค้าโครงของโครงงานจะมีหัวข้อดังต่อไปนี้
หัวข้อ/รายการ
รายละเอียดที่ต้องระบุ
1.ชื่อโครงงาน 2.ชื่อผู้ทำโครงงาน 3.ชื่อที่ปรึกษาโครงงาน 4.ระยะเวลาดำเนินการ 5.หลักการและเหตุผล 6.จุดหมาย/วัตถุประสงค์ 7.สมมติฐานของการศึกษาโครงงาน 8.ขั้นตอนการดำเนินงาน 9.ปฏิบัติโครงงาน 10. ผลที่คาดว่าจะได้รับ 11. บรรณานุกรม
1. ทำอะไร กับใคร เพื่ออะไร 2. ผู้รับผิดชอบโครงงานนี้ 3. ผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ 4. ระยะเวลาดำเนินงานโครงงานตั้งแต่ต้นจนจบ 5. เหตุผลและความคาดหวัง 6. สิ่งที่ต้องการให้เกิดเมื่อสิ้นสุดการทำโครงงาน 7. สิ่งที่คาดว่าจะเกิดเมื่อสิ้นสุดการทำโครงงาน 8. ขั้นตอนการทำงาน เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ สถานที่ 9. วัน เวลา และกิจกรรมดำเนินงานต่างๆตั้งแต่ต้นจนเสร็จ 10. สภาพของผลที่ต้องการให้เกิดทั้งที่เป็นผลผลิต กระบวนการ และผลกระทบ 11. ชื่อเอกสารข้อมูล ที่ได้จากแหล่งต่างๆ
ขั้นตอนที่ ๔ การปฏิบัติโครงงาน เป็นการดำเนินงานตามแผน ที่ได้กำหนดไว้ในเค้าโครงของโครงงาน และต้องมีการจดบันทึกข้อมูลต่างๆได้อย่างละเอียด และต้องจัดทำอย่างเป็นระบบ ระเบียบ เพื่อที่จะได้ใช้เป็นข้อมูลต่อไป
ขั้นตอนที่ ๕ การเขียนรายงาน ควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย กระชับ ชัดเจน และครอบคลุมประเด็นสำคัญของโครงงาน โดยสามารถเขียนให้อยู่ในรูปต่างๆ เช่น การสรุป รายงานผล ซึ่งประกอบไปด้วยหัวข้อต่างๆ เช่น บทคัดย่อ บทนำ เอกสารที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ขั้นตอนที่ ๖ การแสดงผล การแสดงผลงาน เป็นการนำเสนอผลงาน สามารถจัดได้หลายรูปแบบ เช่น การจัดนิทรรศการ หรือทำเป็นสิ่งตีพิมพ์ การสอนแบบเพื่อนสอนเพื่อน ตามแต่ความเหมาะสมของโครงงาน
ตัวอย่างเค้าโครงงาน
ชื่อโครงงาน.....................................................................................................
คณะทำงาน.....................................................................................................
อาจารย์ที่ปรึกษา.................................................................................................
1) แนวคิดที่มาและความสำคัญที่ต้องการศึกษา.....................................................
..........2) หลักการทฤษฎี หรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง ( ว่ามีใครทำอะไรไว้บ้าง)...............................
..........3) จุดมุ่งหมายของการทดลอง........................................................................
..........4) สมมุติฐานที่กำหนด..............................................................................
..........5). วิธีดำเนินการทดลอง..............................................................................
..........6) งบประมาณที่ใช้ในการทดลอง..................................................................
..........7. ประโยชน์ที่จะได้รับ..................................................................................
8.) ชื่อเอกสารอ้างอิง...................................................................................
ตัวอย่างโครงงานการศึกษาเรื่องการบานของดอกบัว
. 1. แนวคิด ที่มา และความสำคัญที่ต้องศึกษา ..............การกำหนดปัญหาในการจัดทำโครงงานเกิดจากการสังเกตที่นำไปสู่การแก้ปัญหาเช้น สังเกตว่า ดอกบัวจะบานตอนเช้า ประมาณ 14.00 น. ดอกบัวจะหุบ ( การสังเกต ) ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ( ปัญหา )
..........2. หลักการ ทฤษฎี เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง ( ว่ามีใครทำอะไรไว้บ้าง ) ...............ศึกษาค้นคว้าเอกสารความรู้ บทความ ทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสัมภาษณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องที่เกี่ยวข้อง
..........3. จุดมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้าและการทดลอง ...............เป็นการตั้งข้อคิดเพื่อที่จะหาคำตอบที่เกิดจากปัญหา ( การบานและการหุบของดอกบัวในเวลาที่
แตกต่างกัน ) ว่าเกิดจากอะไรโดยคิดคำตอบไว้หลายๆทางเช่นคิดว่า * ดอกบัวบานเช้า เนื่องจากอุณหภูมิตอนเช้าเหมาะสมต่อการบานของดอกบัว * ดอกบัวบานตอนเช้า เนื่องจากความเข้มของแสงช่วงเช้าน้อยกว่ช่วงบ่าย * ดอกบัวตอนเช้า เนื่องจากเป็นพฤติกรรมอันเนื่องมาจากพันธุกรรมของดอกบัวซึ่งมีมาตั้งแต่กำเนิด จากตั้งสมมุติฐานไว้ 3 ประเด็น นักเรียนจะมีการตรวจสอบสมมุติฐานว่าสมมุติฐานใดน่าจะเป็นไปได้ ก็เลือกมา 1 สมมุติฐาน แต่ถ้าจะมีการพิสูจน์ว่าสมมุติฐานใดน่าจะเป็นไปได้มากหรือเป็นจริง ก็ต้องดำเนินการทดลองค้นคว้าต่อไป( ถามกับตอบของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ )
..........4. วิธีดำเนินการทดลอง ...............วิธีการดำเนินการทดลองเพื่อนำไปสู่การตรวจสอบสมมุติฐานว่าสิ่งที่กำหนดไว้เป็นจริงหรือไม่ เช่น กำหนดสมมุติฐานไว้ว่า ดอกบัวบานช่วงเช้าน่าจะเกิดจากการเหมาะสมของความเข้มของแสง นักเรียนต้องดำเนินการทดลองต่อไปนี้
..........1) ออกแบบวิธีการทดลอง โดยกำหนดตัวแปรต่างๆ มี 3 ประเภท คือ
ตัวแปรต้น คือ สิ่งที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผลต่างๆ หรือสิ่งที่เราต้องการทดลองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผลเช่นนั้นจริงหรือไม่ จากสมมุติฐานที่กำหนด ตัวแปรนี้คือ ความเข้มของแสงนั่นเอง
ตัวแปรตาม คือ สิ่งที่เป็นผล เนื่องจากตัวแปรต้น ในที่นี้คือ การบานของดอกบัว
ตัวแปรควบคุม คือ สิ่งอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากตัวแปรต้นที่มีผลต่อการทดลองเราไม่ต้องการศึกษา จึงต้องหาวิธีการควบคุมไว้ เพื่อไม่ให้มีข้อขัดแย้งของการทดลอง เช่น ชนิดของดอกบัว จำนวนต้นที่นำมาทดลอง อุณหภูมิต่างๆ เป็นต้น
..........2) จัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ทดลอง โดยให้ผู้ทดลองกำหนดว่า หากจะทดลองแล้วจะใช้วัสดุอะไรบ้าง เช่น ต้นของดอกบัว กล่องกระดาษ โคมไฟที่มีหลอดไฟกำลังวัตต์ต่างๆ กันนำมาใช้ทดลอง
..........3) บันทึกข้อมูล โดยกำหนดเป็นตารางบันทึกผล และในตารางนั้นจะบันทึกอะไรบ้าง เช่น บันทึกระยะเวลาที่เริ่มบาน บันทึกความเข้มของแสงต่างๆ บันทึกสิ่งที่สังเกตได้จากการทดลอง เป็นต้น
..........4) กำหนดระยะเวลาการทดลอง ว่าจะทดลองในช่วงเวลาใดบ้าง จะสังเกตผลการทดลองอย่างไร เวลาใด และจะทำการทดลองให้เสร็จสิ้นช่วงเวลาใด และสรุปผลทดลองช่วงไหน
..........5) ลงมือทำการทดลอง นักเรียนเริ่มปฏิบัติทำการทดลอง ให้เป็นไปตามกำหนดเวลา
..........5. การสรุปผลการทดลอง ..........นำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์ความน่าจะเป็นไปได้ว่าตรงกับสมมุติฐานที่กำหนดไว้หรือไม่จากนั้นจึงนำมาจัดทำเป็นรายงาน โครงงานวิทยาศาสตร์ เพื่อจะให้ได้ความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
..........ข้อจำกัด
..........การจัดทำโครงงานจะประสบความสำเร็จได้ มีข้อจำกัดดังนี้
..........1. การจัดโครงงานต่างๆ ทั้งครูผู้สอนและเด็กจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ทำค่อนข้างมาก ต้องมีการศึกษาค้นคว้าเอกสาร ความรู้ต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนระหว่างทำการทดลอง
..........2. เรื่องที่ทำต้องเป็นสิ่งที่ใกล้ตัว ผลที่ได้ควรเกิดประโยชน์แก่ตัวนักเรียนหรือบุคคลในท้องถิ่น
..........3. เรื่องที่ทำต้องเหมาะสมกับวัยของเด็ก เด็กสามารถทดลองได้
..........4. การออกแบบทดลองจะต้องครอบคลุมจุดหมายที่กำหนดไว้
..........5.ระหว่างการทำโครงงานจะต้องมีการแก้ปัญหาเด็กจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องของกระบวนการแก้ปัญหาและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
การสอนตามหลักการสอนแบบโครงการ
การสอนแบบโครงการ หมายถึง การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ให้นักเรียนศึกษาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างลุ่มลึก ศึกษาลงไปในรายละเอียดของเรื่องนั้นๆ จนพบคำตอบที่ต้องการ เรื่องที่นักเรียนศึกษานั้นเป็นเรื่องที่นักเรียนเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเองตามความสนใจของตน ประเด็นที่ศึกษาก็เป็นประเด็นที่นักเรียนตั้งคำถามขึ้นมาเอง การศึกษาจะเป็นการศึกษาในลักษณะของการให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ตรงกับเรื่องที่ศึกษานั้น ในการศึกษาจะใช้ระยะเวลาที่ยาวนานอย่างเพียงพอที่จะให้นักเรียนได้ค้นพบคำตอบ และคลี่คลายความสงสัยใคร่รู้ เมื่อนักเรียนค้นพบคำตอบที่เป็นความรู้ที่ต้องการแล้วจะนำความรู้นั้นมานำเสนอในรูปของงานที่นักเรียนเลือกเองอาจจะเป็นงานเขียน งานวาดภาพระบายสี การสร้างแบบจำลอง การเล่นสมมุติ ละคร การทำหนังสือ หรือรูปแบบอื่นๆเพื่อนำเสนอต่อเพื่อนๆและคนอื่นๆ อันจะแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของกระบวนการศึกษาของตน
กระบวนการการเรียนการสอน
การสอนแบบโครงการเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่มีความยืดหยุ่นสูงมาก แต่ก็มีขั้นตอนในการสอนที่ชัดเจน ตลอดโครงการหนึ่งใดๆที่นักเรียนเลือกทำจะใช้เวลาในการทำโครงการ วันละ 50-70 นาที ตลอดโครงการบางทีอาจจะใช้เวลา 1 สัปดาห์ หรือ 3 สัปดาห์ หรือ 4 สัปดาห์ หรือ 3 เดือน ขึ้นอยู่กับหัวข้อโครงการที่นักเรียนเลือกและขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่นักเรียนเลือกปฏิบัติเพื่อค้นหาคำตอบและนำเสนอผลการศึกษาในครั้งนั้น ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามรูปแบบการสอนแบบโครงการมี 3 ขั้นตอนใหญ่ๆ คือ
การวางแผนโครงการ
เป็นการเลือกหัวข้อโครงการโดยครูและนักเรียนร่วมกัน หัวข้อโครงการมาจากความสนใจของนักเรียนเป็นหลัก แต่ครูก็ต้องมีส่วนในการแนะนำการเลือกหัวข้อโครงการโดยครูพิจารณาเกณฑ์ในการเลือกหัวข้อโครงการ ดังนี้
1. เป็นเรื่องที่มีอยู่จริงและเป็นไปได้ มีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
2. เป็นเรื่องที่นักเรียนสนใจ
3. นักเรียนพอมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนั้นอยู่บ้าง
4. เป็นเรื่องที่นักเรียนมีโอกาสได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง
5. มีแหล่งทรัพยากรในการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น
6. เป็นเรื่องที่เปิดโอกาสให้นักเรียนร่วมมือกันในการทำโครงการ
7. เป็นเรื่องที่เปิดโอกาสนักเรียนได้สร้างสิ่งต่างๆและมีโอกาสเล่นสมมุติ
8. นักเรียนได้พัฒนาการครบถ้วนทุกด้านตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
9. เป็นเรื่องที่นักเรียนสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการทำกิจกรรมอื่นๆ
10. เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ
11. เป็นเรื่องที่ไม่กว้างเกินไป จนทำให้ไม่สามารถศึกษาลึกลงไปในรายละเอียดได้
ขั้นที่ 1 เริ่มต้นโครงการ
ขั้นนี้เป็นการทบทวนความรู้เดิมของนักเรียนที่มีเกี่ยวกับหัวข้อของโครงการแล้วแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้นั้นแก่นักเรียนคนอื่นๆ และเป็นการสร้างความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับหัวข้อโครงการในรายละเอียดลึกลงไป
•ครูอภิปรายร่วมกับนักเรียนเกี่ยวกับหัวข้อโครงการและช่วยกระตุ้นให้นักเรียนนำเสนอความรู้และประ สบการณ์ เดิมของตน
•นักเรียนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้เดิมเกี่ยวกับโครงการกับเพื่อนๆโดยการอภิปราย และนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ เช่นการวาดภาพระบายสี การทำงานศิลปะอื่นๆ การเขียน การทำแผนภูมิ
•ครูตรวจสอบและบันทึกความรู้ประสบการณ์ที่นักเรียนมีอยู่เดิม
•ครูช่วยนักเรียนตั้งคำถามเกี่ยวกับหัวข้อของโครงการเพื่อทำการศึกษาอย่างลึกและละเอียดต่อไป
•ครูจดบันทึกคำพูด คำถามของนักเรียนแล้วเลือกนำมาจัดแสดงในห้องเรียนเพื่อช่วย ให้นักเรียนได้ตรวจสอบประเด็นคำถามที่นักเรียนต้องการศึกษา
ขั้นที่ 2 พัฒนาโครงการ
ในขั้นนี้นักเรียนจะได้ทำงานภายใต้การดูแลแนะนำของครู เป็นทั้งการทำงานเดี่ยว งานกลุ่มเล็กๆของคนที่มีความสนใจตรงกันหรือกลุ่มใหญ่ งานที่ทำเป็นการนำเสนอการเรียนรู้ที่เป็นผลของการศึกษาหาคำตอบตามคำถามในขั้นที่ 1 โดยแสดงออกในรูปของการสร้างสิ่งต่างๆ งานศิลปะ การเล่นสมมุติ และเป็นขั้นที่นักเรียนจะได้ออกไปศึกษาข้อเท็จจริงโดยการมีประสบการณ์ตรงกับสิ่งนั้นๆ
•ครูดำเนินการให้นักเรียนได้ออกไปศึกษาจากแหล่งความรู้จริงๆ ให้มีโอกาสได้สัมผัสกับแหล่งความรู้ที่เป็นสิ่งของ สถานที่กระบวนการหรือบุคคลด้วยตนเอง ให้เกิดประสบการณ์ตรง
•นักเรียนเข้าไปสำรวจ สังเกตและสัมภาษณ์ อย่างใกล้ชิด
•ค้นหาคำตอบที่ต้องการ และตั้งประเด็นคำถามเกี่ยวกับเรื่องนั้นขึ้นใหม่ให้ได้รายละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น
•ครูจัดเตรียมแหล่งความรู้ต่างๆสนับสนุน เช่น หนังสือ ของจริง หุ่นจำลองเพื่อที่นักเรียนจะได้ตรวจสอบความรู้ของตน และครูเตรียมวัสดุอุปกรณ์ต่างๆสำหรับการออกไปแสวงหาความรู้ให้นักเรียน
•นักเรียนนำความรู้ใหม่ที่ได้มานำเสนอในรูปแบบต่างๆ เช่น การสร้างแบบจำลอง การวาดภาพระบายสี การทำแผนภูมิ การทำหนังสือ การเล่นสมมุติ
ขั้นที่ 3 รวบรวมสรุป
ขั้นนี้ครูจัดเตรียมสถานะการณ์เพื่อรวบรวมผลการศึกษาตามโครงการจัดนำเสนอแก่คนอื่นๆ เช่น นักเรียนในชั้นเรียนอื่นๆ บุคลากรในโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ปกครอง
•ครูช่วยนักเรียนเลือกและจัดเตรียมผลงานที่จะนำเสนอ
•นักเรียนประเมินผลงานของตนเองและเลือกผลงานที่จะนำเสนอ
•ครูแนะนำให้นักเรียนนำความรู้ใหม่ที่ได้นำเสนอในรูปแบบต่างๆเช่น งานศิลปะ การแสดงละคร เพลง แต่งเป็นนิทานหรือทำหนังสือ
•ครูอาจจะช่วยนักเรียนตั้งประเด็นความสนใจขึ้นใหม่สำหรับโครงการต่อไป กิจกรรมหลักของการสอนแบบโครงการ
แม้ว่าการสอนแบบโครงการจะมีลักษณะยืดหยุ่นสูงกิจกรรมการเรียนการสอนส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับความสนใจของนักเรียน ครูเป็นผู้คอยสังเกตบันทึกความคิดและคำถามตามความสนใจของนักเรียนแล้วจัดกิจกรรมสนองตอบความต้องการเหล่านั้นก็ตาม แต่ก็ยังมีกิจกรรมหลักๆ ที่ใช้ในทุกขั้นของการสอนในแบบนี้ กิจกรรมหลักดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ใช้ในขั้นการสอนทั้ง 3 ขั้นตลอดโครงการ กิจกรรมดังกล่าวคือ
1. การอภิปราย ในเด็กเล็กๆระดับชั้นอนุบาลการอภิปรายในกลุ่มเล็กๆจะช่วย
นักเรียนให้ได้มีโอกาสสนทนากับครู ครูได้ตรวจสอบ บันทึกความรู้และความสนใจของนักเรียน และเป็นการช่วยพัฒนาความคิดของนักเรียน เมื่อนักเรียนมีโอกาสได้สนทนากับครูเกี่ยวกับหัวข้อของโครงการในกลุ่มเล็กๆก่อน จะเป็นการช่วยให้นักเรียนสามารถแสดงความคิดเห็นในการอภิปรายกลุ่มใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น
2. การทัศนศึกษา ในที่นี้หมายถึงการที่นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงทุกๆอย่าง ไม่ได้หมายความถึง การเดินทางออกไปศึกษายังสถานที่ต่างๆนอกโรงเรียนเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึง การได้พูดคุยสัมภาษณ์บุคคลต่างๆไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองหรือคนอื่นๆ การสำรวจ สังเกตสิ่งต่างๆอย่างใกล้ชิดนอกห้องเรียนในบริเวณโรงเรียน หรือแม้กระทั่งการได้สังเกตการทำงานโครงการของเพื่อนร่วมชั้นอย่างใกล้ชิด การทัศนศึกษาจะทำให้นักเรียนสร้างความรู้และเรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง นักเรียนจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อเขามีโอกาส ได้เห็น ได้ฟัง ได้สัมผัส ได้ดมกลิ่น ชิมรส สิ่งที่เป็นจริงที่เขาสนใจ ในเด็กเล็กๆ การทัศนศึกษาควรอยู่ในละแวกใกล้ๆโรงเรียน ไม่ควรต้องใช้เวลาในการเดินทางมากจนเกินไป ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นข้อพึงพิจารณาของครูในการเลือกหัวข้อของโครงการด้วย
3. กิจกรรมการนำเสนอ เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้นำเสนอความรู้ ทั้งที่เป็นความรู้เดิมก่อนการเริ่มโครงการ หรือความรู้ที่ได้จากการทำโครงการ ซึ่งเป็นการย้อนกลับไปคิดและรวบรวมความรู้และความคิดที่เขามีอยู่อันจะนำไปสู่การตั้งข้อคำถามที่จะทำการค้นหาคำตอบต่อไป วิธีการที่จะนำเสนอในเด็กเล็กๆจะออกมาในรูปของการวาดภาพระบายสี การเขียนโดยการช่วยเหลือของครู การเล่นสมมุติ การสร้างของจำลอง การทำแผนภูมิ
4. กิจกรรมการศึกษาค้นคว้า นักเรียนสามารถศึกษาค้นคว้าหาคำตอบของคำถามที่เขาสนใจได้จากแหล่งความรู้หลากหลาย ไม่ว่าจะจากบุคคล สิ่งของ สถานที่ หรือหนังสือ ด้วยการสัมภาษณ์ หรือสังเกตอย่างใกล้ชิด การสัมผัสจับต้อง การบันทึกรวบรวม
5. การจัดแสดง เป็นงานนำผลงานของนักเรียนที่เกิดขึ้นในกระบวนการของโครงการตั้งแต่ขั้นที่ 1 เริ่มต้นโครงการ มาจัดแสดงในห้องเรียน ในรูปของการติดบนป้ายนิเทศ บนผนังห้องเรียน ในกรณีที่เป็นภาพวาด งานเขียน ภาพถ่าย หรือจัดแสดงบนโต๊ะหรือมุมใดมุมหนึ่งของห้องเรียน การจัดแสดงผลงานจะเป็นแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างนักเรียนกับเพื่อนคนอื่นๆในห้องเรียน เป็นการแสดงให้เห็นความก้าวหน้าในการทำโครงการของนักเรียน เป็นการย้ำนักเรียนให้เห็นถึงประเด็นที่นักเรียนกำลังศึกษา และยังเป็นการแสดงให้บุคคลภายนอกเห็นถึงเรื่องราวของโครงการที่นักเรียนศึกษา

เว็บไซด์: โครงงาน คือ อะไร,http://www.samkha.com/pdf/8.pdf,13 มิ.ย. 53,11.23 น. พระจิตติเทพ ฌานวโร

วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2553

โครงการฝึกอบรมพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนและครูสอนพระพุทธศาสนา

กำหนดการอบรม
โครงการฝึกอบรมพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนและครูสอนพระพุทธศาสนา
"สื่อและเทคนิคการสอนศีลธรรมแก่เยาวชน"
มจร ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี วัดพัฒนาราม (พระอารามหลวง)
ณ โรงแรมร้อยเกาะ ถนนเลี่ยงเมือง ตำบลมะขามเตี้ย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฏร์ธานี
วันที่ 11 - 13 มิถุนายน 2553
-----------

วันพุธที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การให้

การให้
การให้ แท้จริง คือ ความเอาใจใส่อาทรต่อผู้อื่น ไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยวัตถุก็ได้ เช่น การตั้งใจรับฟังผู้อื่นพูดระบายความในใจให้เราฟังก็คือวิธีการให้อย่างหนึ่ง เพราะเมื่อเขาระบายความทุกข์ที่ซ่อนอยู่ในส่วนลึกของหัวใจออกมาได้ เขาก็จะรู้สึกว่า ในโลกนี้ยังมีคนเอาใจใส่เขาอยู่ และโลกยังเปี่ยมด้วยความหวัง เพียงความใส่ใจอาทรเล็กน้อยก็คือการให้ที่มีค่าใหญ่หลวงแล้ว ในแถบเอเชียกลาง มีทะเลทาบอยู่ 2 แห่ง คือทะเลสาบกาลิลี และเดดซี ทะเลสาบทั้งสองได้รับน้ำจากแม่น้ำจอร์แดนเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันตรงที่ทะเลสาบกาลิลีมีสิ่งมีชีวิตทั้งพืช และสัตว์น้ำนานาพันธุ์อาศัยอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ จึงสามารถให้อาหารแก่ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งมากมาย ในทางตรงกันข้ามทะเลสาบเดดซีเป็นทะเลแห่งความตายสมชื่อ น้ำในเดดซีเค็มมาก ระดับความเค็มของมันได้ทำลายสิ่งมีชีวิตวายวอดไปหมด แม้แต่คน หากเผลอไผลไปดื่มกินน้ำในทะเลสาบเดดซีเข้า ก็อาจถึงกับเจ็บไข้ได้ป่วยได้ เรื่องราวของทะเลสาบกาลิลีและเดดซี ได้ให้ข้อคิดที่มีค่าแก่เรา คือ หากเรานำความรู้ที่ได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น ตนเองก็จะได้ประโยชน์ด้วยปัญญาของเราจะเพิ่มพูนขึ้น เพราะ "การให้" และ "การใช้" ความรู้ที่ได้มา แต่ถ้าหากเราเก็บงำความรู้ไว้กับตัวหมด ไม่ยอมให้ และใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นแม้แต่น้อย เราก็จะเหมือนกับเดดซี ไม่มีโอกาสที่จะเจริญเติบโตได้ เพราะฉะนั้นเราต้องให้ (Give) จึงจะได้รับ (Receive) ถ้าหากชาวนาไม่ให้เมล็ดข้าวแก่พื้นดิน แล้วเขาจะมีโอกาสเก็บเกี่ยวข้าวได้อย่างไร? คนเรามีศักยภาพและมีจิตใจที่เอื้ออาทรต่อผู้อื่นทุกคน ขอเพียงแต่เราขุดเอาศักยภาพและความเอื้ออาทรที่มีอยู่ภายในส่วนลึกของจิตใจออกมา เราก็จะรู้จักเอาใจใส่คนอื่น และรู้จักให้ จงพูดกับตัวเองตั้งแต่บัดนี้ ว่า
ทุกๆ วันข้าพเจ้ามีโอกาสมากมาย ที่จะให้บางสิ่งบางอย่างแก่ผู้อื่น
(Every day I have many chances to give something to others.)