สันติภาพในมิติของศาสนา
จิตติเทพ นาอุดม
ศศ.ม ปรัชญาและศาสนา (ปรัชญาและศาสนา) เกษตรศาสตร์ บางเขน
สันติภาพตามแนวคิดของพุทธเถรวาท
พุทธทาสภิกขุ[๑]
กล่าวไว้ว่า สันติภาพนั้นเป็นเรื่องสำคัญ
เนื่องจากชีวิตทุกชีวิตและชีวิตทุกระดับล้วนต้องการสันติภาพและอยู่ได้ด้วยความมีสันติภาพ
และสันติภาพสามารถจำแนกออกเป็น ๓ ระดับ ดังนี้ สันติภาพระดับบุคคล
สันติภาพระดับสังคม สันติภาพระดับโลก สันติภาพในแง่ภาษาคนหรือสันติภาพระดับโลกิยะ
เกี่ยวข้องกับกิเลสอาสวะอยู่ ในทางตรงกันข้าม
สภาวะที่เกิดขึ้นในจิตใจที่ไร้กิเลสอาสวะจะ เรียกว่า สันติภาพระดับโลกุตตระ
ซึ่งจัดเป็นสันติภาพในแง่ภาษาธรรม โดย พุทธทาสภิกขุ[๒] ได้กล่าวไว้ว่า
สันติภาพในแง่ภาษาคน-ภาษาธรรม
สันติภาพในแง่ของภาษาคน มันก็เป็นเรื่องสันติภาพอย่างโลก ๆ ตามที่ชาวโลกเขาพูดกัน
อย่างนี้มันมีกิเลสอาสวะเนื่องอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย
ตามความพอใจของคนที่มีกิเลสคนมีอาสวะ สันติภาพของบุคคลชนิดนั้น
มันก็พลอยมีกิเลสมีอาสวะไปบ้างตามส่วน แต่ถ้ากล่าวโดยภาษาธรรมไม่มีกิเลสไม่มีอสาวะ
พูดแล้วมันก็น่าหัว (เราะ) ว่าสันติภาพอย่างมีอาสวะเหลือสันติภาพอย่างหมดอาสวะ
ไม่มีอาสวะเหลือ นี่พูดเป็นภาษาอรหันต์ ดับกิเลสสิ้นเชิงไม่มีอาสวะเหลือก็เป็นพระอรหันต์
ดับไม่สิ้นเชิงมีอาสวะเหลือก็ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ดูกันโดยภาษาคนก็มีค่าอย่างโลก ๆ
ดูโดยทางภาษาธรรม มันก็มีค่าอย่างเหนือโลกหรือพ้นโลก
สันติภาพตามแนวคิดของท่านพุทธทาสภิกขุ
ท่านพุทธทาสภิกขุได้เริ่มต้นคำอธิบายในเรื่องสันติภาพ
จากเหตุซึ่งเป็นกฎเบื้องต้น คือ ปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจจยาตาในพุทธธรรม
ซึ่งเป็นกฎทั่วไปที่อธิบายการอิงอาศัยกันและกันของการเกิดของสรรพสิ่งต่าง ๆ
มาพิจารณาและวิพากษ์วิจารณ์ปรากฏการณ์ต่าง ๆ
ทำให้การอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมมีลักษณะที่สัมพันธ์กันอย่างเป็นเหตุเป็นผลโดยเฉพาะการอธิบายความหมายเรื่องสันติภาพด้วย
ซึ่ง พุทธทาสภิกขุ[๓]
ได้กล่าวไว้ว่า
สิ่งที่เรียกว่า
สันติภาพก็มีปฏิจจาสมุปบาท อาการเป็นสายเหมือนกัน คือ ถามว่ามันมาจากอะไร
มาจากอะไร เป็นชั้น ๆ มาตามลำดับ สันติภาพของโลก มันก็มาจากสันติภาพของสังคม
สันติภาพของสังคม มันก็มาจากสันติภาพของบุคคลสันติภาพของบุคคล
มันก็มาจากความถูกต้องทางกาย ทางวัตถุ ทางจิต ทางวิญญาณแล้วยังมีส่วนประกอบแวดล้อมภายนอกอะไรต่าง
ๆ ที่มันมีอยู่ในโลก ที่มันทำให้เกิดความถูกต้องทางกาย ทางวัตถุ ทางจิต ทางวิญญาณ
แล้วรากฐานทั้งหมดมันอยู่ที่จิตของมนุษย์
สรุปได้ว่า
คำว่า “สันติภาพ”ครอบคลุมไปถึงด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านสังคม
การเมือง เศรษฐกิจ วัตถุ และจิตใจโดยมีรายละเอียดในแต่ละด้าน ดังนี้
ด้านสังคม
พุทธทาสภิกขุ ได้อธิบายความหมายของสังคมว่า สังคม หมายถึง การที่ชาวโลกมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม
จากกลุ่มเล็กรวมกันกลายเป็นกลุ่มใหญ่
จากกลุ่มใหญ่รวมกันกลายเป็นประเทศหรือกลุ่มประเทศ
จากกลุ่มประเทศรวมกันกลายเป็นสังคมโลกส่วนคำว่ามนุษย์นั้น พุทธทาสภิกขุ[๔]
อธิบายว่า มนุษย์ คือ คนในโลกมีความคิดกันว่า เขาจะแก้ปัญหาของโลกได้
ด้วยการแก้ทางเศรษฐกิจบ้างทางการเมืองบ้าง ทางการทหารบ้าง หรือแม้ที่สุดแต่ด้วยทางการโฆษณาชวนเชื่อแต่แล้วทุกคนจงมองดูด้วยจิตใจที่เป็นธรรมเถิดว่า
มันแก้ได้อย่างไรและเพียงไรและแม้ในอนาคตกาลอันนานไกลข้างหน้า
ซึ่งยอมให้ใช้เวลาอันยาวนาน แต่ถ้ามีการแก้ไขกันในทำนองนี้
ก็มีหวังว่าจะสำเร็จได้ที่ตรงไหน แม้กระนั้นก็ยังไม่มีใครเฉลียวใจ
ในสิ่งที่ตนหวังว่าจะเอาเป็นที่พึ่งว่ามันเป็นสิ่งที่ไร้คุณค่าในการสร้างสันติภาพโดยประการทั้งปวงเสียแล้ว
ดังนั้น สังคมโลกจึงตกอยู่ในฐานะหลอกลวงตัวเอง
โดยไม่รู้สึกว่าตัวกำลังหลอกลวงตัวเองแม้แต่ประการใด ยังไปหลงยึดมั่นถือมั่น
ในสิ่งที่สร้างวิกฤตการณ์ถาวรของโลกอยู่เรื่อยไป
มันก็ยิ่งกลายเป็นการทำให้ปัญหาของโลกนี้เป็นปัญหาที่ใหญ่หลวง และแก้ไขได้ยาก
ยิ่งขึ้นทุกทีจนกระทั่งโลกนี้ต้องวินาศไป
โดยที่แท้จริงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นอย่างนั้นเลย
สรุปได้ว่า
การที่สังคมมีองค์ประกอบหลายประการ ความหมายของสันติภาพในด้านสังคมตามแนวคิดของ
พุทธทาสภิกขุ อาจจำแนกออกได้เป็น ๔ ประการด้วยกัน ดังนี้
๑. สันติภาพ หมายถึง การที่มนุษย์ทุกคนมีมนุษยธรรม
มีจิตใจสูงรู้จักทำตนให้อยู่เหนือปัญหาและความทุกข์ทั้งปวง แล้วแสดงออกมาด้วยการไม่เบียดเบียนทำลายกันทำให้เกิดความสงบสุขกันทั่วไป
๒. สันติภาพ หมายถึง การมีมิตรภาพสูงสุดต่อกันและกัน
เริ่มต้นจากมนุษย์ในส่วนที่เป็นปัจเจกบุคคลแล้วจึงค่อย ๆ
ขยายออกไปเป็นระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ซึ่งมีมนุษยธรรมสมบูรณ์ด้วยกัน
โดยยึดหลักความเป็นจริงตามธรรมชาติว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนเกิดเพื่อนแก่
เพื่อนเจ็บ เพื่อนตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นมิตรภาพระหว่างคนกับสัตว์
คนกับต้นไม้
ซึ่งจะทำให้ไม่มีการเบียดเบียนกันการมีมิตรภาพต่อกันและกันทำให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคมโลก
๓. สันติภาพ หมายถึง การมีธรรมะ และศีลธรรม การมีศีลธรรมก็คือ
การมีสิ่งที่ทำความปกติ ซึ่งหมายถึง ความจริงหรือความถูกต้อง เช่น ความดี
ความเป็นธรรม ความยุติธรรมความถูกต้อง อุดมคติ หน้าที่บริสุทธ์ิ สัมมาปฏิบัติ
และกุศลธรรมอื่น ๆ ที่มีความหมายทำนองเดียวกัน
๔. สันติภาพ หมายถึง ความสงบสุขในโลกอุดมคติ
หรือโลกของพระศรีอารยเมตตรัยซึ่งเป็นความหมายของสันติภาพในสังคมอุดมคติที่ยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบันในด้านสังคม
สรุปได้ว่า
สันติภาพ หมายถึง ความสงบสุขอย่างแท้จริงที่เกิดจากองค์ประกอบต่าง ๆ ของสังคม
เริ่มตั้งแต่องค์ประกอบระดับพื้นฐานที่สุด คือ มนุษย์แต่ละบุคคลซึ่งมีมนุษยธรรม
มิตรภาพ ศีลธรรม และธรรมะแล้วขยายไปจนถึงระดับโลกซึ่งเป็นสังคมขนาดใหญ่ที่สุด
ด้านการเมือง
โดยทั่วไปในทางการเมือง
จะมองสันติภาพในมุมมองทางการเมืองว่าสันติภาพคือสภาวะที่ไม่มีสงคราม มีเสรีภาพ
ไม่รุกล้ำก้ำเกินกัน แล้วก็การไม่มีสงครามนั้นเป็นสภาวะแห่งสันติภาพแต่ในแนวคิดของ
พุทธทาสภิกขุ[๕]
กล่าวไว้ว่า
มิใช่ว่าการทำสงครามเท่านั้น
จะเป็นความโกลาหลวุ่นวาย ส่วนระยะที่ไม่มีสงคราม จัดเป็นความสงบ ดังนี้ก็หามิได้
ว่าโดยความจริงแล้ว เวลาที่ว่างสงครามก็คือ ระยะฟักตัวของสงคราม
เช่นเดียวกับระยะกกไข่หรือฟักฟองของสัตว์ที่มีฟอง เช่น ไก่ เป็นต้น ฉันใดก็ฉันนั้น
ครั้นถึงเวลา ก็ปรากฏผลเป็นสงครามขึ้นมา
แต่การเมือง
ตามแนวคิดของท่านพุทธทาสภิกขุมีความหมายที่ขยายความออกไปว่า การเมือง คือ
ระเบียบปฏิบัติช่วยกันจัดบ้านเมืองหรือสังคม หรือโลก ให้หมดปัญหาวิกฤตการณ์โดย
ท่านพุทธทาสภิกขุ[๖]ได้กล่าวว่า
การเมือง คือ การทำหน้าที่เพื่อให้โลกนี้เป็นอยู่อย่างผาสุก
โดยไม่ต้องใช้อาชญาการเมืองที่จะต้องใช้อาชญานั้น เป็นการเมืองที่ยิ่งกว่าสกปรก
มันเป็นการเมืองที่หลอกลวง เป็นการเมืองของภูตผีปีศาจมากกว่า
การเมืองที่แท้จริงต้องเป็นการสร้างสันติภาพโดยไม่ต้องใช้อาชญา หมายถึงใช้สติปัญญา
ทำความเข้าใจซึ่งกันและกันในหมู่สตรีที่มีชีวิตทั้งหลาย เพื่ออยู่กันเป็นผาสุก
นอกจากนี้ พุทธทาสภิกขุ[๗]
ยังได้ใช้ธรรมะเป็นเกณฑ์ตันสินระบบการเมืองที่ดี ที่จะนำไปสู่สันติภาพได้ว่า
ระบบการเมืองที่ดีตามแนวคิดของท่านคือ“ธัมมิกสังคมนิยม”
ซึ่งเป็นระบบที่ถือเอาประโยชน์ของสังคมเป็นหลักและประกอบไปด้วยธรรมะโดยมีพื้นฐานที่สำคัญ
คือ ความรู้สึกที่เข้าใจถึงสภาพความเป็นจริงตามธรรมชาติว่า “สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน”[๘]
จะเห็นได้ว่า
การเมืองนั้น เป็นเรื่องของความถูกต้อง ของความยุติธรรมของความดีความงามสูงสุด
กล่าวคือ การช่วยกันทำให้โลกนี้มีสันติภาพ
มีสันติสุขอยู่ตลอดเวลาไม่มีการทำอันตรายแก่กันและกัน ทั้งบนดินและทั้งใต้ดิน
หรือโดยประการใด ๆ
ในประเด็นเรื่องการเมือง
จึงอาจสรุปได้ว่า
ความสงบสุขหรือความผาสุกอันเกิดจากระบบการเมืองที่มีธรรมะที่ท่านพุทธทาสภิกขุเรียกว่า
ธัมมิกสังคมนิยม ซึ่งเป็นระบบที่เน้นประโยชน์ของสังคมมากกว่าประโยชน์ส่วนบุคคล
เป็นระบบที่ไม่ใช้ความรุนแรงทั้งปวง เนื่องจากมีธรรมะเป็นพื้นฐาน
ด้านเศรษฐกิจ
พุทธทาสภิกขุ ท่านได้มีความคิดเห็นที่ชัดเจน
ในเรื่องของความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจกับสันติภาพว่า
ถ้าเราจะมองดูกันในแง่ของนักเศรษฐกิจ เศรษฐกิจนั้น หมายถึง ความร่ำรวย
ถ้ามีความร่ำรวยสมใจแล้ว มันก็คือ สันติภาพ ดังนั้น สันติภาพก็กลายเป็นความร่ำรวยไม่ใช่สันติภาพที่แท้จริง
โดย พุทธทาสภิกขุ กล่าวว่า[๙]
แม้จะจัดระบบเศรษฐกิจให้มีผลราวกะว่า
ฝนตกลงมาเป็นทองคำทุก ๆ เม็ด ก็ไม่ทำให้โลกนี้มีสันติภาพได้ ลองคิดดูว่า
ระบบเศรษฐกิจระบบไหน จะจัดให้มีค่าเท่ากับว่าฝนตกลงมาเป็นทองคำทุก ๆ เม็ด
เดี๋ยวนี้ก็ท้าทายว่า แม้ฝนจะตกลงมาเป็นทองคำทุก ๆ เม็ด มันก็ไม่มีสันติภาพได้
มันยิ่งจะเป็นชนวนแห่งวิกฤตการณ์อันเลวร้าย เต็มไปด้วยอาชญากรรมยิ่งขึ้น
คือการแย่งชิงทองคำกันนั่นแหละจะมากขึ้น ในขณะที่จะแย่งชิงกัน
หรือในขณะที่ใครมีมากเก็บไว้มาก ก็พร้อมที่จะถูกจี้ ถูกปล้น ถูกทำลายชีวิต
แล้วก็จะเกิดปัญหาอีกต่าง ๆ นานา
สารพัดอย่างอันเกี่ยวกับการที่มันมีทองคำเต็มไปหมด มันไม่มีสันติภาพได้
ถ้าไม่มีศีลธรรม ถ้ามีศีลธรรม มันไม่ต้องถึงอย่างนั้นดอก
อยู่กันตามธรรมดาธรรมชาตินี้ มันก็ยังมีสันติภาพได้
สันติภาพสะท้อนสถานการณ์ในสังคมโลก
ในระยะ
๑๐ ปีที่ผ่านมา สังคมไทย และสังคมโลกได้กล่าวถึง “วาทกรรม”
ที่เป็นเครื่องมือ
และเป้าหมายในการที่จะเชื่อมชาวไทยและชาวโลกให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในหลายถ้อยคำ
คือ “สันติภาพ”
(Peace) “สันติวิธี” (Peaceful means) “ความสมานฉันท์”
(Reconciliation) และ “ความปรองดอง” (Harmonious
Society) ซึ่งแต่ละถ้อยคำที่นำเสนอนั้น
มักจะได้รับการตอกย้ำในบริบทที่แตกต่างกันตามสภาพเศรษฐกิจ การเมือง
และสังคมที่แตกต่างกันโดยมี “เวลา” “ผลประโยชน์และความต้องการ”
และ “สถานการณ์” เข้ามาทำหน้าที่เชื่อมประสาน
ถึงกระนั้น
การนำเสนอคำเหล่านี้ ผ่านเหตุการณ์และสถานการณ์ต่างๆ ดังกล่าว
ได้ทำให้เกิดข้อสังเกตที่สำคัญ ๒ ประการ คือ
(๑) มนุษยโลก และชาวไทย
ได้ให้ความสำคัญกับถ้อยดังกล่าว
การนำเสนอถ้อยคำเช่นนี้จะส่งผลในเชิงจิตวิทยาและการดำรงอยู่ของคนในสังคม
ว่าอย่าได้ละเลย และควรตระหนักไว้ในใจ รวมไปถึงการรักษา
และปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ในเชิงบวกอยู่ตลอดเวลาเพื่อความผาสุกของมนุษย์ในเชิงปัจเจกและสังคมโดยรวม
(๒) สังคมของมนุษยโลกและสังคมไทยอยู่ร่วมกันอย่าง “ไม่มีสันติภาพทั้งภายในและภาย
หรือมีในเชิงคุณภาพจำนวนน้อย” เมื่อเกิดปัญหา
หรือความขัดแย้งขึ้นครั้ง จึงขาดวัฒนธรรมในการแก้ไขปัญหาแบบ “สันติวิธี” แต่มักมีพฤติกรรมในการแก้ไขปัญหาโดย “ใช้ความรุนแรง” เป็นเครื่องมือ และทางออก
ในขณะเดียวกัน
แม้จะเน้นวาทกรรมว่า “สมานฉันท์” ซึ่งหมายถึง “การแบ่งปันผลประโยชน์
และความต้องการทั้งอำนาจ และทรัพยากรเพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความพึงพอใจในความเสมอภาค
เที่ยงธรรม และยุติธรรม” แต่บางครั้งก็อาจจะทำให้เกิดคำถามในมุมกลับว่าหมายถึง
“การสมานฉัน” หรือไม่ กล่าวคือ “เน้นตอบสนองความสุข และความพึงพอใจเฉพาะกลุ่มของฉัน โดยไม่สนใจว่า
กลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ในสังคมจะดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุขหรือทุกข์อย่างไร”
อย่างไรก็ดี
เมื่อกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคมไทยไม่สามารถที่จะ “สมานฉันท์” หรือตอบรับประเด็นดังกล่าวอย่างแพร่หลาย
ได้ จึงนำไปสู่การพัฒนาวาทกรรมที่ว่าด้วย “ความปรองดอง” อันหมายถึงการสร้างความเป็นเอกภาพ
และสามัคคีในกลุ่มคน หรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ถึงกระนั้น “ความปรองดอง”
มักจะยึดโยงกับการแบ่งปันผลประโยชน์และความต้องการด้านอำนาจ
และทรัพยากรอย่างเป็นธรรม เที่ยงธรรม และยุติธรรมเช่นกัน
ฉะนั้น
การเกิดวาทกรรมที่ว่า “สันติภาพ สันติวิธี ความสมานฉันท์ และความปรองดอง” นั้น
โดยสรุปในประเด็นที่ (๒) คือ สิ่งเหล่ากำลังขาดหายไปจากสังคมโลกและสังคมไทย จึงเป็นที่มาของการเพรียกหาเพื่อจักได้ฟื้นฟู
และพัฒนาให้คำเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งภายในใจ และสังคมต่อไป
ความหมายคำว่า
ศาสนา
การนิยามความหมายของคำว่า
ศาสนา มีหลากหลายบริบท ขึ้นอยู่กับความเชื่อ ชนชาติวัฒนธรรม
และการใช้ภาษาในการสื่อความด้วย เพื่อทำความเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้ง ชัดเจน
ต่อการนิยามความหมาย จึงขอแยกแยะการนิยามความหมายตามรูปศัพท์และตามทัศนะของนักการศาสนา
ตามลำดับ ดังต่อไปนี้
ความหมายตามรูปศัพท์ภาษาไทย
ภาษาไทย
ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนา วิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย
การใช้ภาษาในการสื่อความหมายแม้เชื้อชาติไทยจะมีอักษรและภาษาเป็นของตนเองก็ตาม
อิทธิของภาษาสันสกฤตและภาษาบาลี ยังส่งผลต่อโครงสร้างทางภาษาโดยรวมอยู่มาก ฉะนั้น
การสื่อความหมายไม่ว่าจะเป็นการเขียนและการพูด ล้วนมีรากศัพท์ของทั้งสองภาษานี้อยู่ด้วยเสมอ
๑) คำว่า
ศาสนา มาจากภาษาสันสกฤตว่า “ศาสน ” ถ้าเป็นภาษาบาลีอยู่ในคำว่า
“สาสน ” มีความหมายตามรูปศัพท์ว่า “คำสั่งสอน” ที่มีองค์ประกอบอยู่ ๕ ประการ คือ
(๑)
กล่าวถึงความเชื่อในอำนาจของสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
(๒) มีหลักศีลธรรมที่ให้ปฏิบัติเป็นลำดับ เช่น สอนให้ละความชั่ว กระทำความดี
และทำใจให้หมดจดบริสุทธิ์เป็นต้น
(๓)
มีจุดหมายสูงสุดของชีวิต
(๔)
มีหลักพิธีกรรม
(๕)
มีความเข้มงวดกวดขัน ในเรื่องความจงรักภักดี
๒) คำว่า
ศาสนา ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ศาสนาคือลัทธิความเชื่อถือของมนุษย์อันมีหลัก คือ แสดงกำเนิดและสิ้นสุดของโลก
เป็นต้น อันเป็นไปในฝ่ายปรมัตถ์ประการหนึ่ง แสดงหลักธรรมเกี่ยวกับบุญบาปอันเป็นไปในฝ่ายศีลธรรมประการหนึ่ง
พร้อมทั้งลัทธิพิธีที่กระทำตามความเห็นหรือตามคำสั่งสอนในความเชื่อถือนั้น ๆ”[๑๐]
๓) คำว่า
ศาสนา ในคำว่า พุทธศาสนา มีนัยความหมายที่ประกอบด้วย
(๑) ไม่มีหลักความเชื่อว่า
พระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้สร้างโลกและสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก แต่มีหลักความเชื่อว่า
กรรมเป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง
(๒)
ไม่มีหลักความเชื่อว่า คำสอนต่างๆ มาจากพระผู้เป็นเจ้าแต่มีหลักความเชื่อว่า คำสอนต่างๆ
มาจากผู้รู้เป็นผู้สั่งสอน
(๓)
ไม่มีหลักความเชื่อตามคำสอนโดยไม่คำนึงถึงข้อพิสูจน์ แต่มีหลักให้พิสูจน์คำสอนนั้น
โดย การนำไปปฏิบัติ
ความหมายตามศัพท์ภาษาอังกฤษ
คำว่า
ศาสนา ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Religion มาจากศัพท์ภาษาลาตินว่า Religare
หรือ Religere ตรงกับค าภาษาอังกฤษว่า Together
คือการรวมเข้าด้วยกัน (ระหว่างสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง)
มีความหมายว่า การผูกพันหรือสัมพันธ์ระหว่างสิ่งสองสิ่งให้เป็นสิ่งเดียวกัน[๑๒]
นัยนี้มีความหมายถึง
การมอบศรัทธาบูชาพระผู้เป็นเจ้าที่มีอำนาจเหนือตนด้วยความเคารพผูกพันยำเกรงโดยศรัทธาที่มอบบูชามีลักษณะ
๔ ประการ คือ
๑)
มีหลักความเชื่อว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้างโลกและสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก
๒)
มีหลักความเชื่อว่า คำสอนต่าง ๆ มาจากพระเจ้าทั้งที่เป็นส่วนธรรมจรรยา
และกฎหมายสังคม
๓)
มีหลักความเชื่อว่าบางอย่างเป็นอจินไตย คือ เชื่อไปตามคำสอนโดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อพิสูจน์แต่อาศัยอานุภาพของพระเจ้าผู้อยู่เหนือตนเป็นเกณฑ์
๔)
มีหลักการยอมมอบตนมอบการกระทำของตน และอื่นใดที่เกี่ยวกับตน ให้แก่พระผู้เป็นเจ้าด้วยความจงรักภักดีโดยไม่ต้องมีอะไรอื่น
จากการนิยามความหมายตามรูปศัพท์ระหว่างภาษาไทย
กับภาษาอังกฤษ จะเห็นได้ว่า มีความหมายที่แตกต่างกันมาก กล่าวคือ “ศาสนม” และ“สาสน ” จะแตกต่างจาก “รีลีเจียน” (religion) โดยคำว่า “ศาสนม” และ “สาสน ”มีความหมายที่ไม่ได้มุ่งหมายไปเฉพาะคำสอนของสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติแต่หมายถึง
คำสอนของผู้ก่อตั้งศาสนาที่ให้ผู้ปฏิบัติมีวิถีการดำเนินชีวิตได้พ้นจากความทุกข์ด้วย
ส่วน “รีลีเจียน” (religion) มีความหมายที่โน้มนำให้ผู้นับถือยอมตนอยู่ภายใต้อำนาจของสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติอันได้แก่
พระเจ้า
ความหมายจากการนิยามของนักการศาสนา
การนิยามความหมายโดยพยัญชนะอย่างเดียวอาจไม่ครอบคลุมถึงสารัตถะที่แท้จริง
จึงควรพิจารณาความหมายโดยใจความหรือตามเนื้อหาที่นักปราชญ์ทางศาสนาได้รวบรวมไว้[๑๓]
ซึ่งความหมายจะมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเด็นที่ต้องการจะเน้นและสภาพแวดล้อม
๑)
แมกช มิลเลอร์ (Max
Miller) เน้นพุทธิปัญญา (Intellect emphasis) กล่าวว่า
ศาสนาคือความสามารถหรืออำนาจทางทางจิต ซึ่งไม่ขึ้นแก่ความรู้สึกทางประสาทสัมผัสหรือเหตุผล
สามารถนำบุคคลให้เข้าใจถึงพระเจ้าภายใต้พระนามต่างๆ กัน
๒)
อิมมานูเอล ค้านท์ (Immanuel
Kant) เน้นศีลธรรม (Moral emphasis) เขียนไว้ว่า
ศาสนา คือ การยอมรับรู้ถึงหน้าที่ทั้งปวง ตามเทวโองการ (คือ ตามที่พระเจ้าบัญชา)
๓)
อัลลัน เมนนชีส (Allen
Menses) เน้นความหมายของการบูชา (emphasis on worship) เขียนไว้ว่า ศาสนา คือการบูชาพลังที่สูงกว่า
๔)
ศ.เอดเวิด สคริบเนอร์ อัมส์ (Edward Scribner Arms) เน้นความหมายทางสังคม
(Society emphasis) เขียนไว้ว่า ศาสนา คือ
ความรู้สึกถึงคุณค่าทางสังคมอันสูงสุด
๕)
ศ.จี. ดับลิว. สแตรทตัน (G.W.
Stration) เน้นกระบวนการแห่งอุดมคติอันสูงส่ง (Emphasis on
the Supreme Idealizing process) กล่าวว่า ศาสนา คือ ความนิยมชมชอบถึงโลกและกลุ่มชนที่มองไม่เห็น
(หรือสิ่งที่ดีที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด เท่าที่บุคคลจะคาดคะเนไปถึง)
๖)
ศ.วิลเลียม อาดัสใ บราวน์ (William Adams Brown) เน้นความหมายทางครอบคลุมถึงสิ่งต่างๆ
อย่างกว้างขวาง (An emphasis which attempts to include all the others) กล่าวว่า ศาสนาหมายถึงชีวิตของบุคคลในส่วนที่สัมพันธ์กับท่านผู้เหนือมนุษย์ธรรมดาของเขา..
๗)
หลวงวิจิตรวาทการ เน้นองค์ประกอบของศาสนา กล่าวว่า คำสอนที่จัดเป็นศาสนานั้น
ต้องเป็นเรื่องที่ถือว่า มีความศักดิ์สิทธิ์ มีคำสอนทางธรรมจริยา มีศาสดามีคณะบุคคลที่รักษาความศักดิ์สิทธิ์และคำสอนไว้เช่น
พระหรือนักบวช และมีการกวดขันเรื่องความจงรักภักดี
๘)
ศ.เสถียร พันธรังสี เน้นลักษณะของศาสนา กล่าวว่า ลักษณะที่เรียกว่าศาสนาได้มีหลักดังนี้คือ
ต้องเป็นเรื่องความเชื่อถือได้โดย มีความศักดิ์สิทธิ์ มีคำสอนทางธรรมจรรยา มีศาสดา
และมีผู้สืบต่อคำสอนที่เรียกว่า พระหรือนักบวช
๙)
สุชีพ ปุญญานุภาพ เน้นลักษณะคำสอน กล่าวว่า คำสอนที่นับว่าเป็นศาสนานั้นว่าด้วยเรื่องต่างๆ
คือความเชื่อในอำนาจที่มองเห็นไม่ได้ด้วยศาสนาบางอย่างเช่น อำนาจของธรรม หรืออำนาจของพระเจ้า
มีหลักศีลธรรม มีคำสอนว่าด้วยจุดมุ่งหมายของชีวิตและมีพิธีกรรม
จากคำจำกัดความและทัศนะต่างๆ
ที่กล่าวข้างต้น รวมความได้ว่า “ศาสนา คือ คำสอนที่พระศาสดาได้ค้นพบ
หรือได้จากเทวโองการ ซึ่งมีลักษณะศักดิ์สิทธิ์เป็นที่พึ่งทางใจ ได้ถูกนำมาเผยแพร่ให้มวลมนุษยชาติประพฤติปฏิบัติตาม
และประกอบพิธีกรรม เพื่อประสบสันติสุขในระดับศีลธรรมจรรยา และสันติภาพอันนิรันดรเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต”
ความรุนแรงทางศาสนา
เป้าหมายของศาสนา คือ สันติสุขของมนุษยชาติแต่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติกลับมีความรุนแรงเกิดขึ้นเพราะศาสนาเป็นต้นเหตุพระพรหมคุณาภรณ์
(ป.อ.ปยุตฺโต)[๑๔]
ได้แยกความขัดแย้งตลอดจนสงครามที่เกี่ยวข้องกับศาสนานั้น เป็น ๒ อย่าง ได้แก่ ๑)
การสู้รบหรือสงครามเพราะไม่ยอมให้นับถือศาสนาต่างกัน หรือแม้แต่ศาสนาเดียวกัน
แต่ต่างนิกายกันตรงกับความหมายที่กล่าวข้างตนว่า เห็นคนอื่นเชื่อถือหรือนับถือต่างไปจากตนแล้วทนหรือยอมปล่อยไว้
ไม่ได้ ไม่ให้โอกาสแก่เขาที่จะเชื่อถือหรือนับถืออย่างอื่น เป็นการขัดแย้งหรือสงครามที่เกิดจากศาสนา
หรือเพราะปรารภความต่างศาสนาโดยตรง และ ๒) การสู้รบหรือสงครามระหว่างคนต่างพวก
ที่นับถือศาสนาต่างกัน หมายความว่า คนเหล่านั้น มีพื้นเดิมที่แบ่งแยกกัน
เป็นคนละพวกอยู่แล้ว โดยที่สาเหตุให้ แบ่งแยกอาจจะเกิดจากความต่างเชื้อชาติ ต่างเผ่า
ต่างผิว เป็นต้น แล้วความต่างศาสนาก็ไปประกอบเข้าด้วย เมื่อมีเหตุกระทบกระทั้งกันขึ้น
ความยึดถือในความเป็นพวกเขาพวกเรา หรือของเขาของเรา ก็ทำให้เกิดการขัดแย้งสู้รบกันขึ้น
จุดแยกของความขัดแย้งหรือสงครามที่เกี่ยวกับศาสนาทั้ง ๒ อย่างก็คือ อย่างแรกเป็นการสู้รบเพราะต่างศาสนา
อย่างที่สองเป็นการสู้รบเพราะความต่างพวก ดังนี้
ความรุนแรงที่เกิดจากศาสนาโดยตรง
การเบียดเบียนสู้รบกันแบบที่ ๑ เป็นเรื่องที่เกิดจากศาสนาโดยตรง
หรือเกิดขึ้นโดยปรารภศาสนา ซึ่งโดยทั่ว ไปมีวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างดังนี้
๑) เพื่อเผยแพร่ศาสนาของตน หรือให้เขายอมรับศาสนาของตนด้วยการใช้กำลังบังคับ ๒)
เพื่อกำจัดกวาดล้างศาสนาหรือลัทธิความเชื่อถืออย่างอื่น ซึ่งตนถือว่า เป็นบาป
เป็นความชั่วร้าย ตลอดจนกำจัดคนที่เชื่อถือหรือประพฤติปฏิบัติอย่างอื่นที่ตนถือว่าเป็นบาป
การห้ำหั่นบีฑาและการทำสงครามแบบนี้ตรงกับที่ฝรั่งเรียกว่า religious persecution และ religious war การเบียดเบียนและการสู้รบแบบนี้จะต้องมีฐานอยู่ที่หลักการหรือคำสอนของศาสนานั้น
ๆ ไม่โดยตรงก็โดย กล่าวคือ ๑) มีคำสอนในคัมภีร์ที่ส่งเสริมหรือยอมรับการที่จะไปบังคับคนอื่นให้มาเชื่ออย่างตนหรือนับถือศาสนาของตน
๒) มีคำสอนหรือหลักการที่ให้ยกไปอ้างได้ว่า
การรบหรือการฆ่าฟันสังหารกัน ในกรณีอย่างนั้น เป็นบุญ หรือเป็นความถูกต้องดีงาม ๓)
หลักการหรือคำสอนของศาสนานั้น เป็นข้อปรารภในการก่อการเบียดเบียนหรือทำสงคราม
อย่างที่เรียกว่า สงครามเพื่อเผยแพร่ศาสนา หรือสงครามในนามของศาสนา ๔) การมีความเห็นความเข้าใจหรือตีความคำสอนแตกต่างกัน ไม่อาจยุติหรือให้เป็นไปด้วยวิธีการแห่งปัญญาตามทางของการพูดจาด้วยเหตุผลแต่กลายเป็นเหตุให้ใช้กำลังเข้าประหัต
ประหารกันทำให้หมู่ชนแม้ แต่ที่เป็นชาติเดียวกันนับถือศาสนาเดียวกันก็ต้องทำสงครามกัน
และ ๕) สถาบันหรือองค์กรที่เป็นตัวแทนของศาสนาให้การรับรองหรือสนับสนุนการกำจัดหรือการทา
สงครามนั้น โดยอ้างหลักการหรือข้อปรารภตามหลักศาสนา ยกตัวอย่างเช่น ทั้งที่คนทั้งหลายไม่ได้เป็นศัตรูกันเลย
แต่องค์กรศาสนาอาจป่าวประกาศเชิญชวนว่าให้ไปช่วยกัน ปราบปรามกำจัดศัตรูของพระผู้เป็นเจ้าแล้วก็อาจจะเกิดสงครามที่ร้ายแรงยิ่งกว่าการสู้รบกับศัตรูของมนุษย์เองดังในกรณีของสงครามครูเสด
เป็นต้น
กล่าวได้ว่า
สาเหตุพื้นฐานของความทนเห็นทนได้ยืนทนอยู่ด้วยไม่ได้จะต้องไปกำจัดกวาดล้างหรือทำสงครามทางศาสนา
ก็เนื่องจากการขาดความเป็นสากล ๓ อย่างข้างต้น
ความรุนแรงที่เกิดจากการอ้างศาสนา
ความขัดแย้งสู้รบแบบที่
๒ คือ การขัดแย้งสู้รบของคนต่างพวกที่นับถือศาสนาต่างกัน ซึ่งสาระอยู่ที่ความต่างพวกหรือถือพวก
คือ ยึดถือในพวกของตน หรือสิ่งที่เป็นของพวกตนแล้วสูร้บเพื่อปกป้องสิ่งที่ยึดถือเป็นของตน
การขัดแย้งสู้รบแบบนี้ไม่เป็นการห้ำหั้นบีฑาหรือการทาสงครามศาสนา แต่มีสาเหตุที่ลึกลงไปอีก
หรือเป็นพื้นฐานมากกว่า กล่าวคือ เป็นเรื่องของสัญชาตญาณในการยึดถือพวกของตนและของของตน
เป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ปุถุชนที่ยังไม่ได้พัฒนา หรือยังพัฒนาไมสมบูรณ์ ซึ่งย่อมจะมีความยึดถือในหมู่พวก
และในสิ่งทั้งหลายที่ยึดถือว่าเป็นของตน ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม เช่น วงศ์ตระกูล
ถิ่นที่อยู่อาศัย วัฒนธรรมประเพณี เป็นต้น การขัดยังในกรณีนี้เป็นคนละอย่างกัน
และเกิดจากสาเหตุคนละอย่างกับการขัดแย้งสู้รบแบบที่ ๑ ที่สาเหตุเกิดจากตัวศาสนาหรืออย่างน้อยจากสถาบันศาสนาโดยตรง
ฉะนั้น
คำว่า การห่ำหั่นบีฑา และสงครามศาสนา คือ religious persecution และreligious
war จึงใช้กับความขัดแย้งสู้รบแบบที่ ๑ มิใช่หมายถึง การขัดแย้งสู้รบแบบที่
๒ ความไม่รู้จักแยกหรือความไม่ชัดเจนในเรื่องที่ว่า มานี้เป็นปัญหามากแม้ในยุคปัจจุบัน
และเป็นเรื่องสำคัญที่ควรเอาใจใส่แก้ไข เพราะความไม่เข้าใจไม่รู้จักแยกให้ชัดเจนนั้น
นอกจากทำให้เกิดความสับสนในทางปัญญาและวางท่าทีต่อกรณีและสถานการณ์ไม่ถูกต้องแล้ว
ที่สำคัญยิ่งก็คือ ทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะจับจุดของปัญหาไม่ถูก อีกทั้งยังไม่รู้ตระหนกด้วยว่า
สองอย่างนี้ เป็นปัญหาคนละระดับและต้องใช้วิธีแก้ไขที่ต่างกัน
เมื่อเกิดความขัดแย้งสู้รบแบบที่
๒ แบบถือความต่างพวกหรือยึดถือพวกกูของกูตามสัญชาตญาณของปุถุชนแล้ว ศาสนาก็อาจจะเข้ามามีบทบาทโดยช่วยผ่อนคลายปัญหาทา
ให้ความขัดแย้งเบาลงอย่างน้อย ถ้าหลักการของศาสนาไม่เอื้อและสถาบันของศาสนาไม่หนุน
คนก็จะไม่สามารถยกข้ออ้างจากศาสนามารับรองเสริมเติมหรือขยายการขัดแย้งสู้รบของตน
แต่ในทางตรงข้าม ถ้ามีหลักการหรือคำสอนของศาสนาให้อ้าง หรือสถาบันศาสนาเข้ามาหนุนการขัดแย้งสู้รบนั้นก็จะขยายใหญ่โตรุนแรงมากขึ้น
และก็อาจจะกลายเป็นการขัดแย้งสู้รบหรือสงครามที่เป็นทั้งแบบที่ ๒ และแบบที่ ๑
ปนพร้อมไปด้วยกัน
การอยู่ร่วมกันระหว่างคนต่างศาสนา
พระพรหมคุณาภรณ์
(ป.อ.ปยุตฺโต)[๑๕]กล่าวว่า
การอยู่ร่วมกันระหว่างศาสนาว่ามี ๒ ระดับ คือ ระดับขันติ (tolerance) กับระดับสามัคคีระดับขั้นการอยู่ด้วยความต้องอดต้องทน หรือต้องยอมปล่อย ซึ่งแค่ดีขึ้นกว่าภาวะที่ตรงข้ามกับความอดทน
คือ อดไม่ได้ ทนไม่ได้ ทนฟังคนอื่นมิได้ที่เขามีความเห็นต่างไปไม่ได้หรือทนอยู่กับเขาไม่ได้
ต้องไปจัดการบังคับ เขาให้หันมาถืออย่างตัว ซึ่งมักจะต้องแสดงหรือทำอะไรออกมาในทางที่เป็นการขัดแย้งหรือรุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่ง
ถ้า ตนเองมีกำลังอำนาจหรือมีพวกมากกว่าก็มักแสดงออกเป็นการกระทำ
โดยการบีบคั้นข่มเหงการกำจัดกวาดล้าง หรือการห่ำหั่น บีฑา เช่น ไล่ฆ่าฟัน
หรือจับเอาไปฆ่าหรือทำ ทารุณกรรม กลายเป็นการห่ำหั่นบีฑากัน ทางศาสนาถ้าทั้งสองฝ่ายต่างก็มีกำลังพอจะต่อสู้กัน
หรือฝ่ายที่ถูกรังแกลุกขึ้นสู้ก็กลายเป็นการรบราฆ่าฟันกัน ซึ่งมีมากมายที่กลายเป็นสงครามที่เรียกว่า
สงครามศาสนา สงครามศาสนานี้อาจจะเป็นสงครามเพื่อศาสนาที่ในบางศาสนายอมรับหรือสนับสนุนดังที่ฝรั่งมีคำ
เรียกว่า holy war ซึ่งอาจจะแปลว่า สงครามศักดิ์สิทธิ์หรือสงครามเพื่อพระเป็นเจ้า สงครามศาสนาที่โป๊ปทรงรับรองหรืออนุมัติมีชื่อเรียกพิเศษว่า
ครูเสด (Crusade) holy war นี้ฝรั่งว่า ชาวมุสลิมก็มีเรียกว่า
ญิฮาด (ฝรั่งเขียน jihad) ซึ่งถือว่า เป็นหน้าที่เลยทีเดียว
ฝรั่งบางที่ถึงกับ เรียกอิสลามว่าเป็นศาสนาที่เผยแพร่ด้วยคมดาบ แต่ชาวมุสลิมแย้งว่า
ชาวตะวันตกเข้าใจความหมายของญิฮาดผิดไปมาก
ความสำเร็จขั้นต้นในการทำให้มนุษย์ที่มีความแตกต่างกันอยู่ได้อย่างดีด้วยกันท่ามกลางความแตกต่างคือการมีขันติธรรม
(Tolerance)
ได้แก่ ทนกันได้จึงยังไม่เพียงพอและยังไว้ใจไม่ได้ เพราะอาจเกิดการทนไม่ได้ขึ้นมาเมื่อใดก็ได้ดังนั้น
มนุษย์ต้องพัฒนาต่อไปสู่ขั้น
ที่สองของการอยู่ร่วมกัน ได้ด้วยดีแม้จะถือศาสนาต่างกัน คือ ให้มีความประสานกลมกลืนสามัคคีปรองดองกันในระดับชนชาติหรือระดับภูมิภาค
พูดได้ว่ามีมนุษย์อยู่ ๒ พวก ที่มีประสบการณ์แห่งความปรองดองทางศาสนา หรืออย่างน้อยก็อยู่ในขั้นของ
tolerance คือ ความมีขันติธรรม ได้แก่ ๑)
ประเทศประชาธิปไตยตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และ ๒) ประเทศพุทธศาสนา การอยู่ร่วมกันอยู่
อย่างสันติและความมีขันติธรรมทางศาสนา ในหมู่ชน ๒ พวก ในข้อ ๑ และ ๒ นี้มีลักษณะแห่งประสบการณ์ภูมิหลังและหลักการที่แตกต่างกันมากดังนี้
พวกที่
๑ คือ กลุ่มประเทศประชาธิปไตยตะวันตก
กลุ่มประเทศประชาธิปไตยตะวันตกมีขันติธรรม
(tolerance)
ในรูปของเสรีภาพทางศาสนา
ที่เกิดจากปฏิกิริยาต่อภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของตนเอง ที่เต็มไปด้วยการห่ำหั่นบีฑา
(persecution) และสงครามศาสนา (religious wars) เป็นเหตุบีบคั้น ให้ดิ้นรนใฝ่หาเสรีภาพ พร้อมทั้งเกิดความเบื่อหน่ายขยะแขยงต่อภาวะเช่นนั้น
แล้วแสวงหาทางออกใหม่ที่ตรงข้าม
พวกที่
๒ คือ กลุ่มประเทศพุทธศาสนา
กลุ่มประเทศพุทธศาสนามีประวัติศาสตร์อันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในโลกโดยเฉพาะในประเทศตะวันตกว่า
มีความเอื้อเฟื้อใจกว้างและการยอมรับผู้อื่นเป็นคุณสมบัติพื้นเดิมอัน สืบมาจากหลักการหรือคำสอนของพุทธศาสนานั้น
เองในโลกปัจจุบันนี้ อารยธรรมตะวันตกแผ่อิทธิพลไปเป็นโลกาภิวัตน์
จนมีสถานะเหมือนเป็นตัวแทนแห่งอารยธรรมของมนุษยชาติดังที่เมื่อพูดถึงความเจริญของโลกมนุษย์เวลานี้ก็หมายถึง
สภาพแห่งอารยธรรมแบบตะวันตกนั่นเอง และในอารยธรรมตะวันตกนั้นก็แน่นอนว่าตัวชูที่เชิดอารยธรรมนั้นขณะนี้ก็คือ
อารยธรรมอเมริกัน โดยมีภูมิหลังจากชนชาติทั้งหลายในยุโรปมีประวัติศาสตร์แห่งการกดขี่บีบคั้น
การห่ำหั่น บีฑา และสงครามกันอย่างกว้างขวางรุนแรงตลอดมา และศาสนาก็ได้เป็นองค์ประกอบใหญ่อยู่ในกระบวนการแห่งความขัดแย้งและสงครามนั้น
จนความขัดแย้งทางศาสนากับปัญหาการเมืองเป็นเรื่องปะปนมาด้วยกัน โดยเฉพาะการใช้อำนาจการเมืองเป็นเครื่องบังคับคนให้ถือลัทธินิกายศาสนาของตน
และกำจัดผู้คนที่ไม่นับถืออย่างตน การจำกัดกีดกั้น ข่มเหง บังคับ กำจัดกวาดล้างด้วยสาเหตุแห่งการนับถือศาสนา
หรือแม้แต่ตีความคำสอนในศาสนาต่างกัน มีบทบาทสำคัญยิ่ง ต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเสื่อมและเจริญของอารยธรรมตะวันตกพร้อมนั้น
ภูมิหลังข้อนี้เป็นสาเหตุให้ชนชาติอเมริกันผู้อพยพไปจากยุโรปมีความใฝ่
ฝันในสิ่งที่เรียกว่า freedom
คือ ความเป็นอิสรเสรี ซึ่งรวมทั้งเสรีภาพทางศาสนา (religious
freedom) และมุ่งหวังให้ประเทศอเมริกาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ (the
land of liberty) หรือดินแดนแห่งเสรีชน (the land of the
free; พอดีมาตรงกับคำแปลชื่อประเทศไทย) การรู้ความจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์แห่งการดิ้นรนสู่เสรีภาพนี้
เป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการเข้าใจชนชาติอเมริกัน ซึ่งหมายถึง ความเข้าใจอารยธรรมที่ครอบงำ
หรือนำโลกอยู่ในปัจจุบัน และมีความหมายอย่างยิ่ง ต่อการที่จะก้าวหน้าไปในการแก้ไขปัญหาของมนุษยชาติในด้านความขัดแย้งเบียดเบียนกันนั้น
การแก้ไขความขัดแย้งที่มีสาเหตุมาจากศาสนา
พระพรหมคุณาภรณ์
(ป.อ.ปยุตฺโต)[๑๖]
กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความต่างศาสนาและความต่างพวกว่า อาจพิจารณาจากแต่ละด้านไปบรรจบกัน
ดังนี้
การปฏิบัติให้ถูกต้อง
จุดที่สนใจกัน
มากว่าเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งสู้รบกัน ก็คือ ความขาดขันติธรรม (ขาด tolerance คือ intolerance) โดยเฉพาะชาวตะวันตกปัจจุบันจะมองเน้น ที่จุดนี้แต่ที่จริงควรจะสนใจและต้องแก้ไขที่จุดต้นตอที่เป็นสาเหตุของความขาดขันติธรรมนั้น
มิฉะนั้น การแก้ปัญหาจะทำได้เพียงแค่ให้ยอมรับและยึดถือกฎกติกาในการที่จะไม่รุกล้า
ละเมิดกันอย่างที่พยายามปฏิบัติกันอยู่ซึ่งไม่ได้ผลจริงและฝืนใจไม่ยั่งยืน
ตัวมูลเหตุต้นตอของความขาดขันติธรรมที่สำคัญ
คือ ทิฏฐิ ได้แก่ความเชื่อ ความยึดถือการมองความจริงไปตามที่ถูกสั่งสอน ซึ่งอาจจะมาจากข้อกำหนดในลัทธิศาสนาตัวอย่าง
เช่น ความยึดถือว่า คนที่ไม่นับถือเทพเจ้าของตนเป็นคนบาป หรือเป็นศัตรูของเทพเจ้า
ซึ่งจะต้องกำจัด ความเชื่อว่า การทำลายคนนอกศาสนาของตนเป็นความดีงาม
หรือเป็นการกระทำที่จะได้รับความโปรดปราน ตลอดจนเชื่อว่า เป็นหน้าที่ที่จะต้องไปกำจัดคนที่นับถือเชื่อถืออย่างนั้น
อย่างนี้ถ้าเชื่อหรือมีทิฏฐิอย่างข้างต้น นี้อยู่ความขาดขันติธรรมก็แก้ไม่ได้จริง การใช้กฎกติกา
อย่างเช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน (human rights) ก็แก้ปัญหาไม่ได้จริง
อย่างดีก็ต้องอาศัยการสะสมกำลังไว้ยับยังกัน ตามระบบ deterrence ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน แต่ถ้าปัญหาไม่มีเรื่องทิฏฐินี้ เป็นต้น
ตอแล้ว การขาดขันติธรรม (intolerance) ก็แก้ไขได้ไม่ยากนัก
เรามีสิทธิแม้แต่จะเชื่อว่าเขาเห็นผิด ว่าการที่เขานับถือหรือปฏิบัติอย่างนั้น
อย่างนี้เป็นบาป หรือแม้แต่เชื่อว่าการที่เขาไม่นับถือไม่ปฏิบัติอย่างเราเป็นบาป
แต่จุดสำคัญอยู่ที่ท่าทีและการปฏิบัติต่อเขาหมายความว่า เมื่อเชื่อว่า เขาเห็นผิด
มีบาปแล้วแทนที่จะคิดกำจัด ควรจะมีท่าทีสงสารอยากให้เขาเปลี่ยนมาเห็นถูก และปฏิบัติต่อเขาด้วยเมตตาโดยวิธีการแห่งปัญญา
คือ ชี้แจงแนะนำ พูดจาสนทนาด้วยเหตุผล ตลอดจนถกเถียงกัน ซึ่งเป็นการให้การศึกษาแก่เขา
และจะทำได้แค่ไหน ก็สุดแต่ความสามารถของเรา แต่ไม่มองเขาเป็นปฏิปักษ์และไม่ใช้กำลังบังคับ
หรือประหัตประหารกัน คือ มีท่าทีเป็นมิตร และใช้วิธีการแห่งปัญญาเรื่องนี้แยกสั้น
ๆ เป็น ๒ ขั้น ตอน
ขั้น
ที่ ๑ เชื่อว่า หรือถือว่า การที่เขานับถือหรือปฏิบัติอย่างนั้น เป็นการเห็นผิด
หรือเป็นบาป
ขั้น
ที่ ๒ ก) มีท่าทีเป็นมิตร สงสารอยากช่วยให้เขาพ้นจากบาปหรือจากความเห็นผิดนั้น
ข) ปฏิบัติการด้วยการแนะนำ สั่งสอน ให้ความรู้สนทนาถกเถียงด้วยวิธีการแห่งปัญญา
๒. การไม่เอาความต่างศาสนามาซ้ำเติมความต่างพวกในกรณีที่เกิดการขัดแย้งสู้รบเพราะความต่างพวก
เช่น เกิดจากปัญหาเชื้อชาติผิว เผ่าพันธุ์ เป็นต้น และแม้แต่การแยกพวกเพราะนับถือศาสนาต่างกันโดย
๑. พยายามกันไม่ให้ปัญหาความต่างศาสนาเข้าไปผสมซ้ำ เติมความขัดแย้งนั้น นอกจากไม่นา
เอาความต่างศาสนาเข้าไปเสริมเรื่องแล้วต้องไม่ให้มีโอกาสที่จะนำเอาคำสอนในศาสนาไปอ้าง
เพื่อหนุนการขัดแย้งหรือทำร้ายซึ่งกันและกัน
๒. ในทางตรงข้าม คำสอนในศาสนาควรจะถูกยกมาอ้างในทางที่จะช่วยแก้ไขผู้อื่นเบาความขัดแย้งและระงับปัญหา
การสร้างจิตสำนึกเพื่อสันติภาพ
เมื่อแยกความต่างศาสนาออกมาจากความต่างพวกได้ คือ ไม่ให้มีข้ออ้างหรือหลักการใด
ๆ ในศาสนาที่จะไปยืนยัน ส่งเสริมการขัดแย้งสู้รบและพยายามนำคำสอนในศาสนามาช่วยผ่อนเบาหรือระงับการพิพาทนั้นแล้ว
ปัญหาก็จะไม่ซับซ้อนเมื่อทำได้อย่างนี้ก็จะเหลืออยู่ แต่เพียงปัญหาการขัดแย้งสู้รบกัน
เพราะความต่างพวกอย่างเดียวเมื่อถึงขั้นนี้ จะเป็นปัญหาในระดับสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ทีเดียว
ซึ่งการแก้ไขระยะยาวและแท้จริงจะต้องอาศัยการศึกษาหรือการพัฒนามนุษย์ที่ถูกต้อง
การอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่นั้น
ถือว่าเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ในฐานะที่เป็นสัตว์สังคมและเป็นความจำเป็นในการที่จะอยู่รอดและอยู่ด้วยดี
ในภาวะเช่นนี้ความรักหมู่รักพวกย่อมมีคุณประโยชน์มากโดยช่วยให้เกิดความสามัคคีมีพลัง
ช่วยกันทำ การสร้างสรรค์ได้สำเร็จ และแต่ละคนก็มีแรงจูงใจที่จะทำการสร้างสรรค์ เพื่อความเจริญงอกงามแห่งชุมชน
สังคม หมู่เหล่าตลอดจนองค์กร เป็นต้น ที่ตนมีส่วนร่วมอยู่นั่น ในกรณีนี้ศาสนาก็มีบทบาทช่วยส่งเสริมให้คนในกลุ่ม
ในหมู่ในชุมชน หรือในสังคมนั้น มีความสามัคคีรักกัน ช่วยเหลืออยู่ร่วมกันด้วยสันติสุข
แต่ปัญหาเกิดขึ้นว่า เมื่อมนุษย์มารวมหมู่ รวมพวกกันแล้ว แต่ละกลุ่มแต่ละหมู่ก็เลยกลายเป็นคนละกลุ่มคนละหมู่
แยกต่างหากจากกัน กลายเป็นต่างพวกต่างหมู่ แล้วก็มีความโน้มเอียงที่จะตั้งท่าทีแบบแบ่งแยก
ระแวง เป็นปฏิปักษ์ ซึ่งนำไปสู่การขัดแย้งแย่งชิงต่อสู้กัน ก็เลยกลายเป็นว่า
มนุษย์รวมตัวเข้ามาเป็นกลุ่มพวกของตน เพื่อแยกจากกลุ่มอื่นพวกอื่น พูดสั้น ๆ ว่า
รวมเพื่อแยกการรวมตัวตลอดจนสามัคคีเช่นนี้จึงนำผลดีมาด้านหนึ่งพร้อมกับก่อให้เกิดผลเสียอีกด้านหนึ่งนับว่า
เป็นการพัฒนาของมนุษย์ขึ้นมาขั้น หนึ่งแต่ยังเป็นการพัฒนาเพียงในขั้นต้น
แท้จริงนั้น
มนุษย์ก็คือ มนุษย์ด้วยกันทั่วทั้งโลก มนุษย์ยังจะต้องเป็นส่วนร่วมของชุมชนมนุษย์ทั่ว
ทั้งโลกนี้ (world
community) ที่จริง โดยธรรมชาติมนุษย์ทุกคนเป็นสมาชิกหรือองค์ประกอบหนึ่ง
ๆ ของชุมชนแห่งโลกมนุษย์น้อยแล้ว แต่มนุษย์จะต้องทำให้ความเป็นสมาชิกของตนนี้มีผลจริงในทางปฏิบัติด้วยการติดต่อสื่อสารสัมพันธ์ถึงกันจริง
ๆ ทั่วถึงกัน หมดภาวะนี้ เท่ากับเป็นจุดหมายในเชิงสังคมของการพัฒนามนุษย์
การพัฒนามนุษย์นั้น
จะถือว่าสำเร็จผลเมื่อบรรลุจุดหมายในการสร้างชุมชนแห่งโลกมนุษย์
ที่ทุกคนเป็นส่วนร่วมในโลกที่มีสันติสุข และศาสนาที่แท้ก็ควรมีบทบาทช่วยหนุนนำมนุษย์ก้าวไปสู่จุดหมายนี้เริ่มตั้งแต่ให้มนุษย์มองการรวมตัวเป็นกลุ่ม
ในความหมายและด้วยท่าทีใหม่ คือ ให้มองการรวมตัวเป็นกลุ่มของมนุษย์ แต่ละกลุ่ม
ไม่ใช่เป็นการแยกเป็นต่างกลุ่ม แต่เป็นขั้นตอนของการที่จะมารวมกัน
ในขอบเขตและขนาดที่ขยายกว้างใหญ่ยิ่งขึ้นไป ๆ ตามลำดับจนถึงเอกภาพระดับโลกในที่สุดเพื่อให้บรรลุผลที่ดีงามนี้จะต้องละเลิกท่าทีการมองและการชี้นำสั่งสอนกัน
ในลักษณะที่เป็นการย้ำให้ยึดถือพวกตน โดยแยกจากพวกอื่นต้องยอมรับความจริงว่า
ปฏิบัติการเชิงแบ่งแยกเช่นนี้ ยังมีมากมายเด่นชัดในโลก คือ มีการบอกกล่าวแนะนำสั่งสอนกระตุ้น
เร้าตอกย้ำให้ยึดถือในกลุ่มพวกของตนให้เหนียวแน่น และรุนแรงยิ่งขึ้นและมักจะมาพร้อมกับการวางท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มอื่นพวกอื่นเราได้เห็นกันชัด
ๆ ว่า บางทีศาสนาก็ถูกนำมาอ้างหรือใช้ประโยชน์ เพื่อสนองจุดหมายที่ย้อนกระแสการพัฒนามนุษย์อย่างนี้
ทั้งหมดนี้
คือ จุดของการแก้ปัญหาที่แท้จริง ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์การพัฒนามนุษย์ด้วยว่า เมื่อโลกทางด้านสิ่งแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติ
ทางเทคโนโลยีและทางระบบจัดการสังคมขยายความสัมพันธ์ถึงกันเป็นอัน เดียวทั่วโลก อย่างที่เรียกว่า
เป็นโลกาภิวัตน์เป็นภาวะไร้พรมแดนแล้ว มนุษย์จะพัฒนาจิตใจให้กว้างขวาง มีเมตตาไมตรีที่เชื่อมสัมพันธ์ให้รวมเป็นชุมชนมนุษยชาติอันหนึ่งอันเดียวกัน
โดยมีปัญญาที่มองเห็นความจริงอย่างเป็นอิสระไร้พรมแดนได้หรือไม่การแก้ปัญหาความขัดแย้งแบ่งแยกของมนุษย์จะต้องก้าวมาถึงขั้นนี้
การพัฒนาภาวะจิตใจให้เกิดสันติภาพ
ความสำเร็จของการแก้ปัญหาอยู่ที่ความสำเร็จในการพัฒนามนุษย์
การศึกษาถูกต้อง เป็นสิกขาจริง มนุษย์ยิ่งพัฒนาไป ก็ยิ่งหลุดพ้นจากความคับแคบที่เกิดจากความยึดถือตัวตนของตนที่ทา
ให้แยกตัวออกจากกัน ความต่างพวกก็จะไม่มี และเมื่อการยึดถือความต่างพวกไม่มีปัญหาความขัดแย้งแบ่งพวกก็หมดไป
มนุษย์ยังพัฒนาก็ยิ่งขยายความรู้สึกนึกคิด ขยายจิตใจขยายปัญญากว้างขวางพ้นความคับแคบแบ่งแยก
สู่ความเป็นกลางที่ประสานกับความจริงของสัจธรรมในธรรมชาติยิ่งขึ้น พฤติกรรมของเขาก็จะประสานกลมกลืนยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้ เมื่อมนุษย์พัฒนามากขึ้น เขาก็จะหลุดพ้นจากความยึดถือคับแคบ
ขยายจิตปัญญาและพฤติกรรมให้กว้างขวางออกไป โดยพ้นจากสภาพจิตคับแคบยึดถือที่เรียกว่า
มัจฉริยะ คือ ความใจแคบหวงแหนกีดกัน ๕ ประการ ไปทีละน้อย จนหมดสิ้น มัจฉริยะ ๕
ประการนี้ จะเป็นตัวตัดสินการพัฒนามนุษย์และการแก้ปัญหาความขัดแย้งแบ่งแยกในหมู่มนุษย์ว่า
จะสำเร็จหรือไม่มัจฉริยะ ๕ ที่ใช้เป็นเกณฑ์วัดการพัฒนามนุษย์มี ดังนี้
๑.
ความหวงกั้นถิ่นอาศัย คือ หวงแหนกีดกั้นกัน ในเรื่องที่อยู่อาศัยประเทศท้องถิ่น
ดินแดน (อาวาสมัจฉริยะ)
๒.
ความหวงกั้นกลุ่มพวก คือ หวงแหนกีดกั้นกัน ในเรื่องพรรคพวก พงศ์เผ่า เหล่ากอ
ชาติพันธุ์การแบ่งแยกพวกหมู่ เป็นกลุ่มผิว กลุ่มเผ่า กลุ่มลัทธิศาสนาต่าง ๆ (กุลมัจฉริยะ)
๓.
ความหวงกั้นลาภผล คือ หวงแหนกีดกั้นกัน ในเรื่องลาภทรัพย์สมบัติและผลประโยชน์ (ลาภมัจฉริยะ)
๔.
ความหวงกั้นชั้นวรรณะ คือ หวงแหนกีดกั้นกัน ในเรื่องวรรณะผิวพรรณ และการแบ่งชนชั้น
ต่าง ๆ (วรรณมัจฉริยะ)
๕.
ความหวงกั้นภูมิธรรมภูมิปัญญา คือ หวงแหนกีดกั้นกัน ในเรื่องของวิทยาการความรู้คุณพิเศษ
วุฒิความดีงาม ความก้าวหน้าในทางภูมิธรรมภูมิปัญญาและความสำเร็จในการสร้างสรรค์ (ธรรมมัจฉริยะ)
การศึกษาที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นการศึกษาที่แท้จริงจะทำให้มนุษย์พัฒนาคุณลักษณะในด้านความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์โดยมีมัจฉริยะเหล่านี้ลดน้อยลง
ๆ จนหมดไปในที่สุดแล้วเมื่อนั้น การพัฒนามนุษย์ก็จะประสานสอดคล้องทันกับการพัฒนาของโลกแห่งสิ่งแวดล้อม
คือ มนุษย์ที่มีจิตปัญญากว้างขวางไร้พรมแดน อยู่ในโลกที่กว้างไกลไร้พรมแดนมิใช่ย้อนทางกันอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่า
โลกยิ่งถึงทั่วกันได้ไร้พรมแดน แต่ใจคนยิ่ง คับแคบแบ่งแยกแตกพวกกันกำจัดมัจฉริยะ ๕
ได้โลกก็จะปลอดภัยจากการกีดกัน ทำลายกันระหว่างหมู่ระหว่างพวกอย่างแน่นอน การแก้ปัญหาที่แท้จริง
ที่จะสำเร็จผลแน่นอน คือ การพัฒนามนุษย์ให้มีคุณสมบัติที่จะทำ ให้สังคมอยู่ใน ภาวะไร้ปัญหาหรือไม่เป็นผู้ก่อปัญหา
ไม่ใช่รอไปแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นการไม่ยอมรับความจริง
การพัฒนามนุษย์ให้หมดมัจฉริยะ คือ การสร้างภาวะไร้ปัญหาที่จะทำให้ปัญหาการขัดแย้งแบ่งแยกไม่เกิดมีขึ้นมาที่จะต้องไปพยายามแก้ไข
ทางแก้ไขมีชัดเจนอยู่อย่างนี้แล้ว แต่ปัญหากลับมาอยู่ที่ว่ามนุษย์พร้อมที่จะปฏิบัติหรือถ้าทำสวนทางกับหลักการ
มนุษย์ต้องการแบ่งแยกขัดแย้งและทำลายกัน ต่อไป
ท่าทีที่ถูกต้องต่อสันติภาพทางศาสนา
พระพรหมคุณาภรณ์
(ป.อ.ปยุตฺโต)[๑๗]
ได้กล่าวถึงการวางท่าทีที่ถูกต้องต่อศาสนาว่า ทัศนะของคนในศาสนาหนึ่งที่มีต่อคนศาสนาอื่น
หรือความต่างศาสนา ไม่ควรเป็นสาเหตุให้เกิดการเบียดเบียนทำร้ายกัน คือ ไม่ควรก่อปัญหาแก่สันติภาพ
แต่ควรทำให้คนอยู่ร่วมกันด้วยเมตตาและมีปัญญาที่รู้สิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง ท่าทีที่คนควรมีต่อทุกศาสนาปรากฏอยู่ในกาลามสูตร
แสดงให้เห็นถึงการเปิดโอกาสแก่เสรีภาพทางความคิดอย่างเต็มที่ เพื่อเข้าถึงความจริงด้วยวิธีการแห่งปัญญาความในกาลามสูตร[๑๘]
นั้น ดังนี้
สมัยหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จถึงเกสปุตตนิคม ถิ่นของชาวกาลามะ ชนวรรณะกษัตริย์พวกหนึ่ง
พวกกาลามะชาวเกสปุตตนิคมนั้น ได้ทราบ จึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากราบทูลว่าสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง
มาถึงเกสปุตตนิคมนี้พูดเชิดชูแต่หลักคำสอนของตนพร้อมกับพูดข่มขี่ดูถูกหลักคำสอนของพวกอื่น
ครั้นสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมาถึงเกสปุตตนิคม ก็พูดอย่างเดียวกัน นั้น พวกข้าพเจ้าจึงมีความสงสัยคลางแคลงใจว่า
ในบรรดาสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านี้ใครพูดจริง ใครพูดเท็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
เป็นการสมควรแล้วที่ท่านทั้งหลายจะสงสัยจะแคลงใจความสงสัยของท่านทั้งหลายเกิดขึ้นในเหตุที่ควรสงสัย
นี่แน่ะ ท่านผู้เป็นชาวกาลามะทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย อย่าปลงใจเชื่อโดยการฟังตามกันมา
อย่าปลงใจเชื่อโดยการถือสืบ ๆ กันมา อย่าปลงใจเชื่อโดยการเล่าลือ อย่าปลงใจเชื่อโดยการอ้างตำรา
อย่าปลงใจเชื่อโดยตรรก อย่าปลงใจเชื่อโดยการอนุมาน อย่าปลงใจเชื่อโดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากัน ได้กับ ทฤษฎีของตน อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะท่าทางน่าเชื่อและอย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา
เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เกื้อกูลใครยึดถือปฏิบัติแล้วจะเป็นไปเพื่อความเสียหาย
เพื่อความทุกข์เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายพึงละเสีย เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนว่า
สิ่งเหล่านี้เป็นของเกื้อกูลใครยึดถือปฏิบัติแล้วจะเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขเมื่อนั้น
ท่านทั้งหลายพึงถือปฏิบัติให้ถึงพร้อม
พลังของศาสนาช่วยสร้างสันติภาพ
หรือทำลายสันติภาพ
เมื่อกล่าวโดยหลักการแล้ว
พลังของศาสนา “ควรและต้อง” เข้ามากระชับการทำหน้าที่ดังเช่นที่เคยเป็นปรัชญาและปณิธานสำคัญของการก่อตั้งศาสนาขึ้นมาเป็นที่พึ่งพาของชาวโลก
โดยทำหน้าที่หลักใน ๒ ประการ คือ
๑.
ในขณะที่ “การเมือง” ทำให้หมู่คนหวาดกลัว
และหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ศาสนาควรเข้ามาทำหน้าที่ที่จะทำให้มนุษยชาติ และชาวไทยหายหวาดกลัว
หวาดระแวงซึ่งกันและกัน
และประเด็นสำคัญก็คือ
การสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการนำหลักการสำคัญของแต่ละศาสนามาปฏิบัติเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิต
และทรัพย์สินทั้งในเชิงปัจเจก และสังคม
๒.
เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า “การเกิดขึ้นของศาสนาเป็นไปเพื่อการอยู่รวมกันอย่างร่มเย็น
และเป็นสันติสุขแก่ชาวโลก”เราควรดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่ศาสนาได้กลับมาทำหน้าที่อย่าง
“หนักแน่น และเต็มศักยภาพ” และสร้างสังคมให้เกิดการตื่นรู้มากยิ่งขึ้นทั้งในมิติของแนวคิด
และแนวปฏิบัติที่สอดรับกับวิถีความเปลี่ยนของสังคมโลก
ศาสนาช่วยโลกให้เกิดสันติภาพ
อย่างไรก็ดี
ในขณะที่ศาสนากำลังเผชิญหน้ากับ “กระแสของวัตถุนิยมและบริโภคนิยม”
ที่กำลังแพร่หลายอยู่ในสังคมโลกและสังคมไทยในขณะนี้
ได้ทำให้สังคมภาคส่วนต่างๆ ได้ตั้งคำถามที่แหลมคมต่อศาสนาเช่นเดียวกันว่า
๑.
ศาสนาจะเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมนำเสนอทางรอด
และร่วมแก้ปัญหาให้มวลมนุษยชาติได้อย่างไร จึงจะทำให้มนุษยชาติไม่ตกอยู่ในห้วงเหว
และหลุมพรางของวัตถุนิยมและบริโภคนิยม
จนนำไปสู่ความสามารถที่จะรู้เท่าทันโดยไม่ตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้
และเสพสิ่งเหล่านี้ในฐานะเป็น “สิ่งจำเป็นต่อการดำรงเผ่าพันธุ์”
และ “สร้างสรรค์คุณประโยชน์ให้แก่ตัวเองและสังคมโลก”
๒.
ศาสนาอาจจะกลายเป็นส่วนของปัญหาหรือไม่ อันเนื่องจากการที่ศาสนาในแง่ศาสนาบุคคลในรูปขององค์กรศาสนาเองไม่ได้ตระหนักรู้
หรือรู้เท่าทันต่อกระแสของโลกาภิวัตน์ จึงไม่สามารถปรับตัวให้สอดรับกับกระแสของการเปลี่ยนของสังคม
และทำอย่างไร ศาสนาจึงจะไม่กลายเป็นภาระ หรือส่วนเกินของสังคมในโอกาสต่อไป
๓.
ศาสนาผ่ายแพ้ต่อลัทธิบริโภคนิยม หรือวัตถุนิยมจริงหรือไม่ ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ “ร่องรอยของความพ่ายแพ้” คือ การร่วมสนับสนุนแนวคิดและส่งเสริมอุดมการณ์ดังกล่าวทั้งทางตรงและทางอ้อม
ซึ่งอาจจะเป็นไปในรูปของการนำเสนอหลักการและแนวทางผ่านกิจกรรมต่างๆ
ที่จับต้องได้และไม่ได้ โดยมุ่งเน้น “ปริมาณ” มากกว่า “คุณค่าแท้”
ที่จะเกิดขึ้นแก่ปัจเจกชน และสังคมโดยรวม
คุณค่าของศาสนาในยุคปัจจุบัน
๑. แบ่งปันความรัก คำถามที่สำคัญ คือ “เพราะเหตุใด มนุษย์จึงต้องรักผู้อื่น สัตว์อื่น และสิ่งอื่น” เหตุผลเนื่องมาจาก “การที่มนุษย์ไม่สามารถอยู่คนเดียวในโลกใบนี้ได้”
มนุษย์ สัตว์ทุกชนิด และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมีความจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยและกัน
ช่วยเหลือกัน เพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์
และเป็นเครื่องมือสำคัญในการหล่อเลี้ยงวิถีชีวิต
ดำเนินชีวิตเพื่อให้สิ่งเหล่านี้รอดเพื่อพัฒนา “คุณค่าอื่นๆ”
ต่อไป ด้วยเหตุผลเช่นนี้ การอยู่รอดของคนอื่น สัตว์อื่นหรือสิ่งอื่นๆ
จึงส่งผลในเชิงบวกต่อการอยู่รอดของเราเช่นเดียวกัน ฉะนั้น
การเปิดพื้นที่ให้แก่คนอื่น หรือสิ่งอื่นๆ โดยการแบ่งปันความรัก
ความปรารถนาดีต่อกัน จึงเป็น “ความจำเป็น” ที่ “มนุษย์” จะต้องมีและแสดงออกต่อกันและกัน
๒. แบ่งปันผลประโยชน์และความต้องการ
การดำรงอยู่ของมนุษยชาติที่ต้องสัมพันธ์กับวิถีโลกมีความสัมพันธ์กับปัจจัย ๔
และโลกธรรมอย่างแยกไม่ออก
เนื่องจากมนุษย์มีความจำเป็นในการของการดำรงชีวิตเพื่อความอยู่รอด ด้วยเหตุนี้
ในขณะที่ทรัพยากรมีจำกัด แต่ความต้องการของมนุษย์มีไม่จำกัดนั้น
การแบ่งปันทรัพยากรเพื่อให้ฝ่ายต่างๆ
เกิดความพึงพอใจสูงสุดจึงมีความจำเป็นที่ใส่ใจ โดยใช้กฎกติกามาเป็นเครื่องมือในการดำเนินการ
นอกจากนั้น การแบ่งปัน “โลกธรรม” ให้สอดรับกับความต้องการของคน
หรือกลุ่มคนย่อมมีความสำคัญเช่นเดียวกัน
คำถามคือ “เราจะแบ่งปันความต้องการด้านทรัพยากรให้สอดรับกับความต้องการด้านโลกธรรมได้อย่างไร”
จึงจะทำให้กลุ่มต่างๆ
ที่มีความหลากหลายในสังคมเกิดความพึงพอใจสูงสุดตามข้อเสนอและข้อเรียกร้อง
ประเด็นนี้ รัฐ ผู้นำหรือกลุ่มคนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะวางกรอบหรือกติกาอย่างไร
จึงจะใช้เป็นเกณฑ์เพื่อรองรับการตัดสินใจดังกล่าว
โดยไม่ทำให้แต่ละฝ่ายเกิดความรู้สึก และสงสัยในความเสมอภาค เป็นธรรมและเที่ยงธรรม
๓. แบ่งปันความสุข
ความสุขในบริบทนี้ ครอบคลุมถึงความสุขทั้งในระดับปัจเจก ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ
และสังคมโลก เป็นทั้งความสุขที่ต้องพึ่งพาสิ่งเร้า หรือสิ่งภายนอก และไม่ต้องพึ่งพา
ในขณะเดียวกัน ความสุขในครอบครัว ย่อมมีความแตกต่างจากความสุขในระดับสังคม
ประเทศชาติ และสังคมโลก
เราจะนิยามความสุขในระดับต่างๆ เหล่านี้อย่างไร เพราะการนิยามจะมีผลต่อการออกแบบกิจกรรม
หรือการดำเนินการในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้สอดรับกับแบ่งปันทรัพยากรเพื่อให้สอดรับกับสิ่งที่เพื่อนมนุษย์ปรารถนาที่จะมีและเป็น ย่างไรก็ดี เนื่องจากกลุ่มต่างๆ ล้วนต้องการ
และเพรียกหาความสุข ไม่ว่าจะเป็นสุขแท้ หรือเทียม
พึ่งพาสิ่งภายนอกหรือไม่ก็ตาม
สิ่งที่ต้องระมัดระวังและใส่ใจก็คือ การแสวงหาความสุขภายในนับเป็นเรื่องเชิงปัจเจก
แต่เราจะแสวงหาความสุขภายนอกอย่างไร จึงจะไม่ทำสุขที่เราแสวงหานั้น
ไปกระทบหรือกินพื้นที่ความสุขของคนอื่นๆ
จนกลายเป็นความขัดแย้งในเชิงลบและนำไปสู่ความรุนแรงต่อไป
๔. แบ่งปันถ้อยคำดีๆ
และมีคุณค่า จะเห็นว่า ถ้อยคำดีๆ
และมีคุณค่านั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์ สัตว์ หรือสิ่งต่างๆ ในโลกนี้
ล้วนมีความต้องการและปรารถนาที่จะสัมผัสทางหู และภาษากายส่วนอื่นๆ และสิ่งเหล่านี้
หากมองในเชิงโลกธรรม นับได้ว่ามีผลอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิต
และการดำรงอยู่ของมนุษย์กลุ่มต่างๆ ในสังคม
การออกแบบถ้อยคำโดยผ่านกระบวนการคิดอย่างมีเหตุมีผล
ผ่านการปรุงแต่งทางอารมณ์ที่เน้นเรื่องความรู้สึกรัก
และใส่ใจกันและกันจึงนับเป็นความสำคัญ ฉะนั้น ถ้อยคำดีๆ
และมีคุณค่าจึงควรประกอบด้วยเกณฑ์ที่ว่า “จริง ไพเราะ
เหมาะกาล ประสานสามัคคี มีประโยชน์ และมีเมตตา” เกณฑ์นี้จะเป็นกรอบที่จะทำให้การเปล่งเวลาของแต่ละมีเป้าหมายและท่าทีที่เป็นบวกมากยิ่งขึ้น
๕.
แบ่งปันลมหายใจแห่งสันติภาพ
มนุษย์ทุกคนในโลกนี้อาจจะคิดว่า
เรากำลังหายใจเอาอากาศจากภายนอกเข้าไปเท่านั้น
กลุ่มคนจำนวนน้อยที่จะคิดว่า อากาศที่มีอยู่ทั่วไปนั้น ล้วนเคยเป็นอากาศที่เพื่อนมนุษย์ของเราเคยหายใจเข้าไปแล้วหายใจออกมาทั้งสิ้น
ประเด็นก็คือ “เรากำลังสูดดมลมหายใจของกันและกันอยู่ทุกวินาที” ฉะนั้น
เมื่อใดก็ตาม ในขณะที่เราหายใจเข้าไป ในขณะนั้น เราโกรธ เกลียด ปองร้าย
เกลียดชังเพื่อนของเรา หรือใครคนใดคนหนึ่ง เมื่อหายใจออกมา
เพื่อนรอบข้างของเราย่อมจักหายใจเอาลมหายใจแห่งความเกลียดชัง ความโกรธ
ความอิจฉาริษยา และอาฆาตมาดร้ายเข้าไปด้วย
แต่หากการหายใจของเราเป็นไปในเชิงบวก
การหายใจเข้าออกของเพื่อนมนุษย์ที่อยู่รอบข้างเราก็จะเป็นไปในเชิงบวกเช่นเดียวกัน
จะพบว่า
ปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่ “เนื้อแท้ หรือแก่นแท้” ของศาสนา เพราะหลักการของศาสนาทุกศาสนาล้วนมีนัยที่มุ่งเน้นให้มวลมนุษยชาติอยู่ร่วมกันอย่างสงบ
และสันติ อีกทั้งเป็นไปเพื่อการสนับสนุนและส่งเสริมแนวทางสันติภาพ สันติวิธี
ความสมานฉันท์ และความปรองดองของคนในชาติและสังคมโลก อย่างไรก็ดี
คำถามหลักที่เรามักจะสงสัยก็คือ “ศาสนบุคคล หรือองค์กรทางศาสนาต่างๆ
ในโลกนี้” ได้พยายามหรือสนับสนุน รวมไปถึงการพัฒนา
หรือยึดมั่นในหลักการและแก่นแท้ของศาสนาตัวเองมากน้อยเพียงใด ทำอย่างไร ศาสนบุคคลหรือองค์กรศาสนาต่างๆ
จะไม่พยายามที่จะ “บิด” หรือ “แปรรูป” หลักการทางศาสนาที่ทรงคุณค่าไปสู่การรับใช้อุดมการณ์
ผลประโยชน์ ความต้องการ และอำนาจของกลุ่มตน หรือองค์กรของตน
นอกจากนี้
ศาสนบุคคลหรือองค์กรทางศาสนาต่างๆ ได้พยายามมากน้อยเพียงใดที่จะชักนำ
และชักพาให้ศาสนิกที่เคารพ ศรัทธาและนับถือให้หลุดออกไปจากวงโคจรของวัตถุนิยม
หรือบริโภคนิยมที่กำลังถาโถม และพัดพาให้สังคมโลกกำลังประสบกับปัญหาและชาตากรรมที่ดังที่ประสบอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งเราจะนำ “ลัทธิบริโภคนิยม
หรือวัตถุนิยม” มารับใช้มนุษยชาติ เพื่อการรู้เท่าทัน
และพัฒนาตัวเองและสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้อย่างไร
หลักการสำคัญ คือ “เราจะหันหลังให้แก่
“การแย่งชิง” ไปสู่ “การแบ่งปัน” สิ่งดี ๆ ให้แก่กันแลกันได้อย่างไร
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราจะแบ่งปันความรักให้สอดรับกับความรู้ได้อย่างไร
เราจะแบ่งปันผลประโยชน์ และความต้องการด้านทรัพยากร
ให้สอดรับกับโลกธรรมที่มีอยู่และดำรงอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไร เราจะช่วยกันนิยามความสุขในระดับต่างๆ
ตั้งแต่ปัจเจก ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ
และสังคมโลกเพื่อจะได้ปฏิบัติต่อกันเพื่อให้สอดรับกับความสุขที่คนเหล่านั้นต้องการได้อย่างไร
เราจะแบ่งปันถ้อยคำที่มีคุณค่าและเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ดีที่มีต่อกันได้อย่างไร
และเราจะแบ่งปันลมหายใจแห่งสันติภาพ
เพื่อให้ลมหายใจของเราเป็นลมหายใจแห่งความรักแทนลมหายใจแห่งการเกลียดชังกันได้อย่างไร
ประเด็นคือ “การตอบคำถามเหล่านี้ไม่ใช่เพื่อความอยู่รอดของตัวเราเองเท่านั้น
หากแต่เป็นความอยู่รอดของสรรพสัตว์ทุกชนิดที่อาศัยอยู่ในโลกใบนี้”
หลักธรรมของศาสนากับสันติภาพ
มนุษย์วางท่าทีต่อศาสนาได้อย่างถูกต้องแล้วเท่านั้น
จึงจะสามารถนำหลักการของศาสนาไปใช้เพื่อสร้างสันติภาพ ได้พระมหานครินทร์ แก้วโชติรุ่ง[๑๙]
ได้สรุปแนวคิดของศาสนากับสันติภาพว่า ทุกศาสนาต่างก็มีจุดร่วมอย่างเดียวกัน คือ การพยายามเสนอคำตอบเชิงชี้แนะสำหรับมนุษย์และสังคม
โดยการสร้างสรรค์สันติภาพให้เกิดภายในจิตใจก่อน เพื่อเป็นพื้นฐานในการสร้างสรรค์สันติภาพภายนอกการที่แต่ละศาสนามีจำนวนศาสนิกเพิ่มจำนวนมากขึ้น
มิได้หมายความว่าสันติภาพจะเกิดแล้วในโลกใบนี้ สิ่งสำคัญยิ่งกว่า คือ การที่ศาสนิกของแต่ละศาสนาสามารถเข้าถึงหัวใจหรือแก่นแท้ของศาสนาที่ตนนับถือให้ได้เพื่อแปรสภาพจิตให้เกิดสันติภาพภายในตนแล้ว
สันติภาพภายในจิตใจนั้นจะเป็นพลังที่สำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนกระบวนการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ต่าง
ๆ และสร้างสรรค์สันติภาพภายนอกให้เกิดขึ้นในสังคมตลอดถึงการดำรงรักษาสันติภาพนั้น
ไว้ให้อยู่ยั่งยืนได้ต่อไป ตามหลักธรรมของศาสนาสำคัญ ดังนี้
ศาสนาพุทธกับสันติภาพ
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้รู้ เพราะมาจากคา ว่า “พุทธ”แปลว่า ผู้ตรัสรู้ และคำว่า “ศาสนา” แปลว่า คำสอน รวมกันแปลว่า คำสอนของท่านผู้รู้ความจริง[๒๐]
พุทธศาสนามีต้นกำเนิดในชมพูทวีปหรือประเทศอินเดียเช่นเดียวกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
พระบรมศาสดา คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลักธรรมคำสอนของพระองค์ถูกรวบรวมบันทึกไว้เป็นหมวดหมู่เรียกว่า
ปิฎก มี ๓ ปิฎก ได้แก่ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก รวมเรียกว่า
พระไตรปิฎกและผู้นับถือพระพุทธศาสนามี ๔ จำพวก คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกอุบาสิกา
รวมเรียกว่า พุทธบริษัท
สันติภาพในพระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น
๒ อย่าง ได้แก่ สันติภาพภายใน และภายนอก โดยสันติภาพภายใน หมายถึง การที่สภาวะจิตได้บรรลุพระนิพพาน
ซึ่งเป็นสันติภาพที่แท้จริงและสูงสุดในพระพุทธศาสนา ซึ่งเกิดขึ้นจากการฝึกฝนอบรมพัฒนาตนตามหลักไตรสิกขาและสันติภาพภายนอก
หมายถึงความอยู่ดีมีสุขของประชาชนหรือของสังคมหรือของโลกทั้งหมด ซึ่งเป็นภาวะที่ทุกคนมองเห็นรับรู้ได้และเป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการที่สังคมมีความสงบเรียบร้อยไม่มีการรบราฆ่าฟัน
ไม่มีสงคราม อยู่กันโดยไม่เบียดเบียน[๒๑]
สาเหตุที่ทำให้โลกไร้ซึ่งสันติภาพก็เพราะกิเลส
๓ ประการ ได้แก่ ตัณหา คือ ความอยากได้ ในผลประโยชน์ มานะ คือ ความต้องการยิ่งใหญ่
และทิฐิ คือ ความเชื่อความเห็น ความยึดถือ ในแนวความคิด ลัทธินิยม อุดมการณ์ศาสนา
ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญ ที่อยู่ในใจของมนุษย์ที่ทำให้มนุษย์ออกไปแสดงบทบาทต่าง ๆ
มากมายในโลกและเป็นสาเหตุที่ลิดรอนหรือทำให้โลกขาดสันติภาพ เพราะฉะนั้น
การที่มนุษย์จะบรรลุถึงสันติภาพทั้งภายในและภายนอกดังกล่าว จึงต้องปฏิบัติตามหลัก “ไตรสิกขา” ซึ่งเป็นกระบวนการวิธีในการพัฒนามนุษย์ให้หลุดพ้นจากอำนาจของตัณหา
มานะ ทิฐินั้น ไตรสิกขานี้ ได้แก่ การฝึกฝนพัฒนาคนในด้านพฤติกรรมภายนอกทางกายวาจาเรียกว่า
ศีลการฝึกฝนพัฒนาคนในด้านจิตใจ เรียกว่า สมาธิและการฝึกฝนพัฒนาคนในเรื่องของความรู้ความเข้าใจให้เข้าถึงความจริง
เรียกว่า ปัญญา
นอกจากนี้
หลักธรรมคำสอนอีกประการหนึ่งที่สำคัญในพระพุทธศาสนา คือ เมตตาธรรม ซึ่งมนุษย์ แต่ละบุคคลสามารถนำไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ได้โดยไม่จำกัดว่า บุคคลนั้นจะเป็นพุทธศาสนิกชนหรือไม่ก็ตาม
เพื่อให้สันติภาพภายนอก คือ สังคมมีความสงบเรียบร้อยไม่มีการรบราฆ่าฟัน
ไม่มีสงคราม อยู่กันโดยไม่เบียดเบียนเกิดขึ้นในโลกเมตตาธรรมนี้ พระธรรมปิฎก
(ป.อ.ปยุตฺโต)[๒๒]
อธิบายความหมายไว้ว่า เมตตามีความหมายในเชิงบวก คือ ความรัก ความปรารถนาดีอยากให้ผู้อื่นประสบประโยชน์สุขหรืออยากทำประโยชน์สุขแก่เขา” และการที่เมตตาธรรมเป็นหลักธรรมคำสอนที่สำคัญประการหนึ่งในพระพุทธศาสนานี้
ท่านได้อธิบายเหตุผลไว้ว่า
เมตตาเป็นคุณธรรมที่เปิดจิตให้กว้างขวาง
พ้นความเห็นแก่ตัว และขยายความรู้สึกที่ดีงามออกไปทั่ว โลกแผ่ออกไปถึงสรรพสัตว์เมื่อจิตพ้นจากความยึดติดในตัวตนและสิ่งที่จะเอาเป็นของตน
ก็พร้อมที่จะรองรับและเปิดโอกาสให้คุณธรรมอื่น ๆ เจริญงอกงามขึ้นได้ คือ พร้อมที่จะปฏิบัติคุณธรรมข้ออื่น
ๆ ได้อย่างจริงใจและเต็มที่สำหรับวิธีการสร้างเมตตาธรรมให้เกิดขึ้นในจิตใจนั้น
พระพุทธศาสนา[๒๓]
สอนให้นำชีวิตของตนเองไปเปรียบเทียบกับชีวิตของบุคคลหรือสัตว์อื่น ๆ ว่า บุคคลตั้งใจค้น
หาทั่ว ทุกทิศก็ไม่พบใครที่ไหน ซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนเลย สัตว์เหล่าอื่นก็รักตนมากเช่นนั้นเหมือนกันเพราะฉะนั้น
ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น หรือ สัตว์ทุกประเภท ย่อมสะดุ้งกลัวโทษทัณฑ์สัตว์ทุกประเภท
ย่อมรักชีวิต
บุคคลนำตนเข้าไปเปรียบเทียบแล้ว
ไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรใช้ให้คนอื่นฆ่ากล่าวคือ เมื่อเรารักตัวเองคนอื่นก็รักตัวเขา
เราไม่ปรารถนาให้ใครทำ อย่างไรกับเราคนอื่นก็ไม่ปรารถนาให้เราทำ อย่างนั้นกับเขา
เราปรารถนาให้คนอื่นทำดีกับเราอย่างไรคนอื่นก็ปรารถนาให้เราทา ดีกับเขาอย่างนั้น
การที่บุคคลแต่ละคนคิดถึงความจริงน้อยเสมอ ๆ จะทำให้การคิดพูดทำของบุคคลแต่ละคนเป็นไปในทางสร้างสรรค์ไม่เป็นการทำร้ายผู้อื่น
ไม่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น เนื่องจากจิตใจเต็มเปี่ยมด้วยความรู้สึกว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดทั้งมนุษย์และสัตว์ต่างก็รักชีวิตของตนเองและต่างก็รักสุขเกลียดทุกข์ทั้งนั้น
อีกทั้งยังเป็นเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกัน คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งทำให้ทุกชีวิตมีความสัมพันธ์กันแนบแน่น[๒๔]
ดังนั้น บุคคลที่มีเมตตาธรรมเกิดขึ้นในจิตใจจะไม่ประพฤติปฏิบัติตนหรือกระทำการใด ๆ
ก็ตามทั้งทางกายและวาจาที่อาจจะส่งผลทำให้บุคคลอื่นได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน
และความวุ่นวาย ตลอดถึงการก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ในสังคม
ปัจจุบัน สังคมโลกที่เต็มไปด้วยวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ทั้งทางสังคม
การเมือง เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ทำให้หลักธรรมคำสอนเรื่องเมตตา ยิ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้น
ในการนำไปใช้ป้องกันมิให้สังคมเกิดวิกฤตการณ์เพิ่มขึ้นและแก้ไขวิกฤตการณ์ต่าง ๆ
ที่เกิดขึ้นแล้ว โดยการที่มนุษย์ แต่ละบุคคลเมื่อจะดำเนินการกิจกรรมใด ๆ ด้านสังคม
การเมือง เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมย่อมจะระวังป้องกัน มิให้ความทุกข์ความเดือดร้อน
ความวุ่นวายต่าง ๆ อันเป็นผลจากการกระทำของตนเองเกิดขึ้นแก่บุคคลอื่นและสังคม ตรงกันข้ามกลับต้องการให้ประโยชน์และสันติภาพเกิดขึ้นแก่บุคคลอื่นและสังคม
เนื่องจากพื้นฐานจิตใจของมนุษย์ แต่ละบุคคลมีความรัก ความปรารถนาดีอยากให้ผู้อื่นประสบประโยชน์สุข
หรืออยากทา ประโยชน์สุขแก่เขานั่น เองด้วยเหตุนี้ สันติภาพภายนอกจึงเกิดขึ้นได้ด้วยเมตตาธรรม
ศาสนาคริสต์กับสันติภาพ
ศาสนาคริสต์มีคำ
อธิบายจำกัดความโดยย่อว่า “ศาสนาแห่งความรักของพระเจ้าศาสนาแห่งความรักของมนุษย์ พระยีซัสไคร้สต์
(เยซู) ทรงเป็นผู้นำ มาเผยแผ่แก่โลก” ดังนั้น ศาสนาคริสต์จึงได้ชื่อว่า
เป็นศาสนาแห่งความรักเนื่องจากมีคำสอนที่สำคัญนั่น คือ ความรักรักในพระเจ้ารักในครอบครัวและรักเพื่อนมนุษย์ทั้งมวลโดยไม่เลือกชนชั้นและเชื้อชาติ[๒๕]
ความรัก
ซึ่งเป็นหลักธรรมคำสอนที่สำคัญของศาสนาคริสต์ ได้แก่ ความรักที่ปนความเสียสละ
รักเพื่อให้ผู้อื่นได้ดี[๒๖]
เป็นความรักที่ตรงข้ามกับความรักแบบปนความใคร่หรือความรักเพื่อสนองความอยากของตนเอง
ความรักที่ปนความเสียสละหรือรักเพื่อให้ผู้อันได้ดีนี้ หากมีในมนุษย์ก็จะเป็นพลังผลักดัน
ที่สำคัญที่จะทำให้เกิดสันติภาพขึ้นในโลกได้เพราะมนุษย์จะไม่เบียดเบียนทำร้ายกันแต่จะช่วยเหลือเอื้อเฟื้อดูแลกัน
และกัน ปรารถนาให้บุคคลอื่นมีความสุขปราศจากความทุกข์มนุษย์ทุกคนสามารถให้อภัยกันและกัน
ได้และไม่มีการพยาบาบาทอาฆาตกัน ด้วยอำนาจแห่งความรักที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเสียสละดังนั้น
จึงไม่มีอะไรยิ่ง ใหญ่และสำคัญยิ่ง ไปกว่า ความรัก
หากเรามองสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันตามแนวคิดของคริสต์ศาสนา
เราจะเห็นได้ว่าการที่โลกเกิดวิกฤตการณ์ทางสังคม วิกฤตการณ์ทางการเมือง
วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น วิกฤตการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะภายในจิตใจของมนุษย์ปราศจากความรักบริสุทธิ์ที่จะพึงมีให้แก่กันและกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ระหว่างสังคมกับ
สังคม ระหว่างประเทศกับประเทศ หรือระหว่างศาสนากับศาสนาดังนั้น หลักธรรมคำสอนเรื่องความรักในศาสนาคริสต์จึงความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพื่อนำไปใช้แก้ไขวิกฤตการณ์ต่าง
ๆ อันจะนำสังคมโลกไปสู่สันติภาพได้ความรักดังกล่าวแบ่งออกเป็น ๒ ด้าน คือ ความรักต่อพระเจ้าและความรักต่อเพื่อนบ้าน
ความรักด้านแรก ได้แก่ การปรารถนาและร่วมมือให้พระเจ้าได้รับเกียรติมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีความรู้สึกมั่นใจในการดำรงชีวิต
มีความหวัง มีความหมาย มีคุณค่า งดงาม และมหัศจรรย์การดำเนินชีวิตก็จะเป็นไป เพื่อความเสียสละและการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ก็คือ
การเสียสละเพื่อพระเจ้า ความรักด้านที่สอง ได้แก่ ความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ซึ่งหมายถึง
การสละความสุขและผลประโยชน์ส่วนตัวมากเท่าที่ใจจะตัดได้เพื่อความดีของผู้อื่น
สามารถมอบให้กับคนทุกคนได้ไม่เลือกชนชั้นวรรณะไม่ว่า คนนั้น จะเป็นคนดีหรือคนชั่ว
หรือเป็นมิตรหรือศัตรูก็ตามการมีความรักให้กับทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน นี้หากมนุษย์เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างกัน
วิธีแก้ปัญหาของคริสต์ศาสนาก็คือ การเสนอวิธีการที่นุ่มนวลปราศจากการใช้ความรุนแรงใด
ๆ โต้ตอบกัน และกัน โดยใช้วิธีการเสียสละด้วยความรักที่บริสุทธิ์ใจพร้อมที่จะอภัยซึ่งกันและกัน
หากมีการยึดเอาความรักไปประพฤติปฏิบัติก็จะทำ ให้สังคมมีความสงบสุขหรือสันติภาพ
ศาสนาอิสลามกับสันติภาพ
ศาสนาอิสลามได้ชื่อว่า
เป็นศาสนาแห่งสันติภาพ เพราะคำว่า “อิสลาม” ซึ่งเป็นชื่อของศาสนานั้น เดิมเป็นภาษาอาหรับ คือ คำว่า “อัสละมะ” (Aslama) แปลว่า ยอมตาม ยอมจำนนยอมตน ซึ่งมาจากรากศัพท์ว่า
“ซะลิมะ” แปละว่า “สันติ” (peace) อิสลามจึงหมายถึง การยอมตน ยอมตาม ยอมจำนนต่อพระผู้เป็นเจ้าเพื่อให้ประสบสันติทั้งโลกนี้และโลกหน้า
ผู้นับถือศาสนาอิสลามเรียกว่า มุสลิม แปลว่า ผู้ใฝ่สันติ คำเรียกตนเองของผู้นับถือศาสนาอิสลามนั้น
เป็นเครื่องเตือนสติให้ดำเนินชีวิตตามแนวทางของพระผู้เป็นเจ้า ตลอดถึงการทักทาย
หรือการกล่าวสะลามของชาวมุสลิมว่า “อัสสะลา มุอะลัยกุม” แปลว่า “ขอให้สันติภาพของพระเจ้าจงอยู่กับท่าน” ก็เป็นการเตือนชาวมุสลิมให้นึกถึงพระเจ้าและสันติภาพตลอดเวลา
ในด้านหลักธรรมคำสอนนั้น ศาสนาอิลสามสอนใหมนุษย์ดำเนินชีวิตอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน
เชื่อฟังและปฏิบัติตามพระประสงค์ของอัลลอฮ์ เพราะมีจุดมุ่งหมายในการสร้างสันติภาพที่แท้จริงให้เกิดขึ้นทั้งภายในจิตใจและในสังคมทั่วไป
ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญทั้งปัจเจกบุคคลและสังคม ตรงตามความมุ่งหมายของอิสลาม[๒๗]
ดังนี้
๑. เพื่อนำมนุษยชาติไปสู่แนวทางแห่งความดีมีสันติสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
๒. เพื่อปรับปรุงและขัดเกลาอุปนิสัยของมนุษย์ให้ปราศจากความชั่วร้ายต่าง ๆ
มุ่งให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลธรรมอันดีมีหลักยึดมั่น ที่ถูกต้องด้วยเหตุผลและสามารถแก้ปัญหาความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม
๓. เพื่อนำให้มนุษยชาติมีหลักยึดมั่นที่มั่นคงไม่งมงายและเคารพสักการะต่อพระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น
๔. เพื่อให้มนุษยชาติมีความเป็นอยู่อย่างอิสระเสรีอย่างแท้จริง
๕. เพื่อส่งเสริมหลักมนุษยธรรม
ให้มีขึ้นในสังคมของมนุษยชาติฝึกจิตใจให้มีความเมตตากรุณาเอื้อเฟื้อเผื่อ แผ่ต่อกัน
ในสถานการณ์โลกปัจจุบันที่เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นในด้านต่าง
ๆ ทั้งทางสังคมการเมือง เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม สาเหตุหนึ่งมาจากมนุษย์ไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของศาสนาที่ตนนับถืออยู่อย่างจริงจัง
ดังนั้น จากหลักธรรมคำสอนของศาสนาอิสลามซึ่งให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามบัญญัติของศาสนาจนเป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิตหรือธรรมนูญแห่งชีวิตมนุษย์ทำให้ทราบว่า
แนวทางหนึ่งที่สามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ คือ
มนุษย์จะต้องให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามบัญญัติหรือหลักธรรมคำสอนของศาสนาที่ตนนับถืออย่างจริงจัง
สรุปได้ว่า ท่าทีที่มีต่อศาสนา คือ หัวใจในการนำศาสนามาเป็นเครื่องดำรงรักษาและสร้างเสริมสันติภาพ
แม้ถ้าศาสนาจะอ้างแหล่งกำเนิดว่า มาจากพระเจ้าหรือจากมนุษย์แต่ผู้นับถือทุกศาสนาก็คือ
มนุษย์ ดังนั้น ท่าทีของผู้นับถือศาสนาจึง คือ หัวใจของแต่ละศาสนาว่า จะตีความคำ
สอนไปในทิศทางใดความสำคัญประการที่สองจึงมาเชื่อมโยงกับคำสอนในศาสนาว่า มีคำสอนที่อาจเปิดช่องให้ตีความไปในทิศทางที่จะนำไปสู่ความรุนแรงหรือไม่
หากในหลักคำสอนเปิดโอกาสให้ตีความไปในการใช้ความรุนแรง แต่หากผู้นับถือไม่ตีความไปในทิศทางนั้น
คำสอนเช่นนั้นก็ไม่มีโอกาสถูกอ้าง เพื่อความถูกต้องในการใช้ความรุนแรง ในขณะเดียวกัน
เมื่อผู้นับถือไม่ตีความไปในทิศทางที่จะใช้ความรุนแรงแล้วก็ควรที่จะนำหลักคำสอนอัน
เอื้อต่อการสร้างสรรค์สันติภาพมาใช้ในชีวิตประจำวันและในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นทั้งในและนอกศาสนา
ซึ่งทุกศาสนามีหลักคำสอนชนิดนี้อยู่แล้ว
บรรณานุกรม
องฺ.ติก. ๒๐/๕๐๕.
พระมหาหรรษา
นิธิบุณยากร,รศ.ดร.. ศาสนากับการสร้างสันติภาพโลก.
https://www.gotoknow.org/posts/400751.
พุทธทาสภิกขุ. ชุมนุมเรื่องสั้น. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ:
สำนักพิมพ์สุขภาพใจ .๒๕๓๘.
. ชุมนุมปาฐกถาพุทธธรรม. พิมพ์ครั้งที่ ๒. สุราษฎร์ธานี: ธรรมทานมูลนิธิ, ๒๕๔๖.
. คนถึงธรรม-ธรรมถึงคน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, ๒๕๒๙.
. ถอยหลังเข้าคลองกันเถิด. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, ๒๕๓๑.
พระพรหมคุณาภรณ์
(ป.อ.ปยุตฺโต). ธรรมนูญชีวิต
ฉบับชาวบ้าน. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา ,
๒๕๔๘.
พระมหานครินทร์ แก้วโชติรุ่ง.
สันติภาพตามแนวคิดของท่านพุทธทาสภิกขุ: ความหมาย
และการประยุกต์ใช้ในโลกปัจจุบัน.
วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพุทธ
ศาสนศึกษา
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๘.
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน.
พิมพ์ครั้งที่ ๕.
กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๓๘.
สุชีพ ปุญญานุภาพ. ประวัติศาสตร์ศาสนา.
(กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์รวมสาส์น,
๒๕๐๖.
เสฐียร พันธรังษี. ศ. ศาสนาเปรียบเทียบ.
พิมพ์ครั้งที่ ๗. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๔.
[๑] พุทธทาสภิกขุ, ถอยหลังเข้าคลองกันเถิด. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, ๒๕๓๑. หน้า ๑-๒.
[๒] พุทธทาสภิกขุ, ๒๕๓๑. หน้า ๑๐๖-๑๐๗.
[๔] พุทธทาสภิกขุ, คนถึงธรรม-ธรรมถึงคน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, ๒๕๒๙. หน้า ๑๗๕-๑๗๖.
[๕] พุทธทาสภิกขุ, ชุมนุมปาฐกถาพุทธธรรม. พิมพ์ครั้งที่ ๒.
สุราษฎร์ธานี: ธรรมทานมูลนิธิ, ๒๕๔๖. หน้า ๑๘๙-๑๙๐.
[๗] พุทธทาสภิกขุ, ชุมนุมเรื่องสั้น. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ
.๒๕๓๘, หน้า ๔๔๙.
[๘] พุทธทาสภิกขุ, ๒๕๓๘, หน้า ๔๗๙.
[๙] พุทธทาสภิกขุ, ๒๕๓๘, หน้า ๔๗๙.
[๑๐] พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ ๕, (กรุงเทพฯ
: อักษรเจริญทัศน์), ๒๕๓๘.
[๑๑] เสฐียร พันธรังษี, ศ. ศาสนาเปรียบเทียบ.
พิมพ์ครั้งที่ ๗. (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,
๒๕๓๔), หน้า ๑๑.
[๑๒] อ้างแล้ว, ศาสนาเปรียบเทียบ. หน้า ๘.
[๑๓] สุชีพ ปุญญานุภาพ, ประวัติศาสตร์ศาสนา. (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์รวมสาส์น, ๒๕๐๖), หน้า ๕-๙.
[๑๕] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). ๒๕๔๘. หน้า ๒๘-๒๙,
๕๐-๕๑, ๖๐-๖๑.
[๑๖] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). ๒๕๔๘. หน้า ๒๐๙-๒๒๑.
[๑๗] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). ๒๕๔๘. หน้า ๗-๙.
[๑๘] องฺ.ติก. ๒๐/๕๐๕.
[๑๙] พระมหานครินทร์ แก้วโชติรุ่ง.
สันติภาพตามแนวคิดของท่านพุทธทาสภิกขุ: ความหมายและการประยุกต์ใช้ในโลกปัจจุบัน วิทยานิพนธ์
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา คณะศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๘. หน้า ๕๓-๖๒.
[๒๐] อ้างใน พระมหานครินทร์
แก้วโชติรุ่ง, ๒๕๔๘, หน้า ๕๓.
[๒๑] อ้างใน พระมหานครินทร์
แก้วโชติรุ่ง, ๒๕๔๘, หน้า ๕๓.
[๒๓] อ้างใน พระมหานครินทร์
แก้วโชติรุ่ง, ๒๕๔๘, หน้า ๕๔.
[๒๕] อ้างแล้วใน พระมหานครินทร์
แก้วโชติรุ่ง, ๒๕๔๘, หน้า ๕๖.
[๒๗] พระมหานครินทร์ แก้วโชติรุ่ง.
สันติภาพตามแนวคิดของท่านพุทธทาสภิกขุ: ความหมายและการประยุกต์ใช้ในโลกปัจจุบัน วิทยานิพนธ์
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา คณะศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๘. หน้า ๖๐.